การพัฒนาจิตเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน

เขียนโดย พระชุมพล พลปฺโ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓

ปัจจุบันนี้ บุคคลทุกเพศ ทุกชั้น ทุกวรรณะ ได้หันมาสนใจการประพฤติปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนไม่น้อย ผู้เขียนจึงเกิดมีกุศลจิต คิดจะบรรยายวิธีการปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม พ้นจากเขตของความเป็นปุถุชน เข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน เพื่อจะได้ช่วยเหลือพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในภาคปฏิบัติ ด้วยกำลังอันน้อยนิดเท่าที่มีอยู่

บุคคลผู้ที่จะพัฒนาจิตของตนให้เข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน จำเป็นจะต้องพัฒนาคุณธรรม ๕ ประการ ให้บังเกิดขึ้นมาในจิตของตนให้ได้คือ

๑. ศรัทธา จะต้องปลูกศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส อันมีประมาณยิ่ง ใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งคำว่า พระสงฆ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอริยบุคคล ๔ ประเภท คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ จะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ได้

ให้สาบานตนว่าจะยึด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ที่เคารพบูชาเหนือสิ่งอื่นใด ให้ถือตนว่าเป็นข้าทาสของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะไม่ล่วงละเมิดเด็ดขาด พยายามสวดมนต์กราบไหว้บูชาพระรัตนตรัยทุกวัน ไม่ได้มากก็เอาน้อย หรืออย่างน้อยในแต่ละวันก่อนนอนให้ท่อง นะโม ๓ จบ แล้วเปล่งวาจาว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธว่าเป็นสรณะ

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ

พยายามจัดหิ้งพระให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้รกรุงรังด้วยหยากไย่ ฝุ่นผง เพราะถือว่าหิ้งพระนี้เป็นที่สถิตของพระพุทธรูป อันเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า ซึ่งถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่พุทธบารมีของพระองค์ยังปกป้องคุ้มครองให้พุทธบริษัทมีความชุ่มเย็นอยู่ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะสัมผัสพระบารมีของพระองค์ได้ แต่จะสัมผัสได้มากหรือน้อยนั้น แล้วแต่ความเข้มข้นของการปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้นจึงจะเข้าใจได้ดีว่า พุทธบารมีของพระศาสดายังปกป้องคุ้มครองรักษาตนเช่นไร และพยายามหาดอกไม้มาประดับหิ้งพระอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้ทุกวันก็อาทิตย์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดปีละครั้งในวันวิสาขบูชาก็ยังดี

สำหรับพระโสดาบันนั้น จะมีความเห็นว่า “เมื่อพิจารณาโดยถี่ถ้วนด้วยปัญญาแล้ว เราจึงพบว่านอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ ที่จะมีสาระแก่นสารเลย” สำหรับท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงจำคำนี้ไปก่อน เมื่อใดที่ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุภูมิขั้นโสดาบันแล้ว ท่านจะซาบซึ้งในข้อความเหล่านี้เอง

๒. ทาน คือ การให้ คือ เราต้องปลูกฝังนิสัยในการเสียสละประโยชน์ของตนแก่ประโยชน์ของผู้อื่น ต้องทำให้เป็นนิสัยเป็นกิจวัตร ถ้าเป็นไปได้ควรให้ทานทุกวัน เช่น ใส่บาตรพระได้ทุกวันจะดีมาก สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใส่บาตรได้ทุกวัน ให้เจียดเงินเดือนทุกเดือน เดือนละเท่าไหร่แล้วแต่ความพอใจ แล้วตั้งใจว่าเงินจำนวนนี้เราจะไม่ใช้ จะเอาไว้ทำบุญ แล้วเก็บรวบรวมเอาไว้ เมื่อมีจำนวนมากพอ ก็เอาไปบำเพ็ญสาธารณกุศลอันใดก็ได้ตามที่เราพอใจ

