พุทธมงคลอานิสงส์

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

มงคลที่ ๑. ไม่คบคนพาล (อะเสวะนา จะ พาลานัง)

อย่าได้คบหาสมาคมผูกสมัครรักใคร่ ไปมาหาสู่กับคนพาล

ถามว่าคนพาลคือคนประเภทไหน ก็คือคนที่ตัดทำลายประโยชน์ในชาตินี้และประโยชน์ในชาติหน้า การตัดประโยชน์ในชาตินี้มี ๔ ประการคือ

๑. เป็นคนเกียจคร้านไม่แสวงหาความรู้และทำการงานที่จะนำมาซึ่งลาภผล

๒. ไม่รักษาทรัพย์ของตนด้วยกุศโลบายที่ดี

๓. ใช้จ่ายทรัพย์สินไม่ตามสมควรแก่ฐานะ

๔. ชอบคบคนชั่วช้าคนพาลสันดานหยาบ

สำหรับการตัดประโยชน์ในชาติหน้ามี ๕ ประการคือ

๑. ไม่มีศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย

๒. ไม่มีศีลซึ่งเป็นเครื่องรักษากายวาจาให้เรียบร้อย

๓. ไม่ยินดีในการศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังพระสัทธรรม

๔. มีความตระหนี่ไม่รู้จักการเสียสละบริจาคทาน

๕. ไม่มีปัญญาที่จะพิจารณาสังขารธรรมตามความเป็นจริง

ผู้ที่ตัดทำลายประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้าดังกล่าวข้างต้นชื่อว่าคนพาล พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการไม่คบคนพาลเป็นมงคลอันประเสริฐ ถ้าคบคนพาลแล้วก็เป็นอัปมงคลให้เกิดความฉิบหายทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

มงคลที่ ๒. คบบัณฑิต (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา)

การคบบัณฑิตนั้นนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองสวัสดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เพราะว่าบัณฑิตเป็นผู้แสวงหาประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ผู้ใดไปคบค้าสมาคมก็ย่อมจะชักพาให้ทำความดีคือทานศีลภาวนาเป็นต้น และให้ประพฤติตนอยู่ในสุจริตทั้ง ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กายสุจริต มี ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม วจีสุจริต มี ๔ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดวาจาส่อเสียดยุยงให้คนแตกกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ มโนสุจริต มี ๓ คือไม่โลภคิดลักของผู้อื่น ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวร ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม บัณฑิตนั้นเปรียบเหมือนของหอม ผู้ใดคบค้าสมาคมก็พลอยพาให้กลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจไปด้วย ส่วนคนพาลท่านเปรียบประดุจของเหม็นเช่นปลาเน่า ผู้ใดไปคบค้าสมาคมด้วยย่อมนำพาให้เหม็นคละคลุ้งไป

มงคลที่ ๓ การบูชาสิ่งที่ควรบูชา (ปูชา จะ ปูชะนียานัง)

บุคคลใดกระทำการสักการบูชาแก่วัตถุที่ควรบูชา มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น จัดเป็นมงคลอันประเสริฐเป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลทั้งหลาย การบูชานั้นมี ๒ อย่างคือ อามิสบูชา และปฏิบัติบูชา อามิสบูชาได้แก่การบูชาด้วยวัตถุ ข้าวของต่างๆ อาทิเช่น ดอกไม้ธูปเทียนของหอม ข้าวน้ำ ผ้านุ่งผ้าห่ม เสื่อสาดอาสนะ สร้างวัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร ลานพระเจดีย์ สร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ สระน้ำ ถนนหนทาง สร้างพระพุทธรูป สร้างพระสถูปเจดีย์ เหล่านี้ ถือว่าเป็นอามิสบูชา ส่วนการปฏิบัติบูชานั้นคือ การรักษาไตรสรณาคมน์ รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ รักษากรรมบถ ๑๐ เล่าเรียนพระไตรปิฎกเพื่อยกมาสู่การปฏิบัติการเจริญพระกรรมฐาน คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานเพื่อการละสังโยชน์และกิเลสทั้งหลาย ตามรอยบาทพระศาสดา และพระอริยสาวกทั้งปวงเหล่านี้คือ ปฏิบัติบูชา

