พุทธมงคลอานิสงส์

คำแปลบทสวดมนต์

คำบูชาพระรัตนตรัย

พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์, ดับเพลิงกิเลส ดับเพลิงทุกข์โดยสิ้นเชิง, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

(กราบ)

 

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว

ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม

(กราบ)

 

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว,

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์

(กราบ)

คำนมัสการ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

สรณคมน์

ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ

ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ,

ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ,

 

แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ,

แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ,

แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ,

 

แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ,

แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ,

แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ,

พระพุทธคุณ

...พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น;

เป็นผู้ไกลจากกิเลส;

เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง;

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ,

เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว,

เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง,

เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่ฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า,

เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย,

เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม,

เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้..

พระธรรมคุณ

พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว,

เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง,

เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล,

เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด,

เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว,

เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้...

พระสังฆคุณ

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด, ปฏิบัติดีแล้ว;

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด, ปฏิบัติตรงแล้ว;

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด, ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว;

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด, ปฏิบัติสมควรแล้ว;

ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ

คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่, นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ;

นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า;

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา;

เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ;

เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน;

เป็นผู้ที่ควรแก่การทำอัญชลี;

เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

พุทธชัยมงคลคาถา (พาหุง)

๑. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพญามารผู้นิรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่คชสารชื่อครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึก ด้วยธรรมวิธีคือทรงระลึกถึงพระบารมี ๑๐ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญแล้ว มีทานบารมีเป็นต้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๒. พระจอมมุนีได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ดุร้าย เหี้ยมโหด มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามาร ผู้เข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง ด้วยวิธีที่ทรงฝึกฝนเป็นอันดี คือขันติบารมี ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๓. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพญาช้างชื่อนาฬาคิรี เป็นช้างเมามันยิ่งนัก ดุร้ายประดุจไฟป่าและร้ายแรงดังจักราวุธและสายฟ้า(ขององค์อินทร์) ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำ คือพระเมตตา ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๔. พระจอมมุนีทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจอันยอดเยี่ยม ชนะโจรชื่อองคุลีมาล (ผู้มีพวงมาลัยคือนิ้วมือมนุษย์) แสนร้ายกาจมีฝีมือ ถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นทาง ๓ โยชน์ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๕. พระจอมมุนีได้ทรงชนะคำกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ผู้ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพราะทำไม้มีสัณฐานกลม (ผูกติดไว้) ให้เป็นประดุจมีท้อง ด้วยวิธีสมาธิอันงาม คือความสงบพระหฤทัย ในท่ามกลางหมู่ชน ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๖. พระจอมมุนีทรงรุ่งเรืองแล้วด้วยประทีป คือปัญญา ได้ชนะสัจจกนิครนถ์ ผู้มีอัชฌาสัยในที่จะสละเสียซึ่งความสัตย์ มุ่งยกถ้อยคำของตน ให้สูงล้ำดุจยกธง เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก ด้วยเทศนาญาณวิธี คือรู้อัชฌาสัยแล้ว ตรัสเทศนาให้มองเห็นความจริง ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่านด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๗. พระจอมมุนีทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรสนิรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานพญานาคราช ชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีความหลงผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีให้ฤทธิ์ที่เหนือกว่าแก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๘. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพรหม ผู้มีนามว่าพกาพรหม ผู้มีฤทธิ์สำคัญตนว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีความเห็นผิดประดุจถูกงูรัดมือไว้อย่างแน่นแฟ้นแล้ว ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษ คือ เทศนาญาณ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

นรชนใด มีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ บทนี้ทุกๆ วัน นรชนนั้นจะพึงละเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลาย มีประการต่างๆ เป็นอเนก และถึงซึ่งวิโมกข์ อันเป็นบรมสุขแล

มหาการุณิโก

ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

ประกอบแล้วด้วยพระมหากรุณา

ยังบารมีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็ม

เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้

ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

 

ขอท่านจงมีชัยชนะ

เหมือนพระจอมมุนีทรงชนะมาร

ที่โคนโพธิพฤกษ์

ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก

ทรงปราโมทย์อยู่บนอปราชิตบัลลังก์อันสูง

เป็นจอมมหาปฐพี

ทรงเพิ่มพูนความยินดี

แก่เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ฉะนั้น เทอญ

เวลาที่สัตว์ประพฤติชอบ ชื่อว่า ฤกษ์ดี มงคลดี

สว่างดี รุ่งดี

และขณะดี ครู่ดี

บูชาดีแล้ว ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

กายกรรม เป็นไปในฝ่ายเจริญ

วจีกรรม เป็นไปในฝ่ายเจริญ

มโนกรรม เป็นไปในฝ่ายเจริญ

ความปรารถนาของท่าน เป็นไปในฝ่ายเจริญ

สัตว์ทั้งหลาย ทำกรรมอันเป็นไปในฝ่ายเจริญแล้ว

ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลาย อันเป็นไปในฝ่ายเจริญ

 

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน

ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า

ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เทอญ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน

ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน

ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม

ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เทอญ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน

ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน

ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์

ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ทุกเมื่อเทอญ

(กราบ ๓ ครั้ง)