พุทธมงคลอานิสงส์

สัทธาดิลก

อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป

พระพุทธรูปหยกขาว วัดมหาอันธุกันทะ เมืองพินอูลวินอันอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปนั้นพระโบราณจารย์ได้กล่าวเอาไว้ดังนี้

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยดีบุกจะได้เกิดเป็นเทวดา ผู้มีศักดามาก

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยเงินจะได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองเหลืองและทองสัมฤทธิ์จะได้เกิดเป็นบรมกษัตริย์มีสมบัติมาก

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยศิลาจะได้เกิดเป็นท้าวอมรินทราธิราช

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยไม้โพธิ์และแก่นจันทน์ จะได้เกิดเป็นใหญ่ในประเทศราช บริบูรณ์ด้วยจตุรงคเสนา

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยการวาดใส่แผ่นผ้าหรือแกะสลักลงบนแผ่นโลหะต่างๆ ผู้นั้นจะได้เป็นท้าวมหาพรหม

ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำย่อมมีอานิสงส์ไพศาล จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในกาลอนาคตเบื้องหน้า ก็จะสำเร็จดังความตั้งใจ

การสร้างพระพุทธรูปนั้นแม้จะด้วยวัตถุธาตุใดก็ตาม จัดว่าได้สะสมมหากุศล มหาบารมีให้เกิดขึ้น อันจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติในกาลต่อไปเบื้องหน้าแล

อานิสงส์การปิดทองพระพุทธรูป

การปิดทองพระพุทธรูปนั้นมีตำนานกล่าวไว้ว่า ในอดีตกาลเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรานี้ยังสร้างบารมีเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามหารถราช เสวยราชสมบัติในสักกราชาวดีนคร มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาซึ่งพระองค์มีพระสหายพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าปัญจาลราช เสวยราชสมบัติในปัญจาลนคร ซึ่งเป็นพระสหายที่ไม่ได้เห็นหน้ากัน แต่พระเจ้าปัญจาลราชยังมิได้นับถือพระพุทธศาสนา

ครั้งหนึ่งพระเจ้าปัญจาลราชส่งผ้ารัตนกัมพลเนื้อดีราคาแพงผืนหนึ่งมาถวายพระเจ้ามหารถราช พระเจ้ามหารถราชพิจารณาดูผ้ากัมพลแล้ว ทรงเห็นว่าผ้านี้ราคาแพง เราควรจะส่งแก้วคือพระพุทธรัตนะไปถวาย แล้วพระองค์ก็ให้ช่างเขียนรูปพระพุทธเจ้าลงในแผ่นทองคำด้วยชาดหรคุณ มีขนาด ๑ ศอก แล้วให้อำมาตย์เชิญพระพุทธรูปนั้นลงสำเภาไปถวายพระเจ้าปัญจาลราช แต่ก่อนจะส่งราชทูตไป พระองค์ทรงระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานว่า "พระเจ้าปัญจาลราช สหายของหม่อมฉันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด มิได้มีความเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าพระองค์เสด็จไปพระนครนั้นแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดแสดงปาฏิหาริย์ ชักจูงพระเจ้าปัญจาลราชให้ละเสียซึ่งความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมด้วยเทอญ" เมื่อทรงอธิษฐานแล้วก็เสด็จลุยไปในน้ำลึกเพียงพระศอ เพื่อส่งเสด็จพระพุทธรูปนั้นจากไป

เมื่อสำเภาไปถึงกรุงปัญจาละแล้ว ราชทูตก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าปัญจาลราชให้ทรงทราบ พระองค์ก็เกิดปิติโสมนัสเสด็จไปรับเครื่องบรรณาการนั้น พร้อมด้วยอำมาตย์ จตุรงคเสนา และประชาชน พระเจ้าปัญจาลราชเสด็จลงไปในน้ำลึกเพียงพระศอเพื่อต้อนรับพระพุทธรูป ด้วยแรงอธิษฐานของพระเจ้ามหารถราช พระพุทธรูปนั้นก็ได้แสดงปาฏิหาริย์ เช่นลอยขึ้นไปในนภากาศเป็นอัศจรรย์ พระเจ้าปัญจาลราชทอดพระเนตรดังนั้นจึงเกิดศรัทธาเป็นที่ยิ่ง ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะต่อหน้าพระพุทธรูปนั้น พระเจ้าปัญจาลราชกลับกลายเป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นยิ่งนัก ทรงให้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ ณ พระราชมนเทียร แล้วบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และแสดงตนเป็นอุบาสกผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ต่อมาพระองค์ได้ให้ช่างแกะสลักพระพุทธรูปด้วยแก่นจันทร์ เสร็จแล้วให้ประดิษฐานไว้ที่ศาลาบุนนาคทรงรับสั่งอนุญาตให้ชาวพระนครพากันไปปิดทองพระพุทธรูปนั้น

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นคนเข็ญใจอยู่ในเมืองนั้น แม้จะเป็นผู้ยากจนอนาถาไร้ทรัพย์ แต่เมื่อฟังข่าวเชิญชวนให้ไปปิดทองพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นแล้วก็เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าปรารถนาจะได้นำทองไปปิดพระพุทธรูปนั้นด้วย จึงได้ลาบุตรและภรรยาเพื่อไปขายตัวเป็นทาส จะได้นำเงินมาซื้อทองไปปิดพระพุทธรูป ภรรยาเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจ ภรรยาจึงยอมขายตนและลูกไปเป็นทาสเสียเอง ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อได้เงินจากการขายภรรยาและลูกไปเป็นทาสแล้วจึงได้นำเงินไปซื้อทองปิดพระพุทธรูป เมื่อทองไม่พอแต่ยังมีศรัทธาแก่กล้า พระโพธิสัตว์จึงดำริว่า ใครหนอจักมีวิชาการหรือมนตราที่จะเปลี่ยนเนื้อของเราเป็นทองได้ เราจะสู้ยอมสละเนื้อของตนเองให้เพื่อจะได้ทองนำไปปิดพระพุทธรูปให้ดูสวยงามตามที่ได้ตั้งใจ ด้วยความศรัทธาจึงได้ไปป่าวประกาศถ้อยคำดังว่าอยู่ที่ทางสี่แพร่ง ครั้นนั้นร้อนถึงท้าวสักกเทวราชจึงจำแลงแปลงกายเป็นพราหมณ์แก่ลงมาถามความเป็นไปกับพระโพธิสัตว์ แล้วก็รับคำว่าตัวเรานี้มีมนตราที่จะเปลี่ยนเนื้อคนเป็นทองคำได้ พระโพธิสัตว์ก็ดีใจนำมีดมาเฉือนเนื้อของตัวเองออกให้พราหมณ์แก่ผู้นั้นเปลี่ยนเป็นทองคำ พระโพธิสัตว์นั้นแม้จะเจ็บปวดปานใดก็ยังไม่ตายด้วยกำลังเทวานุภาพบันดาลรักษาไว้ พราหมณ์จำแลงนั้นก็นำเนื้อเสกเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนเป็นทองปิดพระพุทธรูปจนเสร็จ ขณะนั้นเองพระโพธิสัตว์ก็ถึงการสลบไปด้วยความเจ็บปวด ส่วนท้าวสักกเทวราชเห็นดังนั้นก็บันดาลแก้ไขพระโพธิสัตว์ให้หายเป็นปกติมีเนื้อเต็มด้วยเทวานุภาพ ฉับพลันนั้นผิวกายของพระโพธิสัตว์ก็สุกปลั่งประดุจทองคำธรรมชาติ ทั้งได้รับคำทำนายว่าจะได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตพระนามว่าพระสมณโคดม ความนี้ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าปัญจาลราช ทรงมีความเลื่อมใสเป็นที่ยิ่ง ได้ทรงสักการะพระโพธิสัตว์ด้วยทรัพย์สินและเงินทองมากมาย พระโพธิสัตว์ก็ได้นำเงินไปไถ่ตัวบุตรภรรยามาเสวยสมบัติสิ้นกาลนาน ครั้นวายปราณก็ได้ไปบังเกิดบนสุคติโลกสวรรค์ด้วยอานิสงส์แห่งการทำพุทธบูชาด้วยประการฉะนี้แล