สำหรับสิ่งอันควรบูชานั้นได้แก่

๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรมและโลกุตตรธรรม

๒. พระปัจเจกพุทธเจ้าคือผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองแต่มิได้ก่อตั้งศาสนาออกสั่งสอนผู้อื่น

๓. พระธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๔. พระสงฆ์คือสาวกผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำมาปฏิบัติจนสามารถฆ่ากิเลสทำจิตใจเข้าสู่อริยภูมิคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

ทั้ง ๔ ข้อที่กล่าวมานั้นคือสิ่งอันควรบูชาอย่างประเสริฐ เป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลนับประมาณมิได้แก่ผู้บูชา นอกจากนั้นก็ยังมีครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้สั่งสอนวิชาความรู้แก่เรา บิดามารดา ผู้ชุบเลี้ยงดูอุปถัมภ์เรามา พี่หญิงพี่ชาย ญาติทั้งหลายที่มีอายุมากกว่าเรา และคนที่ควรเคารพ ๓ จำพวก ผู้สูงกว่าเราโดยวัยวุฒิ คือมีอายุมากกว่าเรา ผู้สูงกว่าเราโดยคุณวุฒิ คือมีคุณความรู้มากกว่าเรา ผู้สูงกว่าเราโดยชาติวุฒิ คือมีศักดิ์ศรีฐานะสูงกว่าเรา เราก็ควรมีความเคารพอ่อนน้อมต่อท่านเหล่านั้นด้วย

สำหรับอามิสบูชา และปฏิบัติบูชานั้นสิ่งใดมีผลอานิสงส์มากกว่ากัน ก็ขอตอบว่า อามิสบูชานั้นแม้จะมีอานิสงส์มากก็จริงอยู่แต่มีอานิสงส์ไม่เท่ากับปฏิบัติบูชา เพราะว่าการที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองได้ต้องมีการปฏิบัติบูชาให้มาก ถ้ามีลำพังอามิสบูชานั้นพระศาสนาไม่สามารถเจริญรุ่งเรืองได้ ฉะนั้นการที่เรามาปฏิบัติตามโอวาทของท่านที่เราเคารพบูชามีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั้นจึงเป็นการบูชาอันสูงสุด

มงคลที่ ๔ การอยู่ในสถานที่อันสมควร (ปะฏิรูปะเทสะวาโส)

สถานที่ใดที่เป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา มีผู้เคารพบูชาพระรัตนตรัย มีการก่อสร้างมีการรักษา มีการเคารพบูชาพระพุทธรูป และพระเจดีย์ที่พุทธศาสนิกชนสร้างอุทิศถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการจารึกจาร พิมพ์ ป่าวประกาศเผยแผ่ แสดงพระธรรมและพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ มีพระภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา สั่งสอน อุบาสกอุบาสิกาให้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ และเจริญภาวนา สถานที่ดังกล่าวนี้จัดเป็นสถานที่อันสมควรเพราะบุคคลผู้อยู่ในสถานที่เห็นปานนี้ย่อมได้ซึ่งอนุตตริยะทั้ง ๖ คือ

๑. ทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันประเสริฐ เช่นการได้เห็นพระพุทธรูปที่สวยงามน่าศรัทธา การได้เห็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ การได้เห็นรูปพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติชอบ การได้เห็นเหล่าภิกษุสามเณรพร้อมเพรียงกันประกอบกิจโดยธรรม เป็นต้น

๒. สวนานุตตริยะ การได้ฟังอันประเสริฐ เช่นการได้ฟังธรรมะ การได้ฟังเสียงสวดมนต์ เป็นต้น