อีกประการหนึ่งให้เจริญ จาคานุสสติ ทุกวัน คำว่า จาคานุสสติ แปลว่าการระลึกถึงการบริจาคของตนเป็นอารมณ์ วิธีปฏิบัติให้ท่องก่อนนอนทุกวันว่า “ในเมื่อประชาชนถูกความตระหนี่และมลทินครอบงำอยู่ การที่เราเป็นผู้มีใจปราศจากมลทินและความตระหนี่อยู่ เป็นผู้มีการเสียสละอย่างเด็ดขาด เป็นผู้มีมืออันสะอาด เป็นผู้ยินดีในการบริจาค เป็นผู้ควรในการขอ เป็นผู้ยินดีในทานและการแบ่งปันนั้น นับว่าเป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ”

จาคานุสสติ นี้มีอานิสงส์มาก ท่านผู้ใดที่ให้ทานเป็นประจำและเจริญจาคานุสสติทุกวัน จะเข้าสู่มรรคผลได้ง่ายมาก เพราะอารมณ์การละกิเลสทุกประเภท ก็คืออารมณ์ของการเสียสละนั่นเอง ฉะนั้นท่านผู้ปรารถนาการเข้าสู่มรรคผลทั้งหลาย จงอย่าทิ้งการให้ ทาน และการเจริญจาคานุสสติ

และการให้ทานทุกครั้ง เราควรจะจดบันทึกเอาไว้ จะมีประโยชน์มากว่า วันไหนได้ให้อะไร ควรมีสมุดไว้ ๑ เล่ม เอาไว้จดโดยเฉพาะ จะมีประโยชน์มาก เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ถ้าเราเอาสมุดเล่มนี้มาอ่าน จะทำให้เกิดความปีติ ร่าเริง เป็นส่วนช่วยในการเจริญจาคานุสสติด้วย

และวันใดที่เราเกิดมีทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจ ให้เอาสมุดเล่มนี้มาอ่าน จะเกิดความสุขสบายใจขึ้นมาทันที บางทียังไม่ได้อ่านข้างใน แค่เห็นหน้าปก ก็เกิดความสุขใจอย่างบอกไม่ถูกแล้ว ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ยังไม่เคยหัดในการให้ทาน จงอย่าดูถูกดูแคลนการให้ทาน เพราะความสุขเวลาที่เราให้นั้น เป็นความสุขที่ละเมียดละไมมากกว่าความสุขตอนเรารับมากนัก

ให้สังเกตดูว่าเวลาใดที่จิตเราคิดจะให้ ความสุขจะบังเกิดเต็มหัวใจทันที แต่เมื่อใดเราคิดอยากจะได้ จะเกิดความกระวนกระวายใจ สิ่งเหล่านี้สังเกตได้จากใจของตนเองก็จะรู้ดี

ท่านจึงกล่าวเอาไว้ว่า “จิตคิดจะให้สบายมากกว่าจิตคิดจะรับ” ฉะนั้นบางท่านที่ไม่เคยฝึกการให้ทาน บางทีจึงรู้สึกแปลกใจ ในคนบางคนที่ว่าทำไมเขาชอบทำบุญนัก อยู่ดีๆ เงินมีไม่ใช้เอง เอาไปให้คนอื่นเสีย ซึ่งถ้าหากท่านลองฝึกหัดการให้ทานให้เป็นนิสัย ท่านจะไม่แปลกใจเลย เพราะว่าการให้ทานนำความสุขใจตอบแทนคุ้มค่ากับสิ่งของที่เสียไปอย่างเหลือเกิน

ทีนี้ถ้าหากมีคำถามว่า การให้ทาน จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งของเท่านั้นหรือไม่

ขอตอบว่า ไม่จำเป็น เพราะจุดใหญ่ใจความของการให้ทานก็คือ การเสียสละประโยชน์ตน เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ผู้เขียนจะขอแบ่งทานประเภทต่างๆ ตามความรู้สึกของผู้เขียนไว้ดังนี้

๑) การให้สิ่งของ

๒) การให้แรงกาย คือ เอาแรงกายช่วยผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