อานิสงส์การนับถือพระรัตนตรัย

การนับถือพระรัตนตรัยนั้นเรียกได้อีกอย่างว่าการเข้าถึงไตรสรณาคมน์แปลว่าผู้เข้าถึงสรณะทั้ง ๓ คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ สรณาคมน์มี ๒ อย่างคือ โลกิยสรณาคมน์และโลกุตตรสรณาคมน์

โลกิยสรณาคมน์ได้แก่การถึงพระรัตนตรัยของปุถุชน อันอาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะจิตใจของปุถุชนยังไม่แน่นอน อาจจะโลเลไปตามอารมณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็ได้

โลกุตตรสรณาคมน์ได้แก่การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นไป จะไม่มีการหวั่นไหวด้วยเหตุปัจจัยภายนอก มีความเลื่อมใสมั่นคงแข็งแกร่ง จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงการเคารพนับถือพระรัตนตรัย แม้จะมีเหตุอันตรายจนถึงแก่ชีวิตก็ตาม

การเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ของปุถุชนย่อมสำเร็จด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ

๑. ด้วยการมอบให้ซึ่งตน

๒. ด้วยการมีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า

๓. ด้วยการยอมตัวเป็นศิษย์

๔. ด้วยการแสดงออกซึ่งสามีจิกรรม คือมารยาทอันสมควรแก่พระรัตนตรัย

การเปล่งวาจาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบตนแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่า การเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ ด้วยการมอบตน

การเปล่งวาจาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นเบื้องหน้า คือจะทำอะไรก็ยกเอาพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้าเป็นหลักเกณฑ์ เรียกว่าการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ด้วยการมีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า

การเปล่งวาจาว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอแสดงตัวเป็นศิษย์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ เรียกว่าการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ด้วยการยอมตัวเป็นศิษย์

การเปล่งวาจาว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอแสดงความยำเกรงอย่างเต็มที่ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือข้าพเจ้าจะแสดงออกซึ่งสามีจิกรรมคือมารยาทอันสมควร มีการอภิวาทกราบไหว้ วันทา อัญชลี ยืนขึ้นลุกรับ หลีกให้ทาง ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ เรียกว่าการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์ด้วยการแสดงออกซึ่งสามีจิกรรม

บุคคลกระทำอาการทั้ง ๔ ดังกล่าวมานี้อย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัย หรือการเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์

ดังที่ใช้กันในปัจจุบันนี้โดยการเปล่งวาจาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ................ ตะติยัมปิ.................... ก็ชื่อว่าเป็นการแสดงตนเพื่อเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เหมือนกัน ฉะนั้นขณะที่เราเปล่งวาจาว่า พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามินั้น พึงตั้งจิตให้เกิดศรัทธาปสาทะในคุณของพระรัตนตรัยไปด้วยก็จะได้บุญกุศลอย่างเต็มที่ อย่าเพียงสักแต่ว่ากล่าวลอยๆ

ผู้ที่ถึงโลกุตตรสรณาคมน์ย่อมมีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นอานิสงส์ ดังมีพระพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว ได้เห็นแจ้งอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เพราะอาศัยสรณะนั้น

ผู้ที่ถึงโลกิยสรณาคมน์ ดังที่กัลยาณปุถุชนนับถือกันอยู่นั้น ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ที่พรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติอันเป็นทิพย์ ดังคำของพรหมองค์หนึ่งที่กล่าวไว้ในมหาสมัยสูตรว่า "บุคคลเหล่าใดนับถือพระพุทธจ้าเป็นสรณะ บุคคลเหล่านั้นเมื่อละอัตภาพมนุษย์แล้ว จะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะเข้าสู่ความเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เทพ"

อีกประการ พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้เลิศในทางมีฤทธิ์ สามารถขึ้นสวรรค์ลงนรกได้ในเวลาชั่วลัดนิ้วมือ ได้กล่าวแก่ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า "ดูกร ท่านจอมเทพ การนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้นเป็นสิ่งประเสริฐ เพราะว่าเมื่อบุคคลนั้นแตกกายทำลายขันธ์เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์แล้ว ย่อมจะเจริญรุ่งเรืองครอบงำเทพเจ้าอื่นด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ ก็เพราะเหตุที่นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะนั่นแล"

ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายพึงผูกใจให้มั่นคงในความศรัทธาปสาทะมีความเชื่อความเลื่อมใส ต่อคุณของพระรัตนตรัย อันจะนำตนให้พ้นทุกข์พ้นภัยในวัฏฏสงสาร มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าพิรี้พิไรรำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นใจ ได้อย่างแน่นอน ในกาลทุกเมื่อเทอญ

อานิสงส์การเสียสละเพื่อพระรัตนตรัย

ในครั้งอดีตกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนอันทรงพระนามว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้านิพพานไปแล้วเป็นเวลาได้ ๗ วัน ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจินราช เสวยราชสมบัติ ณ จินนคร ครั้งนั้นมีพระภิกษุ ๓๒ รูป สามเณร ๑ รูป ผู้มีศีลวัตรเป็นอันดี เดินผ่านไปในพระนครนั้น ปุโรหิตของพระราชาเห็นพระภิกษุสามเณรแล้วคิดว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าถ้าปล่อยให้มาเมืองนี้ พระราชาของเราจักเลื่อมใส ลาภสักการะที่เราเคยได้ก็จะเสื่อม เราจะต้องกำจัดเสีย จึงไปเข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า "ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกโจรได้ปลอมตัวเป็นภิกษุ พากันมาจะปล้นพระนครพระเจ้าข้า" พระราชาก็หลงเชื่อตรัสว่า "อาจารย์ เราจะทำอย่างไร" ปุโรหิตกราบทูลว่า "พระองค์อย่ารอช้า จงรีบจับภิกษุปลอมมัดแล้วโบยด้วยหวาย เอาไปเสียบหลาวไว้" พระราชาทรงสดับแล้วเห็นชอบด้วย รับสั่งให้เพชฌฆาตช่วยกันทุบบาตร ฉีกจีวร ทุบศีรษะ ตบปากพระภิกษุสามเณร เลือดไหลออกจากปาก หู จมูก ภิกษุสามเณรต่างก็ร้องไห้บ่นไปต่างๆ ด้วยความเจ็บปวดและกลัวตาย

พระนาคทีปกเถระผู้เป็นหัวหน้า ได้กล่าวปลอบโยนภิกษุทั้งหลาย ให้นึกว่าทุกๆ คนมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ความทุกข์ที่ได้รับอยู่นี้เป็นผลของกรรมชั่วที่เราสร้างไว้เอง ฝ่ายชาวนครก็ได้บอกเล่าข่าวนี้ต่อกันไป

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเกิดเป็นลูกเศรษฐี มีนามว่าทุลกบัณฑิต เมื่อทุลกบัณฑิตได้ทราบข่าวก็รีบไปถามพระทีปกเถระว่า "ท่านได้ทำผิดอะไร" พระเถระตอบว่า "พวกอาตมาไม่เห็นความผิดในปัจจุบันมีแต่ความผิดกรรมเก่าในอดีตที่พวกอาตมามองไม่เห็น"

พระโพธิสัตว์อ้อนวอนเพชฌฆาตว่า "กรุณารอสักครู่ ข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชาเมื่อเข้าเฝ้าก็กราบทูลว่า "ข้าพระองค์ขอไถ่ตัวภิกษุสามเณร ๓๓ รูป ให้พ้นจากการจองจำและถูกฆ่า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ" พระราชาตรัสว่า "ถ้าเจ้าต้องการชีวิตภิกษุสามเณรไว้ เจ้าจะต้องหาทองคำหนักเท่าพระแต่ละรูปมาไถ่"