๓. ลาภานุตตริยะ การได้ลาภอันประเสริฐ คือการได้โอกาสในการเกิดความศรัทธาในคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวกผู้ประพฤติธรรมตามรอยยุคลบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๔. สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันประเสริฐ คือการศึกษาในอธิศีล คือศีลอันยิ่ง อธิจิต คือสมาธิอันยิ่ง อธิปัญญา คือปัญญาอันยิ่ง

๕. ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันประเสริฐ คือการได้บำรุงพุทธเจดีย์ทั้งหลายที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า การได้บำรุงสนับสนุนในการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติ เผยแผ่พระธรรม การได้บำรุงพระสงฆ์ผู้เป็นสุปฏิปันโนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การได้บำรุงเกื้อหนุนหมู่ภิกษุสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันประกอบกิจอันเป็นธรรมเป็นวินัย

๖. อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันประเสริฐ คือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า การระลึกถึงคุณของพระธรรม การระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า

บุคคลใดอยู่ในสถานที่อาณาเขตอันเป็นปฏิรูปเทศคือเป็นเขตที่ตั้งแห่งพระศาสนา ได้โอกาสในการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระศาสดา ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ เพราะว่าจะได้ซึ่งอุปนิสัยปัจจัยแก่มรรคผล ยกตนให้พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย และทุกข์ทั้งปวง

มงคลที่ ๕ ความเป็นผู้ทำบุญไว้แล้วแต่ปางก่อน (ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา)

บุคคลใดแต่ชาติก่อนได้เคยเพียรก่อสร้างสั่งสมในกองบุญกองกุศลทั้งหลาย มีทานการให้ข้าวน้ำผ้าผ่อนท่อนสไบเสนาสนะที่อยู่อาศัยเป็นต้น ศีลการสำรวมระวังกายวาจาให้เรียบร้อย เจริญภาวนาบำเพ็ญพระกรรมฐาน ฟังพระสัทธรรมเทศนา และการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น ชื่อว่าได้เคยก่อสร้างบุญมาในกาลก่อน จัดเป็นความมงคลอันประเสริฐ เพราะว่าเมื่อบุคคลใดได้เคยสร้างบุญกุศลมาในปางก่อน ย่อมนำให้สำเร็จในสมบัติทั้ง ๓ ประการ คือ

๑. มนุษย์สมบัติ คือสมบัติในเมืองมนุษย์

๒. สวรรค์สมบัติ คือสมบัติในเมืองสวรรค์

๓. นิพพานสมบัติ คือสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมาภิสมัย ตัดกิเลสขาดออกจากใจ บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์โทษเวรภัยทั้งปวง

ซึ่งสมบัติทั้ง ๓ จะมีมาได้ก็อาศัยจากบุญกุศลที่เคยทำไว้แต่ชาติปางก่อนมาเกื้อหนุน แต่ถ้าหากกุศลแต่ชาติปางก่อนไม่มีแล้วก็จะกลายเป็นผู้ไร้วาสนา จะกระทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ ทำมาหากินค้าขายก็ขาดทุน จะไปพึ่งพาอาศัยใครก็ไม่มีคนช่วยเหลือ ถึงเขาจะเต็มใจช่วยเหลือ ผู้ไร้วาสนาก็ไม่มีปัญญาจะรับเอาไว้ได้ เพราะว่าเป็นผู้มิได้ทำบุญกุศลมาก่อนในหนหลัง ฉะนั้นท่านสาธุชนได้ฟังดังนี้จงมีจิตยินดีพากันขวนขวายในกองการกุศล คือ ทาน ศีล ภาวนา จะได้มีเสบียงไว้เลี้ยงตนในกาลข้างหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้จะขอกล่าวถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการอันเป็นที่เกิดแห่งบุญบุคคลใดต้องการสั่งสมซึ่งบุญ พึงขวนขวายบำเพ็ญในบุญกิริยาเหล่านี้คือ

๑. ทานมัย คือบุญเกิดจากการให้ทาน

๒. ศีลมัย คือบุญเกิดจากการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย คือบุญเกิดจากการเจริญภาวนา

