พระมุนินทรจอมไตรภพ
๑. กาลวิบัติ คือกาลเวลาที่โลกว่างเปล่าจากพระพุทธศาสนา กาลเวลาเช่นนี้นั้นเล่า ก็ประดุจกาลเวลาที่ไร้ประทีปแสงแห่งธรรมมาประดับโลก สัตว์ทั้งหลายก็จะต้องตกอยู่ภายใต้กิเลสราคะ โทสะ โมหะ อันรุนแรงแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีแสงแห่งธรรมมาเปิดให้พ้นจากความมืดมิดลงได้บ้าง ๒. คติวิบัติ คือที่ไปไม่ดี หมายถึงแม้ว่าจะเป็นกาลเวลาที่บังเกิดปรากฏขึ้นแห่งพระพุทธศาสนานั้นก็ตามที แต่ยังมีสัตว์ที่อาภัพอับโชค บุญน้อย วาสนาไม่มี ต้องไปอุบัติบังเกิดในภพภูมิที่ไม่เจริญ ไม่ได้โอกาสรับแสงธรรมอันประเสริฐ คือ ต้องไปเกิดในนรก เกิดในภูมิเปรต เกิดในแดนอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ชื่อว่าเสียโอกาสทองไปอย่างน่าเสียดาย เพราะว่าที่ไปไม่ดี คือคติวิบัตินั่นเอง ๓. ประเทศวิบัติ คือวิบัติที่อยู่ หมายถึงแม้ว่าจะเป็นกาลเวลาที่พระพุทธศาสนาอุบัติ สัตว์ผู้นั้นก็ได้มาเกิดเป็นภูมิมนุษย์ แต่ไปเกิดในเขตแดนที่พระพุทธศาสนาแพร่ไปไม่ถึง นั่นก็ชื่อว่าประเทศวิบัติ ๔. ตระกูลวิบัติ หมายถึงแม้ว่าสัตว์จะไปบังเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา แต่กลับไปเกิดในตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่มีโอกาสเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีโอกาสกล่าวคำว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ พลาดโอกาสทองไปอย่างน่าเสียดาย ๕. อุปธิวิบัติ หมายถึงแม้จะเกิดมาในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว แต่ตัวเรากลับมีอาการไม่สมประกอบ คือเป็นบ้าใบ้ เสียจริต จิตวิปลาส จึงไม่มีโอกาสจะรับรู้ความประเสริฐแห่งพระพุทธศาสนาได้ ๖. ทิฏฐิวิบัติ หมายถึงแม้จะเกิดมาในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิและสุขภาพร่างกายสมประกอบครบ ๓๒ แต่ตนเองกลับเป็นคนใฝ่ต่ำ ชอบทำชั่ว ไม่สนใจธรรม มีความเห็นผิดว่า บุญไม่มี บาปไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี จึงไม่ได้โอกาสรับรู้ความประเสริฐแห่งพระพุทธศาสนาไปอีก เมื่อเราสำรวจดูว่าเราพ้นจากวิบัติทั้ง ๖ ประการแล้วก็อย่านิ่งนอนใจ จงหมั่นสร้างบุญบารมี ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้ขาวรอบ อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เพราะการอุบัติบังเกิดของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์นั้นยากมาก เพราะว่าในแต่ละกัปนั้น บางทีในเวลาตลอดกัปไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเลย เรียกว่า สุญกัป สุญกัปนั้นมีปรากฏบังเกิดขึ้นบ่อยนัก หมายความว่า กัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัตินั้นมีบ่อยนัก ส่วนกัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติมีน้อย กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๑ องค์เรียกว่าสารกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๒ องค์เรียกว่ามัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๓ องค์เรียกว่าวรกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๔ องค์เรียกว่าสารมัณฑกัป กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ องค์เรียกว่าภัทรกัป กัปปัจจุบันนี้เป็นภัทรกัป มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๕ องค์ คือ ๑. พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. พระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้า ๓. พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๓ องค์นี้ได้ผ่านไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๔ ของกัปนี้ คือ พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตภายในกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นอีกองค์หนึ่ง คือ พระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามว่าชั่วเวลา ๑ กัป นานแค่ไหน ตอบว่านานมาก นานจนบอกไม่ได้ว่ากี่ปีต้องใช้คำอุปมา ท่านอุปมาว่ามีภูเขาหินแท่งทึบกว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ (๑ โยชน์ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร) ทุก ๑๐๐ ปีจะมีเทวดาเอาผ้าทิพย์ซึ่งเบาบางประดุจควันไฟ มาปัดภูเขานั้นด้วยผ้าทิพย์ผืนบาง ๑ ครั้ง อีก ๑๐๐ ปีก็เอาผ้าทิพย์มาปัดภูเขาหินลูกนี้ ๑ ครั้ง ทำเช่นนี้ไปทุก ๑๐๐ ปี จนกว่าภูเขาหินนี้จะสึกเหี้ยนราบเป็นหน้ากลองเมื่อไหร่ ช่วงเวลานั่นนับเป็น ๑ กัป หรืออีกอุปมาหนึ่งท่านว่า มีบ่อกว้างยาวลึกอย่างละโยชน์ ทุกเวลา ๑๐๐ ปีมีเทวดาเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาทิ้ง ๑ เม็ด เป็นอย่างนี้จนกว่าบ่อนี้จะอัดแน่นเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด ช่วงเวลานั่นนับเป็น ๑ กัป ฉะนั้นช่วงเวลา ๑ กัปจึงนานมากเหลือเกินไม่อาจบอกว่ากี่ปี จะกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ผู้ที่สร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้นมี ๓ ประเภท คือ ๑. พระปัญญาธิกพุทธเจ้า ต้องสร้างบารมี ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป ๒. พระสัทธาธิกพุทธเจ้า ต้องสร้างบารมี ๘ อสงไขยกับอีกแสนกัป ๓. พระวิริยาธิกพุทธเจ้า ต้องสร้างบารมี ๑๖ อสงไขยกับอีกแสนกัป นั่นแสดงว่ากว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างบารมีสำเร็จจนได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นนานมาก ถ้ามีคำถามว่า ๑ อสงไขย เท่ากับเท่าไหร่ ท่านกล่าวว่าถ้ามีฝนห่าใหญ่ตกติดต่อกันเป็นเวลา ๓ ปี นับเม็ดฝนได้เท่าไหร่นั่นแหละเท่ากับ ๑ อสงไขย หรือท่านกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ๑ อสงไขยนั้นให้เอาหนึ่งตั้งแล้วเติมเลขศูนย์ไปอีก ๑๔๐ ตัว นั่นเท่ากับ ๑ อสงไขย สำหรับบารมีที่พระโพธิสัตว์ต้องสร้างสมอบรมเพื่อการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้านั้นมี ๑๐ ประการ ๑. ทานบารมี ทานนั้นเป็นความดีอันดับแรก เป็นทางใหญ่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายได้ประพฤติตามกันมาแล้ว พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานการให้ทานเป็นนิจไว้ให้มั่นคงเป็นอันดับแรกเพื่อการบรรลุพระโพธิญาณ อันหม้อที่เต็มด้วยน้ำอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อวางคว่ำปากลงก็จะสำรอกน้ำออกไม่มีเหลือเลย ไม่รักษาน้ำไว้ในหม้อนั้น แม้ฉันใด พระโพธิสัตว์ เมื่อเห็นยาจก ทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงแล้ว ย่อมจะให้ทานไม่เหลือเลย เหมือนหม้อน้ำที่คว่ำปาก ฉันนั้นเหมือนกัน ๒. ศีลบารมี ศีลเป็นความดีอันดับสอง ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานศีลไว้ให้มั่นเป็นบารมีอันดับสอง เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันตัวจามรีย่อมเป็นสัตว์ที่รักษาขนยิ่งนัก แม้ขณะหนีภัยถ้าหากขนไปติดไปข้องกับกิ่งไม้พุ่มไม้ใดจะไม่ยอมดึงกระชากให้ขนขาดย่อมจะหยุดเพื่อปลดขนให้หลุดก่อนจึงจะวิ่งต่อไปแม้ชีวิตก็มิได้อาลัย พระโพธิสัตว์ก็ย่อมสงวนรักษาศีลของตนยิ่งกว่าการสงวนรักษาชีวิต ปกป้องรักษาศีลทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนฉันนั้นเหมือนกัน ๓. เนกขัมมบารมี คือการออกบวชเป็นความดีอันดับสาม ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานเนกขัมมะเป็นบารมีอันดับสาม เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันบุรุษขี้คุกที่อยู่ในเรือนจำมานานจนอึดอัดระอา ย่อมไม่เกิดความรักในเรือนจำนั้น แสวงหาทางพ้นอย่างเดียวฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมเห็นเพศฆราวาสเหมือนเรือนจำ มุ่งหน้าต่อเนกขัมมะ เพื่อหลุดพ้นจากภพชาติ ฉันนั้นเหมือนกัน ๔. ปัญญาบารมี คือความรอบรู้เป็นความดีอันดับสี่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานปัญญาเป็นบารมีอันดับสี่ เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมจะเดินรับอาหารโดยเคารพไปตามลำดับเรือน ทั้งตระกูลชั้นต่ำชั้นกลางชั้นสูง ถ้ามีผู้ใดเกิดศรัทธานำอาหารมาใส่บาตร ก็ย่อมจะน้อมกายถ่อมองค์ลงรับก้อนข้าวด้วยความเคารพในบิณฑบาตทานเสมอกันมิแบ่งชั้นวรรณะฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมจะเข้าไปแสวงหาความรู้รับโอวาทจากนักปราชญ์ทั้งหลายโดยเคารพเสมอกันไม่แบ่งชั้นวรรณะว่านักปราชญ์ผู้นั้นอยู่ในชั้นต่ำชั้นกลางชั้นสูง ฉันนั้นเหมือนกัน ๕. วิริยบารมี คือความเพียรเป็นความดีอันดับห้า ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานวิริยะเป็นบารมีอันดับห้า เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันพญาราชสีห์มฤคราชนั้นย่อมมีความเพียรไม่ท้อถอยในอิริยาบถนอน ยืน เดิน ประคองใจอยู่ทุกเมื่อ ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมจะประคองความเพียรในกิจน้อยใหญ่ ประคองใจทุกเมื่อไม่ท้อแท้ในกิจการทั้งปวง ฉันนั้นเหมือนกัน ๖. ขันติบารมี คือความอดทนเป็นความดีอันดับหก ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานขันติเป็นบารมีอันดับหก เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันว่าแผ่นดินย่อมทนต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงมา สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง หอมบ้างเหม็นบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ทำความยินดียินร้ายฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมอดทนอดกลั้นต่อการยกย่อง และการดูหมิ่นของชนทั้งปวง ฉันนั้นเหมือนกัน ๗. สัจจบารมีคือความสัจจริง เป็นความดีอันดับเจ็ด ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานสัจจะเป็นบารมีอันดับเจ็ด เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันว่าดาวประกายพรึกนั้นเป็นดังตาชั่งของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่ว่าฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ไม่โคจรออกนอกวิถีโคจรเลย ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมจะไม่เดินออกนอกวิถีทางในสัจจะทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ๘. อธิษฐานบารมีคือความตั้งใจมั่น เป็นความดีอันดับแปด ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานอธิษฐานเป็นบารมีอันดับแปด เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันว่าภูเขาหินแท่งทึบ มั่นคง ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยแรงลมพายุอันกล้า ย่อมตั้งอยู่ในฐานของตนไม่มีอะไรมาสั่นคลอนได้ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมจะไม่หวั่นไหวสั่นคลอนในอธิษฐานที่ตั้งใจจะสร้างความดีให้บริบูรณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน ๙. เมตตาบารมีคือความปรารถนาดีด้วยจิตบริสุทธิ์ เป็นความดีอันดับเก้า ที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานเมตตาเป็นบารมีอันดับเก้า เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันว่าธรรมชาติของน้ำนั้น ย่อมแผ่ความชุ่มเย็นให้เสมอกัน ทั้งในคนดีและคนชั่ว ทั้งในคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ย่อมจะแผ่เมตตาด้วยจิตอารีไปสม่ำเสมอ ทั้งในคนที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และคนที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ฉันนั้นเหมือนกัน ๑๐. อุเบกขาบารมีคือความวางเฉย เป็นความดีอันดับสิบที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งหลายพากันส้องเสพอยู่เป็นประจำ พระโพธิสัตว์ย่อมสมาทานอุเบกขาเป็นบารมีอันดับสิบเพื่อจะเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระโพธิญาณ อันว่าธรรมดาของแผ่นดินย่อมวางเฉยต่อสิ่งของที่เขาทิ้งลง ไม่ว่าของสะอาดหรือไม่สะอาด ไม่มีความยินดียินร้ายในสิ่งทั้งสองประเภท แม้ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็จะตั้งจิตเป็นกลางในสุขและทุกข์ทุกเมื่อ ฉันนั้นเหมือนกัน ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นบารมีทั้ง ๑๐ ประการที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญเพื่อเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แต่ในบารมีนั้นยังแยกออกเป็นบารมีขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงอีก คือแยกเป็น บารมี อุปบารมีและปรมัตถบารมี การแบ่งบารมีนั้นแบ่งตามความยากง่าย อุปสรรคมากอุปสรรคน้อย อย่างเช่นการสร้างบารมีถ้าไม่มีอะไรมาขัดขวางก็ชื่อว่าบารมี แต่ถ้ามีอุปสรรคมาขัดขวางทำให้เจ็บป่วยอวัยวะพิกลพิการก็ยังทนทำจนสำเร็จไม่ย่อท้อก็เรียกว่าอุปบารมี ยิ่งถ้ามีอุปสรรครุนแรงอันอาจจะทำให้สิ้นชีวิตยังทนทำจนลุล่วงไม่หวั่นกลัวต่อมรณภัยก็เรียกว่า ปรมัตถบารมี อย่างเช่นการให้ทาน ถ้าให้สิ่งของธรรมดานั้นจัดว่าเป็นทานบารมี ถ้าให้อวัยวะนั้นจัดว่าเป็นทานอุปบารมี ถ้าสละชีวิตเป็นทานนั้นจัดเป็นทานปรมัตถบารมี บัดนี้จะยกตัวอย่างการบำเพ็ญทานปรมัตถบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งภายหลังท่านได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องนี้คือเรื่อง สสบัณฑิตจริยา ซึ่งมาในคัมภีร์จริยาปิฎก ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เรื่องมีดังนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้เล่าเรื่องจริยาในอดีตชาติที่ท่านยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ว่า