พระโพธิสัตว์ตกลงรับตามพระราชประสงค์ แล้วกราบทูลลาไปบ้าน บอกความประสงค์ให้แม่ทราบและขอทองคำกันเป็นส่วนของตน เมื่อได้แล้วก็ให้คนในบ้านนำมาชั่งเทียบกับน้ำหนักของพระแต่ละรูปที่พระลานหลวง ไถ่ได้ ๓๐ รูปทองคำก็หมด พระโพธิสัตว์ขอผัดต่อพระราชารีบไปบ้านบอกกับภรรยาว่าฉันจะนำตนเองไปขายเป็นทาสเพื่อจะได้ทองคำไปไถ่พระอีก ๓ รูป ภรรยาได้ฟังแล้วเห็นใจร้องไห้บอกว่า เอาตัวน้องไปขายก็แล้วกัน พระโพธิสัตว์จึงนำภรรยาไปขายฝากให้กับเศรษฐีผู้หนึ่ง ได้ทองคำมาไถ่พระได้อีก ๒ รูป เหลือแต่สามเณรน้อยรูปเดียว

ฝ่ายสามเณรน้อยกลัวตายก็ร้องไห้ เข้าไปกราบพระเถระขอขมาลาโทษก่อนที่จะต้องตาย พระเถระจึงปลอบโยนสามเณรว่า จะหาหนทางช่วยและสอนว่า "สังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา การถอนความยึดมั่นอุปาทานจากสังขารทั้งปวงย่อมเป็นสุข"

พระโพธิสัตว์เมื่อได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวตัดพ้อกับตนเองว่า "เจ้ารักชีวิตของเจ้ามาก หรือรักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากกว่าชีวิต" เมื่อเห็นว่าตนเองรักพระรัตนตรัยมากกว่าชีวิต จึงกราบทูลพระราชาว่าขอรับอาสาตายแทนสามเณร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาติแล้ว จึงไปหาสามเณร ถอดเครื่องจองจำออกจากสามเณร ให้เพชฌฆาตจองจำตนเอง เพชฌฆาตโบยพระโพธิสัตว์ด้วยหวายแล้วนำไปสู่ป่าช้าผีดิบ

ชาวพระนครทั้งหลายเมื่อรู้ข่าวก็พากันแตกตื่นที่พระโพธิสัตว์ยอมตายแทนสามเณร มารดาของพระโพธิสัตว์ทราบข่าว ก็ร้องไห้วิ่งไปป่าช้าผีดิบ อ้อนวอนให้ลูกยับยั้งการตายแทนสามเณร พระโพธิสัตว์บอกมารดาว่า "ลูกสละชีวิตเพื่อพระรัตนตรัยครั้งนี้ เพราะเห็นว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นประทีปส่องโลก ช่วยให้สัตว์โลกรู้บาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ฉะนั้นขอมารดาอย่าห้ามเลย" แล้วพระโพธิสัตว์ก็เอามือลูบไม้หลาวพลางกล่าวว่า "ดูกร เจ้าไม้หลาว ไม้ต้นอื่นเอาไปทำพระวิหารก็มี แกะสลักเป็นพระพุทธรูปก็มี ทำเป็นที่อยู่อาศัยก็มี เหตุใดเจ้าจึงมาเป็นไม้หลาวซึ่งต้องมาเสียบร่างกายมนุษย์ อันเป็นของสกปรกเช่นนี้" บรรดาเทพเจ้าทั้งหลายได้ฟังคำพูดนี้ จึงบันดาลให้ไม้หลาวหักแหลกละเอียดเป็นจุณวิจุณไปในบัดเดี๋ยวนั้น ชาวพระนครได้เห็นอัศจรรย์เช่นนั้นก็แตกตื่นโกลาหลพากันมาดู

วันนั้น สุชาตเศรษฐีบิดาของพระโพธิสัตว์กลับมาจากการค้าขายต่างเมืองได้ทราบข่าวก็รีบไปเฝ้าพระราชา ให้คนขนทองคำมาไถ่ลูกชายให้เป็นอิสระ ฝ่ายพระนาคทีปกเถระ เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว บอกกับคณะภิกษุสามเณรว่า "พวกเรารอดตายเพราะทุลกบัณฑิต พวกเราเป็นหนี้ท่านบัณฑิต ควรจะหาโอกาสตอบสนองคุณเขา" แล้วทุกๆ รูปก็พากันขวนขวายเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญาและปฏิสัมภิทาญาณทุกรูป แล้วพากันเหาะมาในอากาศ บางรูปยืน บางรูปนั่ง บางรูปนอน บางรูปเดินจงกรมในอากาศ ปรากฏต่อสายตาของพระเจ้าจินราช

พระเจ้าจินราชสะดุ้งตกพระทัยมาก แทบจะสิ้นพระชนม์รับสั่งให้พวกอำมาตย์เข้าเฝ้าตรัสว่า "พวกมหาโจรมาทางอากาศ หมายจะมาฆ่าเรา จะทำอย่างไรดี" พวกอำมาตย์ทูลว่าให้ไปตามทุลกบัณฑิตมา พระองค์รับสั่งให้ไปตามทุลกบัณฑิตมาแล้วตรัสว่า "พวกโจรสามสิบสามคนที่เจ้าไถ่ตัวไปนั้น เวลานี้เหาะมาในอากาศ หมายจะฆ่าเรา เจ้าจงจัดการแก้ไขให้เราพ้นภัยด้วย"

พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงมีจิตชื่นบานกราบทูลว่า "พระองค์อย่าทรงวิตกเลย พวกพระคุณเจ้าทั้งหลายหามีภัยอันตรายแก่ผู้ใดไม่ ข้าพระบาทจะอาราธนาท่านลงมาเดี๋ยวนี้" แล้วจึงสั่งให้พนักงานปูอาสนะไว้ พร้อมทั้งถวายคำแนะนำให้พระเจ้าจินราชประทับยืนถือเครื่องสักการะคอยท่าอยู่ พระโพธิสัตว์เห็นว่าจัดการเรียบร้อยทุกประการแล้ว จึงได้ส่งเสียงอาราธนาว่า "ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงโปรดเมตตารับนิมนต์เถิด" พระสมณะทั้งสามสิบสามรูปจึงได้เหาะลงมานั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย พระราชาเห็นดังนั้นจึงได้ถวายอภิวาทด้วยเบญจางคประดิษฐ์โดยเคารพ

พระนาคทีปกเถระจึงได้แสดงธรรมโปรดพระราชาว่า "การคบหาสมาคมกับบัณฑิต แม้แต่ครั้งเดียว ย่อมอุ้มชูเกื้อกูลผู้คบหาไว้เป็นอย่างดี ฉะนั้น พระองค์จงคบหาสัตบุรุษ และรักใคร่สัตบุรุษทั้งหลาย คุณอันประเสริฐจะเกิดมีโดยส่วนเดียวเพราะการได้รู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายนั้น ส่วนผู้ใดชอบคนพาล ผู้นั้นย่อมจะยินดีเลื่อมใสในลัทธิของคนพาล อันจะนำให้เกิดความทุกข์ทวีมากขึ้น เหมือนกับพืชพันธุ์ชั่วเช่นหมามุ่ย ตำแย ที่คนเพาะให้งอกงามฉะนั้น บุคคลใดทำการเช่นไรย่อมจะได้รับผลของกรรมเช่นนั้น คนพาลย่อมจะไปเสวยความทุกข์ในอบายภูมิ ส่วนนักปราชญ์ย่อมเข้าถึงสวรรค์และนิพพาน"

พระเจ้าจินราชเมื่อได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาที่พระเถระแสดงแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส ทรงปฏิญาณพระองค์นับถือพระรัตนตรัย และป่าวประกาศเชิญชวนให้ชาวพระนครนับถือพระรัตนตรัยด้วย แล้วจึงทรงส่งพระสมณะทั้งสามสิบสามรูปกลับ พร้อมทั้งประกาศตั้งทุลกบัณฑิตเป็นเสนาบดีได้รับความเคารพนับถือจากชาวเมืองพร้อมด้วยภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่อุตส่าห์ยอมขายตนเพื่อให้ได้ทองคำมาไถ่พระภิกษุ ส่วนปุโรหิตผู้เป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายนั้น พระราชาเนรเทศออกจากเมืองไป ทั้งพระราชาและทุลกบัณฑิตก็ได้ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในการสร้างกุศลจนสิ้นชีวิตจึงพากันไปอุบัติบังเกิดในเทวโลก ทุลกบัณฑิตก็ได้สร้างบารมีต่อมาจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าพระสมณโคดมซึ่งก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นประทีปส่องใจแก่พุทธศาสนิกชนในพุทธศาสนายุกาลปัจจุบันนี้แล