๔. อปจายนมัย คือบุญอันเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

๕. เวยยาวัจจมัย คือบุญอันเกิดจากการช่วยขวนขวายรับใช้ในกิจอันชอบ

๖. ปัตติทานมัย คือบุญอันเกิดจากการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น

๗. ปัตตานุโมทนามัย คือบุญอันเกิดจากการอนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น

๘. ธัมมัสสวนมัย คือบุญอันเกิดจากการสดับรับฟังพระธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย คือบุญอันเกิดจากการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ คือบุญอันสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรงตามทำนองคลองธรรม

ฉะนั้นสาธุชนทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิตจงพากันขวนขวายประกอบบุญเพื่อเป็นเสบียงติดตามตนไปในปรภพเบื้องหน้า เพราะว่าบุญเท่านั้นที่จะติดตามผู้ตายไปได้ สมบัติทั้งหลายมิว่าจะมากมายปานใดก็มิอาจติดตัวไปได้แม้แต่นิดเดียว ฉะนั้นบุคคลใดเป็นผู้ขวนขวายสั่งสมบุญไว้ให้มากย่อมจะเกิดเป็นมงคลแก่ตนเองเป็นล้นพ้นในกาลเบื้องหน้า ดังพรรณนามานี้แล

มงคลที่ ๖ การตั้งตนไว้ชอบ (อัตตะสัมมาปะณิธิ)

บุคคลใดประกอบตนเองไว้ในทางที่ชอบคือทางที่เป็นกุศลทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งความเจริญ ละเว้นหนีห่างจากทางที่เป็นอกุศลทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งความเสื่อม นั่นย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ อธิบายว่า บุคคลใดเป็นคนไม่มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย กระทำตนให้เป็นผู้มีศรัทธา บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีศีล กระทำตนให้เป็นผู้มีศีล บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีหิริความละอายต่อบาป กระทำตนให้เป็นผู้มีหิริ บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาป กระทำตนให้เป็นผู้มีโอตตัปปะ บุคคลใดเป็นผู้สดับตรับฟังธรรมมาน้อย กระทำตนให้เป็นผู้ขวนขวายสดับตรับฟังศึกษาธรรม บุคคลใดเป็นผู้มีมัจฉริยะความตระหนี่ กระทำตนให้เป็นผู้แกล้วกล้าในการบริจาคทาน บุคคลใดเป็นมิจฉาทิฏฐิเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม กระทำตนให้เป็นสัมมาทิฏฐิเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เหล่านี้รวมเรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ คือเป็นผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ดีที่ชอบประกอบในกุศลอันจะยกตนให้พ้นจากทางเสื่อมทั้งปวงได้ ทีนี้ถ้าถามว่าบุคคลจะสามารถตั้งตนไว้ชอบได้จะต้องอาศัยอะไรเป็นเหตุปัจจัย ตอบว่าต้องอาศัยกัลยาณมิตร คำว่ากัลยาณมิตร หมายถึงผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าเราสำหรับเป็นตัวอย่าง พร้อมทั้งสามารถให้โอวาท ชี้นำทางกุศลกระทำการกุศลละอกุศลให้เราเห็นแบบอยู่ตลอด พร้อมทั้งสามารถชี้แนะบอกข้อบกพร่องให้เราได้ ฉะนั้นบุคคลผู้ปรารถนาตั้งตนไว้ชอบจะต้องขวนขวายเข้าหากัลยาณมิตรคือมิตรดีเพื่อนดี แล้วพึงเคารพในโอวาทท่านเหล่านั้นพร้อมทั้งกระทำตาม แต่ถ้าหากหาคนดีคบไม่ได้แล้วไซร้ พึงอยู่ผู้เดียวและไม่พึงกระทำความชั่ว

มงคลที่ ๗ ความเป็นผู้สดับตรับฟังมาก (พาหุสัจจัญจะ)

ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังพระพุทธวจนะมาก ความเป็นผู้ได้เล่าเรียนศึกษาพระสัทธรรมได้ยินได้ฟังธรรมภาษิตที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้าพระอรหันต์สาวกและเหล่าบัณฑิตทั้งหลายจัดว่าเป็นมงคลอันประเสริฐ เพราะว่าย่อมทำให้ท่านผู้สดับตรับฟังมากนั้นเป็นผู้คงแก่เรียนสุขุมลึกซึ้งคัมภีรภาพ มีองค์ประกอบคือ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังได้ศึกษาวิชาการอันประเสริฐวิชาการอันเป็นเลิศอันสามารถนำผู้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าสู่ทางเจริญโดยปราศจากความเสื่อมนั่นคือพระพุทธวจนะ ถ้อยคำที่ตรัสแสดงออกมาโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นวิชาการอันลึกซึ้งที่ขบออกมาจากพระปัญญาอันรู้แจ้งเห็นจริงในโลกธาตุทั้งปวงของท่านผู้บรรลุซึ่งสัพพัญญุตญาณ พระพุทธวจนะย่อมเป็นถ้อยคำที่เป็นจริงแท้เป็นหนึ่งไม่มีสอง สร้างเสริมให้ผู้สดับรับฟังได้เกิดปัญญารู้แจ้งสัจธรรมความจริงเพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูก ไม่โดนธรรมชาติทำร้ายทำลายเอา นอกจากนั้นก็พึงทรงจำไว้ให้ดีไม่หลงลืมง่าย กล่าวได้คล่องปากนึกได้เจนใจ ขบคิดวิเคราะห์แยกแยะได้อย่างแจ่มแจ้งรวมลงได้มาในคำว่า พาหุสัจจะ เป็นผู้สดับตรับฟังมากย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ เพราะจะเป็นที่พึ่งแก่ตนและบุคคลอื่นได้ เป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นนั่นคือบุคคลนั้นย่อมรู้แจ้งว่าสิ่งใดเป็นธรรมสิ่งใดมิใช่ธรรม สิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งใดควรละเว้นสิ่งใดควรกระทำ สำหรับการเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้นก็คือ สามารถ ชี้แจง แยกแยะ สั่งสอนแนะนำ บอกกล่าวแก่ผู้อื่นได้ มหาชนทั้งหลายได้อาศัยบุคคลผู้สดับตรับฟังในพระพุทธพจน์มากย่อมทราบว่า สิ่งใดเป็นธรรมสิ่งใดมิใช่ธรรม สิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งใดควรละเว้นสิ่งใดควรกระทำ ดังนั้น บุคคลผู้เป็นผู้สดับตรับฟังในพระพุทธวจนะมากนั้นย่อมนำความมงคลมาให้แม้แก่ตนเอง และแม้แก่บุคคลอื่นดังนี้แล

มงคลที่ ๘ ความฉลาดในศิลปวิทยาการ (สิปปัญจะ)

บุคคลผู้เฉลียวลาดในศิลปวิทยาการย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมสามารถช่วยเหลือยังกิจอันยากของบุคคลอื่นให้สามารถสำเร็จโดยง่ายดายด้วยศิลปวิทยาการของตน ซึ่งก็จะทำให้ตนได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีพ เลี้ยงบิดามารดา มีทรัพย์สำหรับการบำเพ็ญทาน เกื้อหนุนพระศาสนาให้เจริญด้วยปัจจัยเครื่องอาศัยและเจริญด้วยถาวรวัตถุอาคารสถานที่ โบสถ์วิหาร ลานพระเจดีย์ กุฏิ ส้วม ถนน เป็นต้น บุคคลผู้ฉลาดในศิลปวิทยาการย่อมสามารถยังประโยชน์ให้เกิดแก่ตนทั้งในโลกนี้ พร้อมทั้งสามารถสร้างกุศลอันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในปรภพเบื้องหน้าดังบรรยายมานี้ จึงกล่าวว่าความเป็นผู้เฉลียวฉลาดในศิลปวิทยาการนั้นย่อมนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐ

มงคลที่ ๙ ความเป็นผู้ศึกษาและใส่ใจในวินัยและกฎระเบียบต่างๆ เป็นอย่างดี (วินะโย จะ สุสิกขิโต)

วินัยและกฎระเบียบทั้งหลายย่อมบัญญัติมาเพื่อความผาสุก เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติขององค์กรนั้นๆ ฉะนั้นบุคคลใดไม่ขวนขวายในการศึกษาและใส่ใจปฏิบัติตามวินัยและกฎระเบียบต่างๆ ในองค์กรที่ตนเองอาศัยและเกี่ยวข้องอยู่ บุคคลนั้นย่อมชื่อว่าทำตนเองให้เดือดร้อนด้วย ย่อมทำให้บุคคลรอบข้างรวมทั้งองค์กรนั้นนั้นเดือดร้อนด้วย คำที่ว่าทำให้ตนเองเดือดร้อนก็คือย่อมทำให้ตนเองกลายเป็นคนนิสัยเสีย ทำอะไรตามใจตนเอง ไม่สามารถบังคับตนให้อยู่ในระเบียบวินัยกฎข้อบังคับต่างๆ ได้ ย่อมจะทำให้ตนเองเป็นที่รังเกียจและไม่ไว้ใจของบุคคลในองค์กรนั้น ย่อมจะถูกคนในองค์กรนั้นควบคุม บีบบังคับ จำกัดขอบเขต จำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือต้องกำจัดให้พ้นจากองค์กรหรือสังคมนั้นไปเลย บุคคลผู้ไม่ใส่ใจในวินัยและกฎระเบียบข้อบังคับ ท้ายที่สุดจะประสบกับความเดือดร้อนนานับประการ สำหรับคำที่ว่าทำให้บุคคลรอบข้างรวมทั้งองค์กรเดือดร้อนนั้นก็คือ บุคคลนั้นไปอยู่ที่ใดย่อมทำความวุ่นวาย โกลาหล ไม่มีระเบียบให้เกิดแก่คนรอบข้าง บุคคลผู้ไม่มีระเบียบวินัยย่อมสามารถประพฤติตนเอาเปรียบคนรอบข้างได้มาก ย่อมเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่สมาชิกใหม่ขององค์กร อันจะนำมาซึ่งความวุ่นวายโกลาหลต่างๆ ให้บังเกิดขึ้น ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าความเป็นผู้ศึกษาและใส่ใจในวินัยและกฎระเบียบ จึงเป็นมงคลอันประเสริฐ

มงคลที่ ๑๐ การกล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)

วาจาอันใดที่ไพเราะอ่อนหวานไม่รำคาญแก่โสต เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า วาจานั้นชื่อว่าวาจาสุภาษิต วาจาสุภาษิตประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ และเว้นจากองค์ ๔ ประการ ที่ว่าประกอบด้วยองค์ ๕ ประการก็คือ

๑. กล่าวในกาลอันสมควร เพราะว่าถ้อยคำแม้จะดีปานใดถ้าหากกล่าวผิดเวลาก็เป็นโทษได้

๒. กล่าวแต่คำสัตย์จริงไม่กล่าวคำเท็จ เพราะว่าคำสัตย์ย่อมเป็นที่สรรเสริญแก่บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

๓. กล่าวคำอ่อนหวานสุขุมละเอียดไม่หยาบคายให้เคืองใจผู้อื่น คือสามารถประดิดประดอยถ้อยคำให้นุ่มนวลไม่ทิ่มแทงใจผู้ฟัง ใช้ถ้อยคำชาวเมืองที่สุภาพเรียบร้อย มีกุศโลบายในการใช้ถ้อยคำมิให้ออกไปทิ่มแทงจิตใจผู้ฟัง แม้จะจำเป็นจะต้องพูดเรื่องรุนแรงก็รู้จักใช้ถ้อยคำนุ่มนวลมิให้ผู้ฟังต้องเคืองใจ