๓) การให้การต้อนรับปฏิสันถาร คือ การให้การทักทายคนแปลกหน้าที่มาสู่สถานที่เรา ด้วยรอยยิ้มและคำอ่อนหวาน

๔) การให้ที่แอบแฝง คือ การช่วยกันรักษา ซ่อมแซมดูแลสิ่งของส่วนรวม สาธารณสมบัติ ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น เช่น สมมุติว่า โต๊ะตัวหนึ่งที่เป็นของส่วนรวม ถ้าหากไม่มีใครดูแลรักษาจะมีอายุแค่ ๓ ปี แต่ถ้าเราดูแลรักษาไว้ จะมีอายุถึง ๑๐ ปี ก็ชื่อว่าเราได้สร้างโต๊ะที่มีอายุการใช้งาน ๗ ปีขึ้นมาตัวหนึ่งนั่นเอง

๕) การให้ความรู้ คือ การแนะนำในสิ่งที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่เรารู้ ให้แก่เขา

๖) การให้อภัย คือ การไม่ถือโทษต่อความผิดที่ผู้อื่นทำแก่เรา

๗) การให้ธรรมเป็นทาน คือ การช่วยสอนธรรมะ หรือช่วยแจกหนังสือธรรมะ ชี้ทางสว่างให้แก่ผู้อื่นในทางธรรม และช่วยกันเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ ก็นับเป็นธรรมทานทั้งสิ้น ธรรมทานนี้ พระพุทธองค์ยกย่องที่สุดว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง คือ ได้บุญมากที่สุดกว่าทานทุกชนิดทุกประเภทนั่นเอง

สำหรับพระโสดาบันนั้น ความคิดต้องการบริจาค จะมีอยู่ตลอดเวลา ความตระหนี่ถี่เหนียวไม่มี มีแต่ความคิดที่จะบริจาค คิดแต่จะสร้างกุศล จิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างไม่มีประมาณ

ซึ่งในที่นี้ถ้าจะมีปัญหาถามว่า ถ้าอย่างนี้พอเป็นพระโสดาบันแล้ว มิต้องอดตายกันหรือ ก็ขอตอบว่า ในทางตรงกันข้าม เมื่อได้บรรลุคุณธรรมชั้นพระโสดาบันแล้ว กลับมีฐานะดีกว่าเก่า ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ถ้าเป็นพระ หลังจากได้โสดาบันแล้ว จะรู้สึกว่าลาภสักการะไหลมาเทมา ผิดกับเมื่อเป็นปุถุชน สำหรับฆราวาสก็จะรู้สึกว่า มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือ ทั้งที่เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว จะทำบุญหนักกว่าตอนเป็นปุถุชนก็ตาม แต่กลับมีเงินเหลือเก็บยิ่งกว่าตอนเป็นปุถุชน

คำเหล่านี้ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเชื่อ ขอให้ท่านจงพยายามพิสูจน์ด้วยการทำตนเป็นพระโสดาบัน แล้วจะรู้ได้เองว่าจริงหรือไม่ ท่านจะซาบซึ้งกับคำที่ว่า ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เอง โดยไม่ต้องฟังจากใคร จึงขอให้ท่านผู้ใคร่ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงพยายามบำเพ็ญทานและเจริญจาคานุสสติให้ดีเถิด ท่านจะได้รับผลอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

๓. ศีล คือการสำรวมทางกายและวาจา ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นและเบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตนเอง ผู้ที่จะเข้าสู่มรรคผลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป จะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ชนิดที่ว่ายอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่ว่าจะเป็นพระ เณร เถร ชี อะไรก็ตาม ก่อนที่เราจะไปภูมิใจสำคัญตนว่าเรามีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นั้น ขอให้สำรวจศีล ๕ ของตนก่อน แล้วจึงค่อยไปดูศีลในภูมิของตน เพราะศีล ๕ เป็นศีลพื้นฐาน ถ้าหากศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว ท่านจะไม่สามารถบรรลุคุณธรรมความดีเบื้องสูงกว่านี้ได้เลย

ฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมทุกท่านจะต้องสมาทานศีล ๕ ให้เคร่งครัด ให้บริสุทธิ์ ชนิดที่ว่ายอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ขอให้พยายามฝึกไป ใหม่ๆ อาจเผลอทำให้ขาดบ้างก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ พยายามรักษาไป ต่อไปจะเคยชินเป็นอัตโนมัติ

คือว่า เจตนาที่คิดจะล่วงศีลไม่มีเลย จนเป็นปกตินิสัย ทีนี้มีปัญหาที่ถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า สมมุติว่าเราเดินไปเหยียบมดตาย โดยไม่มีเจตนานี้ศีลจะขาดไหม ก็ขอตอบว่า การที่ศีลจะขาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าหากเราไม่มีเจตนาที่จะทำให้สัตว์ตาย บังเอิญไปทำให้มันตายโดยไม่ตั้งใจ ศีลก็ไม่ขาด ในที่นี้จะขอกล่าวศีลทั้ง ๕ ข้อขึ้นมาด้วยคือ

๑) ห้ามฆ่าสัตว์

๒) ห้ามถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้

๓) ห้ามล่วงประเวณี ในสตรีหรือบุรุษที่มีเจ้าของหวง เช่นภรรยาเขา หรือลูกหลานบริวารที่ผู้ปกครองเขายังไม่ได้อนุญาตให้เราไปล่วงเกินได้

๔) ห้ามพูดเท็จ โกหก หรือพูดไปให้ผู้อื่นไม่สบายใจ

๕) ห้ามดื่มสุรา เมรัย หรือของเสพติด อันเป็นเหตุให้ขาดสติ

สำหรับท่านที่รักษาศีลนั้น ขอแนะนำให้เจริญสีลานุสสติ ด้วย คำว่า สีลานุสสติ แปลว่า การระลึกถึงศีลของตน วิธีปฏิบัติให้เราท่องก่อนนอนทุกวันว่า

“โอหนอ ศีลทั้งหลายของเรา เป็นศีลไม่ขาด เป็นศีลไม่ทะลุ เป็นศีลไม่ด่าง เป็นศีลไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไท เป็นศีลอันผู้รู้สรรเสริญ เป็นศีลอันตัณหาและทิฏฐิไม่แตะต้อง เป็นศีลที่ยังสมาธิให้บังเกิดได้”

สำหรับพระโสดาบันแล้ว การล่วงละเมิดศีล ๕ จะไม่มีเลย ศีลจะบริสุทธิ์เป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเอาใจคอยระวัง จะบริสุทธิ์ชนิดที่ว่า ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด เช่น สมมุติว่าถ้ามีใครมาเงื้อดาบบังคับให้พระโสดาบันฆ่ามดสักตัวหนึ่ง มิฉะนั้นจะฟันให้ตาย พระโสดาบันย่อมจะไม่มีจิตที่จะกล้าฆ่ามดตัวนั้นเลย รังแต่จะยอมตายโดยแท้

ด้วยเหตุที่ศีลบริสุทธิ์ถึงขนาดนี้เอง พระโสดาบันทั้งหลาย จึงจะย่อมพบสิ่งอันอัศจรรย์ในใจขึ้นมาว่า “โอหนอเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรารักษาศีลแล้ว แต่กลายเป็นศีลรักษาเราโดยแท้เทียว”

ฉะนั้นท่านผู้ใคร่ในธรรมปฏิบัติ จงอย่าประมาท จงพากันรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะทำให้ท่านเข้าสู่มรรคผล นิพพาน ได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

๔. สมาธิ การเจริญสมาธิเรียกได้หลายแบบ เช่น เรียกว่า เจริญสมถกรรมฐาน หรือ เจริญสติ ก็ได้ การเจริญสมาธินั้น สำคัญมากต่อการพัฒนาจิตใจให้บรรลุมรรคผล ผู้ที่จิตไม่เป็นสมาธิเลย จะไม่สามารถบรรลุมรรคผล แม้แต่เพียงขั้นต้นได้