ในกาลเมื่อเราเป็นกระต่ายเที่ยวอยู่ในป่า มีหญ้า ใบไม้ ผัก และผลไม้เป็นภักษาเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น ในกาลนั้น ลิง สุนัขจิ้งจอก ลูกนาก และเรา รวมเป็น ๔ ได้เป็นสหายอยู่ร่วมกัน มาพบกันทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เราสั่งสอนสหายเหล่านั้นในกุศลธรรมและอกุศลธรรม ว่าท่านทั้งหลายจงเว้นบาปกรรมเสีย จงตั้งอยู่ในกรรมอันงดงาม เราเห็นพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถจึงบอกแก่สหายเหล่านั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายจงตระเตรียมทานทั้งหลายเพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล ครั้นให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้วจงรักษาอุโบสถศีล สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า สาธุ แล้วได้ตระเตรียมทานต่างๆ ตามสติกำลัง แล้วแสวงหาทักขิไณยบุคคล ส่วนเรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน งา ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และข้าวสารของเราไม่มี เพราะเราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจให้หญ้าได้ ถ้าทักขิไณยบุคคลมาสักท่านหนึ่งเพื่อขอในสำนักเรา เราจะพึงให้ร่างกายของเรา เพราะว่าร่างกายของเราเป็นของที่ควรจะบริโภคได้ ทักขิไณยบุคคลจักไม่กลับไปมือเปล่า บัดนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบความดำริของเรา จึงได้แปลงเพศมาเป็นพราหมณ์เสด็จมายังสำนักของเรา เพื่อจะทรงทดลองทานบารมีของเรา เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านมาถึงในสำนักของเราเพราะเหตุแห่งอาหารกระมัง เป็นการดีแล วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐที่ใครใครไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน ท่านจงไปนำเอาไม้ต่างๆ มาก่อไฟขึ้น เราจักปิ้งตัวของเราท่านจักได้กินเนื้อที่สุก พราหมณ์นั้นรับคำแล้วจึงนำเอาไม้ต่างๆ มาทำเชิงตะกอนใหญ่ ทำเป็นห้องอันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงอันลุกโพลง เราสลัดตัวอันมีธุลีให้สะอาดแล้วเข้าไปนั่งรอ เมื่อกองไม้นั้นไฟติดทั่วแล้ว ในกาลนั้น เราโดดลงในท่ามกลางระหว่างเปลวไฟ ด้วยใจที่เบิกบานดุจพญาหงสาโดดลงในกอปทุมฉะนั้น เมื่อเราเข้าไปในไฟที่ลุกโพลงเห็นปานนั้น มิได้มีความรู้สึกร้อนแม้เพียงขุมขน จึงได้กล่าวแก่พราหมณ์ว่า ท่านพราหมณ์ เหตุใดไฟจึงมิได้ร้อนขึ้นมาได้ พราหมณ์กล่าวว่า ดูกรท่านบัณฑิต ข้าพเจ้ามิใช่พราหมณ์ดอก ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกเทวราช มาทำอย่างนี้เพื่อประสงค์ทดลองทานของท่าน ลำดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า ท่านสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านนี้จงปรากฏแก่มวลชนไปตลอดกัปเถิด แล้วทรงบันดาลด้วยเทวฤทธิ์ให้ปรากฏเป็นรูปกระต่ายไว้ ณ จันทรมณฑล เพื่อว่าเมื่อชาวโลกได้เห็นรูปกระต่ายที่ดวงจันทร์แล้วจะได้ระลึกถึงจิตเจตนามหากุศลอันยิ่งใหญ่ในการบริจาคชีวิตพร้อมด้วยเลือดเนื้อขนหนังเอ็นกระดูกและหัวใจของท่านสสบัณฑิต อันจัดเป็นทานปรมัตถบารมี แล้วท้าวสักกะจึงรับท่านสสบัณฑิตโพธิสัตว์มานอนบนตั่งหญ้าแพรกอ่อนจากนั้นจึงเสด็จกลับเทวโลก