ดังที่ได้นำชาดกนิทานมากล่าวขานนี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้มีจิตใจกว้างขวางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นนั้น ย่อมจะประสบกับความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรมส่วนบุคคลผู้เห็นแก่ตัวเอาเปรียบสังคมนินทาว่าร้ายอิจฉาริษยาใส่ร้ายป้ายสีปั้นโยนความผิดให้ผู้อื่น ย่อมประสบความเสื่อมตกอับเสียทรัพย์เสียยศเกียรติตำแหน่งนานับประการ ฉะนี้แล

อานิสงส์การก่อพระเจดีย์ทราย

นิทานเรื่องนี้มาในคัมภีร์ขุททกนิกาย อปทาน เป็นประวัติการบำเพ็ญบารมีของพระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติของท่าน เรื่องมีอยู่ว่าในครั้งอดีตกาลผ่านไปแล้ว ๑๑๘ มหากัป ในชาตินั้นท่านได้บวชเป็นฤๅษี ครั้นต่อมาเป็นไข้หนัก เมื่อเวลาเป็นไข้หนักนั้น ท่านได้ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสีซึ่งได้ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาอยู่ในยุคนั้น แล้วท่านได้กวาดทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ทรายขึ้น เก็บดอกไม้มาบูชาเจดีย์นั้น แล้วได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยจิตเลื่อมใส เมื่อตายจากชาตินั้นท่านได้ไปบังเกิดในเทวโลก เป็นเทพบุตรผู้มีผิวพรรณสวยงามเสวยทิพยสมบัติอย่างโอฬาร ครั้นจุติจากเทวโลกมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยยศศักดิ์บริวารและทรัพย์สมบัติ ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกเป็นเวลา ๑๑๘ มหากัปมิได้ไปบังเกิดในอบายภูมิเลย จนกระทั่งได้มาเกิดในยุคของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้ออกบวชและทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ วิโมกข์ ๘ พ้นจากทุกข์โทษเวรภัยในสังสารวัฏก็ด้วยกุศลที่ท่านได้ก่อพระเจดีย์ทรายสูงประมาณ ๑ ศอกถวายเป็นพุทธบูชานั่นเอง เกื้อหนุนให้ท่านเข้าถึงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ

ที่นำเรื่องนี้มาแสดงก็เพื่อจะให้สาธุชนได้เห็นและเข้าใจว่าเมื่อจิตเกิดศรัทธาเลื่อมใสตั้งมั่นมั่นคงแล้วทักษิณาทานที่ชื่อว่าเล็กน้อยย่อมไม่มี พระอรหันต์องค์นี้ในอดีตชาติที่ท่านเกิดเป็นฤๅษีนั้นท่านได้กวาดทรายมาพูนเป็นกองสูงประมาณ ๑ ศอก น้อมอุทิศถวายเป็นพุทธบูชายังบังเกิดอานิสงส์ไพศาลปานนี้ ฉะนั้นไม่ต้องกล่าวถึงการที่พุทธบริษัทผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธคุณจะมาร่วมแรงร่วมใจสมทบร่วมรวมกันเพื่อก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยวัตถุอันมั่นคง สูง ๑๐ เมตรบ้าง สูง ๒๐ เมตรบ้างหรือสูง ๑๐๐ เมตรบ้าง บ้างก็ทาสีขาวดูบริสุทธิ์ บ้างก็ทาสีทองดูงามตา บ้างก็ปิดด้วยแผ่นทองคำแท้ๆ ก็มี จึงมิต้องกล่าวเลยว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระเจดีย์ที่มั่นคงสวยงามเหล่านี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยจิตศรัทธาในคุณพระรัตนตรัยนั้นจะมีผลมากมายเพียงใด จะกล่าวได้ด้วยคำบรรยายอานิสงส์คำเดียวว่า "อัปไมยมหาศาลประมาณมิได้" ดังนี้แล

โทษของการทำบุญด้วยจิตโกรธ

นิทานเรื่องนี้มาในกุณาลชาดก พระธรรมกถึกทั้งหลายชอบนำมาเทศน์ ชื่อเรื่องว่านางปัญจปาปา ในอดีตกาลนานมาแล้ว ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลก เป็นช่วงว่างจากพระพุทธศาสนา แต่ยุคนั้นยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็คือพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองแต่มิได้ออกสั่งสอนประกาศพระศาสนา นับแต่วันที่ท่านบรรลุอรหันต์ด้วยตนเองแล้ว ท่านก็ปลีกวิเวกไปตามชอบใจของท่านจนกว่าท่านจะสิ้นอายุขัยก็จะเข้าสู่นิพพาน ท่านไม่มีภาระที่จะต้องประกาศศาสนาสั่งสอนใครเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีนางกุมารีคนหนึ่งกำลังขยำดินเหนียวฉาบทาฝาเรือนอยู่ ขณะนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกุฏิที่ท่านอาศัยมีรูโหว่ท่านจึงออกแสวงหาดินเหนียวไปอุดรูกุฏิของท่าน เมื่อท่านผ่านมาเห็นนางกุมารีนางนี้กำลังขยำดินเหนียวอยู่ ท่านจึงถือบาตรเดินตรงไปหานางกุมารีนั้นเพื่อขอบิณฑบาตดินเหนียวใส่บาตรมาสักก้อน นางกุมารีเห็นดังนั้นก็โกรธคิดว่า "สมณะพวกนี้ตอนเช้าเที่ยวเดินขอข้าวชาวบ้านชาวเมืองกินยังไม่พอ ตัวเรานี้สู้อุตส่าห์ไปขนดินเหนียวหอบหิ้วมานั่งขยำ กว่าจะได้ที่ก็ต้องขยำแทบมืองอเท้างอ สมณะนี้กลับมายืนเฝ้าจะขอดินที่เราขยำดีแล้วไปอีก ช่างไม่รู้จักไปหาเองเอาเสียเลย" คิดดังนี้แล้วก็ค้อนควัก เชิดจมูก ปากบ่นอุบอิบพึมพัม เพื่อจะให้พระปัจเจกพุทธเจ้าล่วงรู้อาการว่านางไม่เต็มใจจะให้ จะได้ไปไปเสีย ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีความเมตตาอารี อยากจะโปรดนางกุมารีน้อยให้ได้ทำบุญ จึงแสร้งทำเป็นไม่ทราบอาการของนาง ยืนนิ่งเปิดบาตรรอรับการบริจาคของนางต่อไป นางกุมารีเห็นดังนั้นก็คิดว่า "ชะรอยสมณะองค์นี้ถ้าไม่ได้อะไรคงจะไม่ไปแน่" นางจึงโกรธกระฟัดกระเฟียดปั้นดินได้ก้อนหนึ่งก็โยนใส่บาตรโดยไม่เคารพ พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อได้ดินแล้วท่านก็เดินจากไปเพื่อทำกิจของท่าน นางกุมารีนั้นเมื่อตายจากชาตินั้นได้มาเกิดในตระกูลคนจน มีอวัยวะที่บิดเบี้ยวอัปลักษณ์ ๕ แห่งคือ มือ เท้า ปาก นัยน์ตา จมูก จึงมีชื่อเรียกว่านางปัญจปาปา แปลว่าผู้มีบาป ๕ ประการ ถามว่าเหตุใดนางจึงมีอวัยวะบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ ๕ แห่ง ตอบว่าเพราะนางมีความโกรธเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ามาบิณฑบาตดินเหนียว นางคิดว่าเราสู้อุตส่าห์ไปขนดินเหนียวมาขยำแทบมืองอเท้างอ สมณะนี้กลับจะมาขอเอาไปเฉยๆ เพราะเหตุนี้จึงทำให้นางมีมือและเท้างอคดอัปลักษณ์ไม่น่าดู และก็เนื่องจากนางใช้ดวงตาค้อนควัก ใช้จมูกเชิดใส่ ใช้ปากบ่นอุบอิบพึมพำให้พระปัจเจกพุทธเจ้า นางจึงมีดวงตา จมูก และปากบิดเบี้ยวพิกลอัปลักษณ์ ฉะนั้นนางจึงมีชื่อว่า ปัญจปาปา แต่ว่าด้วยอานิสงส์การถวายดินเหนียวก้อนนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีผลอันยิ่งใหญ่แก่นาง คือทำให้ร่างกายผิวพรรณของนางนั้นมีความนุ่มเนียนเรียบลื่นน่าสัมผัสเปรียบประดุจสัมผัสอันเป็นทิพย์ของนางฟ้านางสวรรค์ ใครถูกต้องนางจะติดใจไม่สามารถตัดใจจากนางได้ ด้วยผลบุญที่นางได้ถวายดินเหนียว ทำให้นางได้เป็นอัครมเหสีของพระราชาถึง ๒ พระองค์ คือพระเจ้าพกะ และพระเจ้าทีปาวาริกะ เรื่องราวมีอยู่ว่า การที่นางได้เป็นมเหสีของพระราชาองค์แรกเนื่องจากพระราชาได้ปลอมพระองค์ออกไปตรวจตราบ้านเมืองยามค่ำคืน บังเอิญนางปัญจปาปาวิ่งเล่นได้มาชนพระราชาโดยไม่ตั้งใจ พระราชาก็ติดใจในสัมผัสกายของนางจึงไปสู่ขอต่อพ่อแม่นางและปลอมตัวออกมาสมสู่กับนาง และต่อมายิ่งหลงใหลในสัมผัสของนางมากขึ้น มิอาจตัดใจจึงได้รับนางเข้าวัง แต่ต่อมามีผู้อิจฉาใส่ร้ายนางว่าที่นางอัปลักษณ์ดังนี้คงเป็นยักษ์เป็นมารปลอมตัวมา พระราชาเชื่อจึงจับนางใส่เรือลอยน้ำไป นางลอยไปกับเรือจนไปเจอพระราชาองค์ที่ ๒ กำลังประพาสท่องเที่ยว นางจึงร้องบอกว่านางคือมเหสีของพระเจ้าพกะ แล้วนางจึงออกอุบายให้พระราชาองค์ที่ ๒ คือพระเจ้าทีปาวาริกะฉุดนางขึ้นจากเรือ เมื่อมือสัมผัสมือพระเจ้าทีปาวาริกะก็เกิดหลงใหลในสัมผัสของนาง พานางไปแต่งตั้งอยู่ในอัครมเหสี ฝ่ายพระเจ้าพกะหวนคิดถึงนางปัญจปาปาจนไม่เป็นอันกินอันนอน ต่อมาได้ข่าวว่านางมาอยู่กับพระเจ้าทีปาวาริกะ จึงยกกองทัพมาหวังจะชิงนางคืน ภายหลังได้ตกลงกันว่าจะแบ่งเวลาที่จะอยู่ร่วมกับนางปัญจปาปา นั่นคือนางปัญจปาปาจะอยู่กับพระราชาองค์ที่ ๑ ช่วงหนึ่ง แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระราชาองค์ที่ ๒ อีกช่วงหนึ่งเวลาเท่าๆ กันเหตุการณ์จึงสงบลง นางปัญจปาปาจึงเป็นอัครมเหสีของพระราชา ๒ เมืองได้ด้วยประการฉะนี้