การเจริญสมาธิ หรือเจริญสตินี้ มีวิธีฝึกได้หลายแบบ เช่น อานาปานสติ การตั้งสติในการเคลื่อนไหวของกาย หรือการเพ่งกสิณ เช่นเพ่งลูกแก้ว เป็นต้น แต่วิธีที่แพร่หลายที่สุด คือ อานาปานสติ ฉะนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอานาปานสติพอเป็นสังเขป ท่านที่ต้องการรายละเอียดมากๆ กรุณาค้นคว้าจากหนังสือที่สอนเกี่ยวกับอานาปานสติ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป

อานาปานสติ คือการกำหนดสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าและออก ซึ่งจุดใหญ่อยู่ที่การกำหนดลมหายใจ ส่วนท่านใดจะเพิ่มคำบริกรรมใดๆ ขึ้นมา ก็แล้วแต่ความพอใจคำบริกรรม เช่น พุทโธ นั้นไม่ต้องมีก็ได้ แต่ถ้าใครชอบก็แล้วแต่ความพอใจของคนนั้น

การปฏิบัติในอานาปานสติ ให้นั่งในท่าที่สบาย จะนั่งขัดสมาธิหรือนั่งห้อยขากับเก้าอี้ก็ได้ แล้วตั้งสติอยู่ที่ปลายจมูก กำหนดสติให้รู้ที่ลมหายใจกระทบ เวลาหายใจออกก็มีสติรู้อยู่ว่าหายใจออก ผู้ฝึกใหม่ตอนแรกพยายามนั่งให้ได้สัก ๑๐ นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาไปเรื่อยๆ จนนั่งได้สักวันละ ๓๐ นาทีทุกวัน ใหม่ๆ จิตจะฟุ้งซ่านไปบ้างก็ช่างมัน ฝึกไปเรื่อยๆ จิตจะค่อยสงบลงทุกทีเอง

และเพื่อประโยชน์แก่ความเจริญของสมาธิ ทุกเวลาที่ว่าง ควรจะเอาสติมากำหนดลมหายใจอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้จิตคิดในเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เช่น เวลาคอยรถเมล์ หรือยืนอยู่บนรถเมล์ จงอย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยการคิดเรื่องไร้สาระ ให้เอาสติมากำหนดลมหายใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องหลับตาก็ได้ เว้นไว้แต่เวลาเรานั่งอยู่ในห้องของเรา เป็นกิจจะลักษณะค่อยหลับตา แต่ถ้าหลับตาแล้วง่วงก็ให้ลืมตา

การเจริญสมาธิหรือการเจริญสตินี้ มีความจำเป็นมากในการที่จะพัฒนาจิตใจให้บรรลุมรรคผล ฉะนั้นท่านผู้ปรารถนาที่จะเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน จงอย่าประมาทในการเจริญสมาธิ หรือการเจริญสตินี้เลย

๕. ปัญญา หรือจะเรียกอีกอย่างว่า วิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้ คือการพินิจพิจารณาสังขารทั้งหลาย ให้เห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งทั้งปวงล้วนแล้วแต่มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ

  • อนิจจัง ความไม่เที่ยง

  • ทุกขัง เป็นทุกข์ทนได้ยาก

  • อนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้

ทีนี้ทำอย่างไรล่ะ จึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา ในทางภาคปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะบังเกิดปัญญา เห็นแจ้งขึ้นมาด้วยการเจริญกรรมฐาน ๒ อย่างคือ

๕.๑ มรณานุสสติ คือการระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์

๕.๒ การพิจารณาร่างกาย สำหรับการพิจารณาร่างกาย จะแบ่งไปได้อีกคือ

๑) การพิจารณาร่างกายแยกส่วนเป็นอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ ปัสสาวะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของสกปรกโสโครกทั้งสิ้น