ดังที่ได้พรรณนามานั้นเป็นเรื่องการสร้างทานปรมัตถบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ ซึ่งกว่าท่านจะบรรลุพระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ได้สร้างบารมีอันยิ่งใหญ่เช่นนี้เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น แต่ได้ทรงสร้างบารมีอันยิ่งใหญ่ไว้มากมายนักหนา ในเวลาแห่งการสร้างบารมีที่มากกว่า ๔ อสงไขยกำไรแสนมหากัปนั้น ท่านต้องทรงสร้างสมอบรมพระบารมีมาอย่างยิ่งยวด มิได้ทรงเอื้อเฟื้ออาลัยไยดีต่อร่างกายและชีวิต ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ถึงการบริจาคทานภายในของท่านไว้ดังนี้ว่า พระองค์ทรงบริจาคโลหิตเป็นทานนั้นมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ พระองค์ทรงบริจาคเนื้อเป็นทานนั้น มากกว่าแผ่นดินทั้งปฐพี พระองค์ทรงตัดพระเศียรซึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการให้เป็นทานนั้น มีจำนวนมากกว่าผลมะพร้าวทั้งชมพูทวีป พระองค์ทรงควักพระเนตรซ้ายขวาออกมาให้เป็นทานนั้นมีจำนวนมากกว่าดวงดาวในนภากาศ พระองค์ทรงผ่าทรวงอกเพื่อควักพระหฤทัยออกมาบริจาคให้เป็นทานนั้น มีจำนวนมากกว่าดอกบัวทั้งหมดในชมพูทวีป นี่เป็นเรื่องที่นำมากล่าวพอสังเขปเพื่อจะได้ให้ท่านสาธุชนได้รับรู้รับทราบว่า กว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นลำบากยากเข็ญเพียงไร กว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแต่ละพระองค์นั้นลำบากยากเข็ญเพียงไร ฉะนั้นการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะได้บังเกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนาได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ได้ศรัทธาในพระธรรม ได้ศรัทธาในพระอริยสงฆ์สาวกนั้น ถือว่าเป็นบุญวาสนาอันหาได้ยาก ฉะนั้นท่านสาธุชนผู้ได้ประสบพบพระพุทธศาสนาแล้ว จงอย่านิ่งนอนใจ อย่าปล่อยเวลาผ่านไปเปล่า จงขวนขวายสร้างความดี สร้างบุญบารมี ละชั่ว ทำดี เจริญกุศล ให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ไหว้พระ ฟังพระธรรมเทศนา เล่าเรียนศึกษาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ ฝึกสมาธิวิปัสสนา เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน อย่าให้เวลาผ่านไปเปล่า เพราะว่าเวลาที่ล่วงเลยไปนั้นมิใช่ล่วงเลยไปแต่วันเวลา ยังนำเอาชีวิตของเราให้ล่วงเลยไปใกล้พระยามัจจุราชเข้าไปทุกที ชีวิตคนมิใช่ยั่งยืนยาวไกลจงอย่าอยู่อย่างประมาท ที่ว่าอยู่อย่างประมาทคือมิได้ขวนขวายละชั่วประพฤติดี ชีวิตของเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน คือแน่นอนว่าจะต้องตาย เพราะว่าเมื่อเกิดมาก็พาความตายมาด้วย ความตายเป็นของที่อยู่ในพกในห่อ ไปไหนก็เอาไปด้วย ชีวิตก็คือความใกล้ตาย ก่อนตายก็คือมีชีวิต ความเที่ยงแท้นั้นคือของหลอกลวง ความแตกดับทำลายคือของจริง เมื่อยังมีลมหายใจอยู่จงพากันขวนขวายหาสิ่งประเสริฐให้แก่ชีวิต โดยการละชั่วประพฤติดี ทำจิตให้ขาวรอบ อย่าปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยไปเปล่า เพราะว่าผู้ประมาทย่อมไปยัดเยียดอยู่ในนรก ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด เมื่อเราเหล่าท่านสาธุชนทั้งหลายได้รับรู้รับทราบแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านสร้างบารมีมาเพื่อโปรดสัตว์โลกให้พ้นทุกข์นั้น ด้วยน้ำพระทัยที่ยิ่งใหญ่ปานใด ดังนั้นท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงควรจะขวนขวายตอบแทนพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอ การตอบแทนบุญคุณของพระพุทธเจ้านั้นแบ่งได้ ๒ อย่างคือ ๑.