ฉะนั้นนิทานเรื่องนี้สอนว่า เวลาเราจะทำบุญทำกุศลอันใดให้ตั้งจิตให้ดี อย่าทะเลาะเบาะแว้งโกรธเคืองขุ่นเคืองกับใคร จงทำจิตให้ผ่องใส ปิติร่าเริง บุญกุศลจะได้บังเกิดอย่างบริสุทธิ์ไม่มีมลทินมาแปดเปื้อนอย่างเรื่องของนางปัญจปาปาที่สาธกมาเป็นอุทาหรณ์ดังนี้แล

โทษที่มีใจตระหนี่ติเตียนทาน

นิทานเรื่องนี้มาในคัมภีร์เปตวัตถุ มีความว่าในครั้งพุทธกาลยังมีหญิงโสเภณีคนหนึ่งชื่อนางเสรณี นางเสรณีเป็นคนมีรูปร่างสวยงามเป็นที่ใหลหลงของบุรุษทั้งหลาย นางจึงได้ทรัพย์เป็นอันมากจากการที่บุรุษจ่ายเงินเพื่อได้นางไปค้างคืนด้วย ดังนั้นนางเสรณีจึงได้มีความเย่อหยิ่งถือตัวในรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ มัวเมาในความสวยความสาวที่บุรุษจำนวนมากมาสยบอยู่แทบเท้านาง ฉะนั้นนางเสรณีจึงไม่มีศรัทธาในบุญทานการกุศลอันจะเป็นไปเพื่อเสบียงเลี้ยงตนในภายภาคหน้า ครั้งหนึ่งประชาชนได้ร่วมกันถวายทานแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในสถานที่แห่งหนึ่ง พอดีนางเสรณีเดินผ่านมา เนื่องจากนางเป็นคนตระหนี่ ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อนางเห็นการถวายทานด้วยอาการเลื่อมใสศรัทธาของเหล่าอุบาสกอุบาสิกา นางจึงไต่ถามเป็นเชิงเยาะเย้ยริษยาและดูถูกในทาน แต่เหล่าพุทธบริษัทนั้นไม่ได้ถือสานางกลับมีจิตเมตตาพูดว่า "เธอจงอนุโมทนาส่วนบุญด้วยกันเถิด พวกเราจะให้ส่วนบุญ" นางปฏิเสธและพูดเป็นการดูถูกเหยียดหยามว่า "คนอย่างฉันไม่ต้องกินน้ำใต้ศอกของพวกท่าน การให้สิ่งของแก่สมณะศีรษะโล้น จะมีประโยชน์อะไร" แล้วนางก็เดินหนีไป ต่อมาไม่นานนางเสรณีได้ตายด้วยโรคปัจจุบัน เนื่องจากนางไม่มีบุญกุศลค้ำชูจึงได้ไปเกิดเป็นเปรตอยู่ที่หลังคูเมืองชายแดนเมืองหนึ่ง มีความลำบากมาก ยังมีอุบาสกมีอาชีพค้าขายคนหนึ่งเคยรู้จักกับนางเสรณี ได้ไปค้าขาย ณ เมืองนั้น เวลาเย็นได้ไปทำกิจที่หลังคูเมือง นางเปรตจำอุบาสกได้จึงแสดงตนให้เห็น อุบาสกจึงได้กล่าวถามว่า "ดูกรนางเปรต เจ้าเปลือยกาย มีผิวพรรณทรามซูบผอมน่าเกลียด เจ้ามายืนอยู่ที่นี่เพื่ออะไร" นางเปรตตอบว่า "ท่านผู้เจริญ ชาติก่อนฉันชื่อว่านางเสรณี เป็นหญิงหยาบช้า เป็นพาล ไม่เคารพและคารวะพระรัตนตรัย ไม่ให้ทาน ซ้ำยังดูถูกเหยียดหยามผู้ให้ทานมีประการต่างๆ เมื่อดิฉันตาย ผลแห่งบาปนั้นส่งให้เกิดมาเป็นเปรต อยู่ที่นี้ เวลากระหายลงไปในแม่น้ำ น้ำก็แห้งกลายเป็นทรายไปสิ้น เวลาลมพัดมาต้องกาย กายก็ร้อนเหมือนถูกไฟเผา ได้รับทุกขเวทนายิ่งนัก ขอท่านจงโปรดช่วยเหลือฉันด้วยเถิด เมื่อท่านกลับไปแล้วจงช่วยบอกบิดามารดาของฉัน เอาเงินทองที่ฉันหาสะสมเอาไว้ก่อนตาย ใช้จ่ายทำทานแก่ท่านผู้ทรงศีล แล้วอุทิศกุศลส่งมาให้ฉันด้วย" เมื่อนางเปรตสั่งดังนั้นแล้วก็อันตรธานไป เมื่ออุบาสกกลับเมืองก็ได้มาบอกแก่บิดามารดาของนางเสรณีท่านทั้งสองจึงได้ให้ทานจัดแจงดังที่นางเสรณีต้องการ แล้วบิดามารดาก็จึงอุทิศกุศลไปให้ลูกสาว นางเปรตเสรณีอนุโมทนาแล้วก็สิ้นทุกข์จากภพภูมิแห่งเปรต ไปอุบัติเป็นเทพธิดาที่สมบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติ พอตกกลางคืนจึงได้มาแสดงกายให้บิดามารดาได้เห็น พร้อมทั้งเตือนบิดามารดามิให้ประมาทในการทำบุญกุศลแล้วก็จากไป