๒) การพิจารณาร่างกายแยกให้เห็นเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่มีตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุของโลกประกอบกันขึ้นมาเท่านั้น

๓) การพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นซากศพ

สำหรับกรรมฐานที่กล่าวมาข้างต้น จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ ท่านผู้ใดต้องการศึกษารายละเอียด ให้หาหนังสือมาอ่านเอาเอง ในที่นี้จะสอนวิธีการปลงสังขารตามบทกลอน ซึ่งก็มีกรรมฐานข้างต้นอยู่เหมือนเดิม

บทปลงสังขารที่อยู่ท้ายเรื่องนี้ ขอให้นักปฏิบัติได้สวดก่อนนอนทุกวัน เวลาสวดให้พิจารณาให้เห็นแจ้งไปตามคำสวดด้วยปัญญาด้วย ขอให้สวดให้ได้ทุกวัน ต่อไปปัญญาจะเกิดขึ้น แล้วจะเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเอง

ต่อไปจะขอพูดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม

ถ้ามีปัญหาถามว่า ความอยากเป็นพระอรหันต์ หรืออยากเป็นพระโสดาบันนี้ เป็นกิเลสหรือไม่

ก็จะขอตอบตามความรู้สึกของผู้เขียนว่า ความอยากชนิดนี้ไม่เป็นกิเลส ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นธรรมะข้อใหญ่มากทีเดียว เพราะความอยากชนิดนี้ ทำให้ยอมสลัดทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะมาขวางทางนิพพาน ทำให้ยอมทนต่ออุปสรรคความลำบากต่างๆ และทำให้เกิดความพากเพียรที่จะปฏิบัติธรรม มิให้เบื่อหน่ายท้อถอย ถ้าจะพูดไปตามภาษาธรรมะ ก็จะเรียกความอยากชนิดนี้เป็น อธิษฐานบารมี หรือถ้าจะจัดเป็นกรรมฐานกองหนึ่งก็ได้คือ อุปสมานุสสติ ซึ่งหมายถึง การระลึกถึงคุณของพระนิพพานเป็นอารมณ์

ฉะนั้น การตั้งอธิษฐานจิตนี้จึงสำคัญมากแก่ผู้ปฏิบัติธรรม จึงควรอธิษฐานก่อนนอนทุกวันหรือทุกครั้งที่ทำบุญว่า “ขอให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ขึ้นชื่อว่าการเกิดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าอีกเลย มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ปรากฏแก่ข้าพเจ้าประดุจหลุมถ่านเพลิง ตายจากชาตินี้ ขอไปนิพพาน”

ขอให้ท่านผู้ใฝ่ในธรรมปฏิบัติทั้งหลายจงอธิษฐานจิตดังนี้ จะช่วยสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยให้ได้มรรคผล นิพพาน อย่างที่คาดไม่ถึง

ฉะนั้นขอให้ท่านผู้ใคร่ในการปฏิบัติธรรม จงสำรวจคุณธรรมทั้ง ๕ ประการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มีอยู่ในตนหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จงสร้างให้มี ถ้ามีแล้วก็จงบำรุงให้เจริญไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ช้าท่านก็จะได้บรรลุมรรคผลเอง

ซึ่งเรื่องมรรคผลนี้ยังไม่พ้นกาลพ้นสมัย ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว สมัยนี้จะไม่มีพระอริยบุคคล ความจริงมรรคผลนั้นไม่เลือกกาลเลือกสมัย เมื่อใดที่คุณธรรมของเราเจริญถึงขีด ก็จะได้บรรลุมรรคผลทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ทุกเพศ ทุกวัย มิเลือกว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต หญิงชายหนุ่มแก่ จงอย่าดูถูกว่าตนเองเป็นผู้ไม่มีบารมี ทุกท่านที่นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาเป็นผู้มีบารมีทั้งนั้น ขอเพียงแต่ให้ท่านจงพยายามปฏิบัติตามที่ได้แนะนำมาแต่เบื้องต้น คุณธรรมของท่านก็จะเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น จนในที่สุดท่านก็จะได้บรรลุมรรคผลเอง