อามิสบูชา ได้แก่การบูชาพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ธูปเทียนของหอม สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นตัวแทนองค์แทนของท่าน สร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงพระองค์ท่าน สร้างวัดวาอารามบำรุงพระภิกษุสามเณรให้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เหล่านี้เรียกว่าการบูชาด้วยวัตถุเป็นอามิสบูชา ๒.ปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติตามโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านแสดงไว้ มีการให้ทาน รักษาศีล๕ ศีล๘ บวชเป็นภิกษุ สามเณร สวดมนต์ ไหว้พระ ประพฤติธรรม เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการรู้ธรรมเห็นธรรมตามพระองค์ดังนี้ ชื่อว่าการบูชาโดยการทำตามโอวาท เป็นปฏิบัติบูชา ถ้าจะถามว่าการบูชาทั้ง ๒ อย่างนั้น สิ่งไหนประเสริฐกว่ากัน ก็อุปมาเปรียบเทียบว่า ลูกที่นำของมากำนัลกับลูกที่ประพฤติตามโอวาท ลูกชนิดไหนเป็นที่พอใจของบิดามารดามากกว่า ก็จะได้คำตอบว่าลูกที่ประพฤติตามโอวาทนั่นเองทำให้พ่อแม่ปลาบปลื้มใจมากกว่านำสิ่งของอันใดมากำนัล ฉะนั้นการประกอบอามิสบูชานั้นถึงแม้จะดีอยู่แต่ก็ไม่ดียิ่ง สู้การปฏิบัติบูชามิได้ เพราะว่าการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างบารมีมามากมายนั้น ท่านมิได้ต้องการเพียงดอกไม้ธูปเทียนของหอมเท่านั้น แต่ท่านมีความประสงค์ต้องการให้มีผู้ปฏิบัติตามท่านแล้วได้พ้นทุกข์ตามท่าน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนท่านใดที่ขวนขวายปฏิบัติธรรมตามโอวาทของพระศาสดา เจริญทาน ศีลภาวนา นั้นคือการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการบูชาที่สูงสุด ฉะนั้นจึงขอให้ท่านสาธุชนอย่าได้ประมาทในวันเวลา จงพากันละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตใจให้ขาวรอบ กระทำตามโอวาทของพระศาสดาอยู่เถิด ถือว่าเป็นการตอบแทนพระคุณของพระองค์โดยการทำให้การตรัสรู้ของพระองค์ไม่เป็นหมัน คือได้มีผู้เชื่อฟัง ปฏิบัติตามคำสอน จะได้พ้นทุกข์ตามพระองค์ไป สมตามปณิธานที่พระองค์สู้อุตส่าห์ทนทุกข์ทรมานสร้างสมอบรมพระบารมีมาอย่างลำบากยากเข็ญก็เพื่อจะช่วยรื้อสัตว์ขนสัตว์ทั้งหลายให้รอดพ้นจากภัยพิบัติการเกิดแก่เจ็บตายอันไม่รู้จักจบสิ้นในวัฏฏสงสารอันเนิ่นนานยาวไกลนี้ ธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้จะได้เป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย มิเช่นนั้นก็จะคล้ายคนเป็นโรคไม่สนใจยาไม่มารักษาไม่มีวันคลาย เหมือนเป็นโรคไม่สนใจกินยาไม่มารักษาไม่มีวันหาย ธรรมะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบประดุจเป็นเช่นยา ถึงจะดีและมีคุณค่าเพียงใด แต่ถ้าสัตว์โลกถูกกิเลสความมืดบอดบังตามิได้เห็นคุณค่าของพระมหาโอสถอริยสัจ พากันบอกปัดปฏิเสธการดื่มน้ำอมฤตพระจตุราริยสัจอันเป็นโอสถทิพย์เสียแล้ว แม้นยานี้จะดีแค่ไหน เท่าไหร่ เพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกที่กำลังทุกข์เข็ญทรมานด้วยโรคกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดไปได้เลย จะต้องเกิดแล้ว เกิดอีก ตายแล้ว ตายอีก ทุกข์ทรมาน ยากเข็ญเป็นอนันตกัป เวียนว่ายตายเกิด เกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์ทรมานลำบากเหลือร้ายไม่รู้จักจบ โดยที่ไม่รู้จักว่าทุกข์จะหมดสิ้นลงเมื่อใด เพราะสาเหตุที่ตนเองเป็นคนไข้ปฏิเสธยาเสียเอง จึงไม่มีใครจะมาช่วยได้ ต้องร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร ตราบใดที่ยังหลงผิดคิดปฏิเสธยาอยู่ ก็จะต้องทุกข์ทรมานแสนเข็ญไปจนถึงเมื่อนั้น มิมีทางแก้ไข แม้สัตว์ทั้งหลายจะถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะก็ยังปฏิเสธผู้นำน้ำมาให้เพื่อจะดับไฟ จึงเป็นที่น่าสลดสังเวชใจของบัณทิตผู้มีดวงตาเห็นธรรม ความทุกข์ของสัตว์โลกนั้นตราบใดที่ยังไม่รับธรรมเข้ามาสู่ใจก็สุดวิสัยที่จะบรรเทา ดีไม่ดีก็ต้องพลาดท่าไปนั่งหน้าเศร้าอยู่ในอบายภูมิทั้งสี่มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นแดนทรมานนักหนา เมื่อใดที่คิดได้สำนึกได้กลับใจมารับพระธรรมเข้าสู่ใจ มารับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่ง จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางไปสู่ความหมดทุกข์ ฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลายจงกลับตัวกลับใจลดละอบายมุข สละความชั่ว หันมาประพฤติธรรมดำเนินรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงประกาศพระศาสนาเอาไว้ ถ้าเรารับธรรมมาสู่ใจแล้วไซร้จะต้องถึงความสิ้นทุกข์ลงได้สักวัน เพราะว่าธรรมะเป็นเครื่องดับร้อน ดับไฟราคะ ดับไฟโทสะ ดับไฟโมหะ ธรรมะนั้นเป็นเครื่องชำระคือชำระกิเลสความเศร้าหมองให้หมดไปจากใจ ธรรมะจะช่วยดับทุกข์เวรสิ้นภัยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทรมาน จนท้ายที่สุดจะนำผู้ประพฤติธรรมไปสู่มรรคผลนิพพานพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายคือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า พิรี้พิไรรำพัน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ คับแค้นใจ การประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากของรัก ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมหวังดังตั้งใจ ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ดับลงได้ด้วยพระธรรม ฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลาย การเกิดมาเป็นมนุษย์และมีโอกาสพบพระพุทธศาสนานั้น สัตว์ทั้งหลายได้โดยยาก แต่ท่านสาธุชนทั้งหลายก็ได้แล้ว จงปลูกศรัทธาความเพียรให้กล้าแกล้วขวนขวายปฏิบัติธรรม ก็จะยังประโยชน์ให้เกิดผลอันไพบูลย์ สิ้นทุกข์ ดับเย็น เป็นสุข ไปตลอดชั่วกาล เพราะเหตุที่พระศาสดาจารย์ทรงตรัสว่า นิพพานัง ปะระมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขอย่างแท้จริงสุขไม่มีทุกข์เจือปน อันท่านสาธุชนทั้งหลายจะสามารถบรรลุถึง เพราะพระธรรมจะนำไปให้พ้นทุกข์เป็นสุขตลอดกาลทุกเมื่อแล สาธุ อนุโมทนา พระมุนิทรจอมไตรภพ เรียบเรียงจากคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์, คัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก, คัมภีร์ ฎีกามาลัยเทวสูตร |