นิทานเรื่องนี้สอนเราว่า ชีวิตนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไม่ยั่งยืนกำลังบ่ายหน้าไปสู่ความตายทุกวันทุกเวลาทุกนาที อย่าได้ประมาทมัวเมาในวัยในวันและเวลา ว่าเรายังหนุ่มสาว อีกนานนักหนาจึงจะแก่เจ็บตาย เพราะว่าร่างกายสังขารนี้ไม่เที่ยงแท้ อาจมีโอกาสแก่หรือไม่มีโอกาสแก่ก็ได้ จงอย่าประมาทวันเวลาและชีวิต จงรีบสร้างความดีสร้างกุศลบารมีเป็นที่พึ่งแก่ชีวิต อย่าทอดธุระ อย่าเชือนแช เพราะทุกคนต้องแก่แน่ เจ็บแน่ ตายแน่ ไม่มีละเว้นว่ายากดีมีจนคนชั้นต่ำชั้นสูงขอทานยันเศรษฐีล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในอำนาจของพระยามัจจุราชด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นท่านสาธุชนคนดี จงหมั่นเจริญ ทาน ศีล ภาวนาอย่าละเลย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะว่าเราผัดเพี้ยนผัดผ่อนกับพระยามัจจุราชท่านไม่ได้ ท่านส่งเสียงเรียกชื่อเราเมื่อใดก็จำเป็นต้องจรลีจากลูกเมียผัวรักในทันใด ไม่ได้โอกาสจะเชือนแช รู้แต่ว่าต้องตายแน่ชีวิตนี้ไม่เที่ยงแท้ต้องเข้าโลง ฉะนั้นจงหมั่นทำบุญกุศลด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นให้ได้ร่วมในบุญทานการกุศลของเราด้วย เพราะว่าบุคคลที่ทำบุญคนเดียวนั้นก็ได้บุญอยู่ แต่จะขาดพวกพ้องบริวาร ย่อมเดียวดายไร้ญาติขาดมิตร ทำบุญนั้นจงอย่าทำคนเดียว จงชักชวนคนทำให้มากๆ บุคคลนั้นย่อมได้พวกพ้องบริวาร ย่อมมีญาติ มีมิตร มีผู้รู้ใจ มีผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล เวลาเห็นใครทำบุญ จงอย่าไปขัดขวาง ถ้าไม่ได้ช่วยเหลือก็ควรเฉยเสีย อย่าพูดให้เขาเสียกำลังใจ อย่าตำหนิติเตียนพูดให้เขาล้มเลิก อย่าดูถูกเหยียดหยามให้เขาน้อยใจ ถ้าเขาเสียกำลังใจหมดศรัทธาเพราะคำพูดของเรา เราจะบาปมาก จงพูดให้กำลังใจแก่เขา ให้เขามีความอดทนต่อความลำบากในการทำบุญ ไม่ท้อแท้ท้อถอยทอดธุระเบื่อหน่าย จงพูดให้เขาเกิดศรัทธาอาจหาญร่าเริงมีแรงกายมีแรงใจในการประกอบกิจการอันเป็นกุศล ถ้าเขาเกิดท้อแท้จะล้มเลิก แต่เราพูดให้เขาเกิดศรัทธากระทำบุญกุศลจนสำเร็จลุล่วง เราจะได้กุศลมาก ชื่อว่าเราได้ช่วยเหลือในกิจการบุญของเขาด้วยวาจา ยิ่งถ้าเราเอากายไปช่วยขวนขวายในกิจการกุศลของเขาให้เบาแรงสำเร็จง่ายก็ยิ่งได้บุญมาก ถ้าหากเราช่วยวางแผนให้กิจการกุศลของเขาสำเร็จลุล่วงชื่อว่าเราช่วยเหลือเขาด้วยกำลังสมอง อานิสงส์จะช่วยให้เรามีปัญญามากเฉลียวฉลาดรอบรู้ในกิจการทั้งหลายทั้งปวง เวลาเห็นใครทำบุญเราควรมีส่วนร่วมกับเขาเสมอ อย่าเชือนแชทอดธุระเพราะว่าบุญจะเป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์ที่จะละโลกนี้ไปเพราะความตายมาพราก ถ้าไม่ได้ช่วยด้วยทรัพย์จงช่วยด้วยกาย ไม่ได้ช่วยด้วยกายจงช่วยด้วยวาจา ไม่ได้ช่วยด้วยวาจาจงช่วยด้วยสมอง ไม่ได้ช่วยด้วยกำลังสมองให้อนุโมทนาพลอยยินดีสาธุในใจเอาไว้ อย่าดูหมิ่นบุญเล็กน้อยแล้วละเลยไม่กระทำ อย่าดูหมิ่นบาปเล็กน้อยแล้วฝืนกระทำ น้ำหยดทีละหยดยังเต็มตุ่ม กรรมที่สร้างทีละเล็กทีละน้อยจะพลอยมากขึ้นได้ ของมากมาจากของน้อย ร้อยมาจากสิบ เมื่อเรือนกำลังไฟไหม้สิ่งใดที่บุคคลขนออกนอกบ้านได้นั่นแหละจึงจะเป็นของเรา ส่วนของใดที่เก็บเอาไว้ในเรือนนั่นแหละไม่ใช่ของเรา ร่างกายสังขารของเรานี้ก็กำลังถูกไฟคือความแก่ ความเจ็บ ความตายเผาอยู่ ฉะนั้นสิ่งของใดที่เราเก็บเอาไว้นั่นแหละไม่ใช่ของเรา แต่สิ่งของใดที่เราขนออกไปทำบุญให้ทานนั่นแหละจึงเป็นของเราแท้จริง เพราะว่าเมื่อกลายเป็นบุญแล้ว โจรไม่สามารถลักเอาบุญเราไปได้ ไฟไม่สามารถไหม้บุญเราได้ น้ำไม่สามารถชะเอาบุญเราไปได้ ลมไม่สามารถพัดเอาบุญเราไปได้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเอากฎหมายฉบับใดมาอ้างเพื่อยึดบุญเราไปเข้าคลังหลวงก็ไม่ได้ บุญเป็นของที่ใครทำใครได้จะอยู่กับผู้ทำบุญตลอดไปไม่มีใครยื้อแย่งไปได้ ไปไหนไปด้วย ตายไหนตายด้วย ฉะนั้นการให้ทุกอย่างก็คือการได้ทุกอย่าง ส่วนการหวงแหนทุกอย่างก็คือการสูญเสียทุกอย่าง คนเราเวลาเกิดมาก็ไม่ได้เอาสมบัติอะไรมาเลย เวลาตายไปก็ไม่ได้เอาสมบัติอะไรไปเลย ฉะนั้นสมบัติเงินทองข้าวของทั้งหลายที่ผ่านมาในชีวิตนั้นก็ผ่านมาเพื่อจะผ่านไปทั้งสิ้น ฉะนั้นความหวงแหนที่มีในใจคนจึงเป็นความหวงแหนเปล่า นั่นก็คือหวงแหนในสมบัติที่ไม่ใช่ของตน ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงขวนขวายสละทรัพย์อันไม่จีรัง เพื่อเปลี่ยนเป็นบุญเปลี่ยนเป็นกุศลอันมีค่า การนำสมบัติในเมืองมนุษย์ออกไปบำเพ็ญบุญกุศลอันจะเป็นปัจจัยให้ถึงสวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัตินั้น เปรียบประดุจกับการเอาก้อนถ่านไปแลกทองคำช่างคุ้มค่าเหลือเกิน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในคัมภีร์ ขุททกนิกาย อุทาน ดังนี้ว่า "ถ้าบุคคลทั้งหลายจะพึงรู้ถึงอานิสงส์ของการให้ทานดังที่พระพุทธองค์ทรงแจ้งด้วยพระญาณของพระองค์แล้วไซร้ ถ้ายังไม่ได้ให้ทานก่อนจะไม่ยอมกินเองใช้เองเลย" นั่นแสดงว่าพระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นอย่างชัดแจ้งด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า อานิสงส์แห่งการให้ทานนั้นมีมากมายมหาศาลเหลือเกิน ฉะนั้นบัณฑิตทั้งหลายผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ทั้งในอดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล จึงสมาทานการให้ทานด้วยความเคารพไว้เหนือเศียรเกล้า คนชั้นต่ำนั้นย่อมตั้งความปรารถนาที่จะมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อจะมาครอบครองสมบัติในเมืองมนุษย์ ส่วนคนชั้นสูงนั้นย่อมตั้งความปรารถนาที่จะมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อจะมาอาศัยสมบัติในโลกมนุษย์เพื่อบำเพ็ญทานการกุศลสร้างทานบารมีของตนเองให้เต็ม เหมือนดังประวัติของพระเวสสันดรตั้งแต่วันที่ท่านประสูติจากครรภ์พระมารดา ท่านขอทรัพย์จากพระมารดาคือพระนางผุสดีเพื่อจะบริจาคแก่ยาจก และท่านก็ได้บริจาคทานตลอดจนชั่วชีวิต ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ท่านมั่งคั่งร่ำรวยอยู่ในฐานะกษัตริย์ หรือเวลาที่ท่านต้องระหกระเหินซัดเซพเนจร ท่านจะสมาทานการให้ทานโดยเคารพตามความต้องการของผู้ขออยู่ตลอดชีวิต ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าคนชั้นต่ำนั้นเกิดขึ้นมาในโลกมนุษย์เพื่อสะสม ส่วนคนชั้นสูงเกิดขึ้นมาในโลกมนุษย์เพื่อสละเพื่อจำแนกทาน เพื่อบริจาค เพื่อเกื้อกูลแก่ประชุมชน แม้จะต้องเสียสละผลประโยชน์ชื่อเสียง ลาภยศหรือแม้แต่สละเลือดเนื้อและชีวิตก็ยินยอมทุกเมื่อ การให้ทานของบัณฑิตนั้นท่านให้ทานเพื่อสละจริงๆ มิใช่ให้ทานเพื่อครอบครอง การให้ทานเพื่อครอบครองนั้นเป็นอย่างไรเล่า การให้ทานเพื่ออ้างบุญคุณเพื่อทวงบุญคุณชื่อว่าครอบครองผู้รับทาน การให้แล้วตามไปดู ตามไปหวง ตามไปห่วงสิ่งของที่ให้ไปแล้วว่าผู้รับเขาเอาของเราไปทำอะไร เอาไปใช้หรือเอาไปทิ้ง อย่างนี้ชื่อว่า ครอบครองสิ่งของ คือหมายความว่ามือนั้นให้สิ่งของไปแล้วแต่ใจยังไม่ได้ให้เพราะยังตามไปดู ตามไปหวง ตามไปห่วงอยู่ การให้เพื่อได้หน้า ให้เพื่อเอาหน้า ให้เพี่ออวดคน ชื่อว่าครอบครองตนเอง ฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลายจงสำเหนียกให้ดีว่า เราจะให้ทานเพื่อสละ เราจะไม่ให้ทานเพื่อครอบครอง เพราะว่าการให้ทานเพื่อให้ได้ "หัวใจดวงที่คิดสละ" คือการให้ที่สูงสุด เป็นการให้ทานที่พระอริยเจ้าทั้งปวงสรรเสริญ การให้นั้นมีหลายอย่างคือ การให้สิ่งของ ให้การช่วยเหลือ ให้การชี้แนะ ให้โอกาส ให้การยอมรับ ให้การต้อนรับ ให้ส่วนบุญกุศล ให้ความเป็นใหญ่ ให้อำนาจ ให้อิสระ ให้อภัย และให้ธรรมะ แต่จะให้สิ่งใดก็ตามที จงให้เพื่อสละ อย่าให้เพื่อครอบครอง จึงจะเกิดอานิสงส์ไพศาลของการให้ทานอย่างแท้จริง เพราะว่าการให้ทานเพื่อสละย่อมนำเกื้อหนุนผู้บริจาคทานให้เข้าถึงนิพพานได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากว่าความหมายของความวิมุตติหลุดพ้นนั้นคือการสละ การละ การวาง การหยุด และการพอ นั่นเอง