การที่ได้บรรลุมรรคผล แม้แต่เพียงขั้นต้น คือ พระโสดาบันนั้น จะมีคุณประโยชน์มากหลายอย่างนัก จะไม่ขอกล่าวโดยละเอียดในที่นี้ แต่ที่จะกล่าวก็คือท่านผู้ที่บรรลุจะเป็นผู้มีความสุขมาก ท่านจะอยู่อย่างสุขใจอย่างยิ่ง แม้โลกนี้จะวุ่นวายเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ท่านจะอยู่ท่ามกลางทุกข์ด้วยความสุขสบายใจ อยู่ท่ามกลางกองไฟได้อย่างเย็นชื่นบาน ซึ่งในความเป็นจริงจะเป็นเช่นไรนั้น ท่านผู้บรรลุจะพึงซาบซึ้งด้วยตนเอง

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

 

บทปลงสังขาร

มนุษย์เราเอ๋ย เกิดมาทำไม

นิพพานมีสุข อยู่ ใยมิไป

ตัณหาหน่วงหนัก หน่วงชักหน่วงไว้

ฉันไปมิได้ ตัณหาผูกพัน

ห่วงนั้นพันผูก ห่วงลูกห่วงหลาน

ห่วงทรัพย์สินศฤงคาร จงสละเสียเถิด

จะได้ไปนิพพาน ข้ามพ้นภพสาม

ยามหนุ่มสาวน้อย หน้าตาแช่มช้อย

งามแล้วทุกประการ แก่เฒ่าหนังยาน

แต่ล้วนเครื่องเหม็น เอ็นใหญ่เก้าร้อย

เอ็นน้อยเก้าพัน มันมาทำเข็ญใจ

ให้ร้อนให้เย็น เมื่อยขบทั้งตัว

ขนคิ้วก็ขาว นัยน์ตาก็มัว

เส้นผมบนหัว ดำแล้วกลับหงอก

หน้าตาเว้าวอก ดูน่าบัดสี

จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย

เหมือนดอกไม้โรย ไม่มีเกสร

จะเข้าที่นอน พึงสอนภาวนา

พระอนิจจัง พระอนัตตา

เราท่านเกิดมา รังแต่จะตาย

ผู้ดีเข็ญใจ ก็ตายเหมือนกัน

เงินทองทั้งนั้น มิติดตัวไป

ตายไปเป็นผี ลูกเมียผัวรัก

เขาชักหน้าหนี เขาเหม็นซากผี

เปื่อยเน่าพุพอง หมู่ญาติพี่น้อง

เขาหามเอาไป เขาวางลงไว้

เขานั่งร้องไห้ แล้วกลับคืนมา

อยู่แต่ผู้เดียว ป่าไม้ชายเขียว

เหลียวไม่เห็นใคร เห็นแต่ฝูงแร้ง

เห็นแต่ฝูงกา เห็นแต่ฝูงหมา

ยื้อแย่งกันกิน ดูน่าสมเพช

กระดูกกูเอ๋ย เรี่ยรายแผ่นดิน

แร้งกาหมากิน เอาเป็นอาหาร

เที่ยงคืนสงัด ตื่นขึ้นมินาน

ไม่เห็นลูกหลาน พี่น้องเผ่าพันธุ์

เห็นแต่นกเค้า จับเจ่าเรียงกัน

เห็นแต่นกแสก ร้องแรกแหกขวัญ

เห็นแต่ฝูงผี ร้องไห้หากัน

มนุษย์เราเอ๋ย อย่าหลงนักเลย

ไม่มีแก่นสาร อุตส่าห์ทำบุญ

ค้ำจุนเอาไว้ จะได้ไปสวรรค์

จะได้ทันพระพุทธเจ้า จะได้เข้านิพพาน

อหํ วนฺทามิ สพฺพโส

อหํ วนฺทามิ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