นิทานเรื่อง นางกุลธิดามาทางอากาศ

นิทานเรื่องนี้มาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีเรื่องว่ายังมีนางกุลธิดาผู้หนึ่งอาศัยอยู่ในบ้านวัตตกาลคาม อันเป็นที่อาศัยโคจรบิณฑบาตแห่งภิกษุวัดคิริกัณฑวิหาร ดังได้ยินมาว่า มารดาบิดาของกุลธิดาผู้นั้น เมื่อจะไปวัดเพื่อฟังธรรมในเวลาหัวค่ำ ต้องการจะให้นางกุลธิดาเฝ้าบ้านจึงสั่งว่า "นี่นางหนูเจ้าเป็นสาวเป็นแส้ ยามค่ำคืนไม่ควรออกจากบ้าน พวกเราเมื่อไปไหว้พระเจดีย์ฟังธรรมเทศนาแล้วจะเอาบุญมาฝากเจ้า เจ้าจงเฝ้าบ้านให้ดี" เมื่อสั่งดังนี้แล้วจึงเดินจากบ้านไป ฝ่ายนางกุลธิดาแม้อยากไปใจจะขาดแต่ก็ไม่อาจฝืนคำของมารดาได้ จึงเดินออกมาที่ชานเรือนซึ่งสามารถแลเห็นลานพระเจดีย์บนเขาคิริกัณฑกะที่มีแสงจันทร์ส่องถึง ได้เห็นการบูชาพระเจดีย์ด้วยประทีป ได้เห็นพุทธบริษัททั้งหลายทำการบูชาเจดีย์ด้วยเครื่องบูชาต่างๆ มีดอกไม้ และของหอมเป็นต้นแล้วทำประทักษิณกันอยู่ และได้แว่วยินเสียงสาธยายของหมู่ภิกษุด้วย นางกุลธิดาจึงได้รำพึงอยู่ในใจว่า "พวกเขาช่างมีบุญจริงหนอ ที่ได้ไปวัดแล้วได้เดินไปมาที่ลานพระเจดีย์เช่นนั้น และได้ฟังธัมมีกถาอันไพเราะ" พลางเบิ่งตามองดูพระเจดีย์อันสุกปลั่งเช่นกับกองไข่มุกอยู่นั่นเอง อุพเพงคาปีติคือปีติอันแรงกล้าก็ได้บังเกิดขึ้นในขันธสันดานของนาง นางได้โลดลิ่วไปในอากาศมาลงที่ลานพระเจดีย์บนเขาก่อนบิดามารดาของนางจะมาถึงเสียอีก นางจึงไปไหว้พระเจดีย์แล้วยืนฟังธรรมอยู่ พอบิดามารดาของนางมาถึงจึงได้เข้ามาทักนางว่า "นี่นางหนู เจ้ามาทางไหนกัน" นางบอกว่า "หนูมาทางอากาศค่ะแม่ ไม่ได้มาตามทางเดิน" แล้วจึงถูกซักว่า "นี่แม่คุณ อันทางอากาศนั้นพระอรหันต์จึงจะไปมาได้ เจ้ามาได้อย่างไรกัน" นางกุลธิดาจึงบอกว่า "เมื่อหนูกำลังยืนแลดูพระเจดีย์ที่อาบไล้แสงจันทร์อยู่ที่ชานบ้าน ปีติอันมีกำลังกล้ามีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ก็ได้บังเกิดขึ้นในจิตหนู ครั้นแล้วหนูก็ไม่รู้ความที่ตนยืน มิได้รู้ความที่ตนนั่งเลย รู้แต่ว่ามันโลดไปในอากาศตามนิมิตที่จิตถือเอานั้นเอง แล้วก็มายืนอยู่ที่ลานพระเจดีย์นั้น"

จบนิทานเรื่องนางกุลธิดามาทางอากาศ ตามศัพท์ภาษาธรรมะนั้นคำว่า อุพเพงคาปีตินั้นเป็นปีติอย่างแรงถึงขนาดทำกายให้โลดไปในอากาศได้

นิทานเรื่องพระพุทธรูปมารเนรมิต

นิทานเรื่องนี้มาในคัมภีร์พระปฐมสมโพธิกถา และคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีความว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๒๑๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์ ณ เมืองปาฏลีบุตร พระองค์มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ทรงสร้างเจดีย์ขึ้นมา ๘๔,๐๐๐ องค์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา พระองค์มีพระประสงค์จะฉลองพระเจดีย์เป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงได้ตรัสขอพระภิกษุผู้มีอภิญญาฤทธานุภาพองค์หนึ่งจากคณะสงฆ์ เพื่อคอยป้องกันภัยจากพระยามารอันจะมาทำอันตรายต่อกิจการอันเป็นกุศลทั้งหลาย คณะสงฆ์จึงแนะนำพระอรหันต์องค์หนึ่งนามว่าพระอุปคุตให้แก่พระราชา พระราชาจึงขออาราธนาพระอุปคุตช่วยปราบปรามพระยามารให้ด้วย เมื่อพระยามารมาแสดงฤทธิ์ทำลายการงานกุศล พระอุปคุตจึงจับพระยามารไปมัดติดไว้กับภูเขาเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จนพระยามารถึงกับสิ้นพยศกล่าวคำปรารถนาพุทธภูมิขึ้นมา จึงนับว่ากลับตัวกลับใจ เลิกทำตัวต่อต้านพระพุทธศาสนา พระอุปคุตเถรเจ้าจึงได้ปลดปล่อยพระยามารจากพันธนาการพร้อมทั้งขออโหสิกรรมต่อกันแล้วจึงกล่าวว่า ดูกรพระยามาร อาตมาภาพเมื่อเกิดมาพระศาสดาก็เสด็จปรินิพพานไปเสียแล้วมิได้เคยเห็นในพระรูปแก้ววรกายของพระองค์ ขอท่านจงสงเคราะห์เนรมิตเป็นรูปกายของพระศาสดาจารย์พร้อมด้วยอาการทั้งปวง สำแดงแก่เราให้เห็นประจักษ์ กับทั้งพระอัครสาวกทั้งคู่ให้ปรากฏด้วยฤทธิ์แห่งท่าน ณ กาลบัดนี้ พระยามารกล่าวตอบว่าข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เบื้องว่าข้าพเจ้าจะนฤมิตกายเป็นองค์พระชินสีห์ให้เห็นประจักษ์แล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงอย่าได้ถวายนมัสการข้าพเจ้าเพราะกลัวจะเป็นบาป พระมหาเถรก็รับคำพระยามารจึงได้นัดกันตกลง ณ ที่ตำบลแห่งหนึ่ง พระอุปคุตเถรเจ้าจึงกล่าวเชิญชวนพระภิกษุทั้งหลายเป็นอันมากว่า ผู้ใดอยากจะเห็นรูปกายของพระผู้มีพระภาคบรมศาสดา จงรีบมาประชุม ณ สถานที่นี้ ก็มีพระสงฆ์มากหลายต่างถือธูปเทียนบุปผามาสถิตแวดล้อมพระอุปคุตเถรเจ้า ณ ตำบลแห่งนั้น ในกาลนั้นพระยามารก็นฤมิตกายเป็นองค์พระสัพพัญญูเจ้า ประดับด้วยพระทวัตติงสมหาปุริสลักษณะ เปล่งประภาฉัพพรรณรังสี มีทั้งคู่พระอัครสาวกสถิตในเบื้องซ้ายขวา แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกเป็นบริวารสำแดงแก่ประชุมชน ฝ่ายพระอุปคุตเถร เมื่อได้ทัศนาพระพุทธสรีรรูปกาย กับทั้งมหาสาวกบริวารทั้งหลายปรากฏดังนี้ ก็บังเกิดโลมชาติชูชันด้วยอจลศรัทธา ลืมวาจาที่ปฏิญาณแก่พระยามาร ก็ถวายนมัสการพระพุทธสรีรรูปด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เหล่าพระสงฆ์ก็พร้อมทำการบูชาด้วยในขณะนั้น และในทันทีพระยามารก็อันตรธานกลับกลายรูปมาเป็นอย่างเดิม จึงกล่าวแก่พระมหาเถรว่า ไฉนพระผู้เป็นเจ้าจึงอภิวาทวันทนาแก่ข้าพเจ้า ก็ได้สัญญากันไว้แล้วว่าข้าพเจ้ากลัวจะเป็นบาป พระเถรเจ้าจึงกล่าวว่า ดูกรพระยามาร อาตมามิได้นมัสการซึ่งท่าน แต่กระทำอภิวันทนาการสรีรรูปแห่งพระบรมครูกับทั้งหมู่มหาสาวกทั้งปวง พระยามารได้ฟังก็เกิดจิตอ่อนน้อมในพระพุทธศาสนาแล้วจึงลาจากไป อนึ่งได้ยินว่าในสมาคมนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าพระปุสสเทวเถระผู้อยู่ ณ กัฏฐอันธการวิหาร พระเถระนั้นแม้ยังเป็นภิกษุปุถุชน แต่เป็นผู้มีศรัทธามีศีลาจารวัตรที่ดีงาม เมื่อพระเถระได้เห็นพระพุทธรูปที่มารเนรมิตแล้วรำพึงไปว่า "มารนี่ ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่แท้ๆ ยังเนรมิตพระพุทธรูปได้งดงามน่าเลื่อมใสถึงปานนั้น แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ โดยประการทั้งปวงแล้ว จะงดงามน่าเลื่อมใสถึงปานไหนเล่าหนอ" ดังนี้แล้วพระเถระได้ยังจิตที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสเป็นอารมณ์ให้บังเกิดขึ้น ก็ด้วยอานุภาพแห่งความเลื่อมใสนั้น พระเถระทำการข่มนิวรณ์ทั้งหลายเสียได้แล้ว เป็นผู้มีความปราโมชเหลือล้น น้อมจิตไปสู่วิปัสสนามนสิการในความสิ้นความเสื่อมของสังขาร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในอิริยาบถนั้นเอง

เพราะเหตุที่การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์นั้น นำมาซึ่งผลใหญ่ นำมาซึ่งอานิสงส์ใหญ่ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านจึงแสดงอานิสงส์ของการเจริญพุทธานุสสติ(การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ดังนี้ว่า ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งพุทธานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพมีความยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ความไพบูลย์แห่งศรัทธา ความไพบูลย์แห่งสติ ความไพบูลย์แห่งปัญญา และความไพบูลย์แห่งบุญกุศล เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจ สามารถอดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึกเสมือนประหนึ่งว่าได้อยู่ร่วมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่ง แม้สรีระของเธออันมากด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณ ย่อมเป็นร่างอันควรแก่การบูชาประดุจเรือนแห่งพระเจดีย์ จิตของเธอย่อมน้อมไปเพื่อการสร้างบารมีไปสู่พุทธภูมิ อนึ่ง ในเมื่อมีการประจวบเข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด หิริโอตตัปปะความละอายต่อบาปและความเกรงกลัวต่อบาปโดยปริมาณยิ่งย่อมจะปรากฏแก่เธอ ราวกับว่าเธอเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เฉพาะหน้า อนึ่งพุทธานุสสติย่อมเกื้อหนุนกุศลธรรมและความเจริญรุ่งเรืองทางธรรมอย่างยิ่งแก่เธอ เธอย่อมง่ายดายต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตราบใดที่เธอยังไม่ถึงนิพพาน เธอผู้มากด้วยพุทธานุสสตินั้น ย่อมรื่นเริงบันเทิงอยู่ในสุคติภพ

เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาดี พึงทำความไม่ประมาทขวนขวายในการเจริญพุทธานุสสติอันมีอานุภาพมากอย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ

สัทธาดิลก เรียบเรียงมาจาก พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย อุทาน, คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน, คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก, คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ, คัมภีร์พระปฐมสมโพธิกถา ของ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, คัมภีร์สารัตถสังคหะ, คัมภีร์อานิสงส์ ๑๐๘, หนังสือพุดตานกถา โดย หลวงพ่อชุมพล พลปญฺโ?