๔. กล่าวคำที่มีประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า ที่มีประโยชน์ในชาตินี้ เช่นถ้อยคำที่แนะนำให้รู้จักปฏิบัติตัวให้ถูกแบบแผนของสังคม ถ้อยคำที่แนะนำให้ปฏิบัติให้สุขภาพแข็งแรงและถ้อยคำแนะนำการทำมาหากินดำรงชีวิตเป็นต้น ที่มีประโยชน์ในชาติหน้า เช่นถ้อยคำที่แนะนำเรื่องบาปเรื่องบุญ สิ่งใดควรเว้นสิ่งใดควรกระทำ และเรื่องความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต เป็นต้น

๕. กล่าวคำที่ประกอบไปด้วยจิตเมตตาไม่มีความโกรธอิจฉาริษยาพยาบาทประสงค์ให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้ฟัง

สำหรับคำที่ว่าวาจาสุภาษิตนั้นเว้นจากองค์ ๔ ก็คือ

๑. มุสาวาท คือการกล่าวคำเท็จ หลอกลวง ล่อลวง ด้วยเรื่องไม่จริง ทำให้ผู้ฟังต้องเสียหายจากประโยชน์ต่างๆ

๒. ปิสุณาวาท หรือเปสุญญวาท คือการกล่าวถ้อยคำส่อเสียดยุยงให้คนแตกกัน ให้คนทะเลาะกัน ให้คนผิดใจกัน ให้คนแตกความสามัคคีกัน ให้คนกลายจากมิตรเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน

๓. ผรุสวาท คือคำพูดหยาบคาย คำพูดเผ็ดร้อน คำพูดที่ประสงค์ให้ผู้ฟังเจ็บใจ เดือดเนื้อร้อนใจ ทุกข์ระทมใจ

๔. สัมผัปปลาปะ คือ คำพูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ ไม่ถูกกาละเทศะ

ทั้ง ๔ อย่างนี้เรียกว่าวจีทุจริต หมายถึงการประพฤติชั่วด้วยวาจา การประพฤติชั่วทางวาจามีโทษมาก บุคคลผู้กล่าววาจาทุจริตทั้ง ๔ นี้มีโทษมากมายหลายประการ ย่อมจะยังให้บุคคลผู้กล่าววาจาทุจริตนั้นให้ไปบังเกิดในกำเนิดนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉานให้เสวยทุกขโทมนัสเวทนาแก่กล้าสิ้นกาลนาน ครั้นพ้นจากอบายภูมิแล้วมาเกิดในเมืองมนุษย์แล้ว เศษกรรมของโทษที่กล่าวมุสาวาทย่อมให้ผล มีผู้มาล่อลวงให้เสียทรัพย์ข้าวของและแกล้งฟ้องร้องในคดีความที่ไม่จริง ส่วนเศษกรรมของโทษที่กล่าวยุยงให้เขาแตกร้าวซึ่งกันและกัน ย่อมจะทำให้ต้องแตกร้าวจากบิดามารดาบุตรภรรยาคณาญาติมิตรอำมาตย์ผู้ร่วมวงศ์พงศา ญาติโกโหติกาอันเป็นที่รักใคร่ ต้องกลายเป็นผู้ปราศจากที่พึ่งพิงพาอาศัย มิตรสหายที่ผูกพันกันแต่ไหนก็ต้องแตกกันไป มิได้มีผู้จะร่วมสมาคม ส่วนเศษกรรมของโทษที่กล่าวคำหยาบช้าด่าทอ ก็จะเจอแต่ถ้อยคำหยาบคาย ชั่วช้า เขาติเตียนนินทาด่าว่าด้วยคำเลวทรามต่ำช้ามากมายหลายประการ ส่วนเศษกรรมของโทษที่กล่าววาจาอันหาประโยชน์มิได้ ก็จะทำให้ได้ฟังแต่สิ่งไม่มีประโยชน์ ไม่มีแก่นสารสาระ ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่สามารถยังประโยชน์ให้เกิดสติปัญญาขึ้นมาได้

การกล่าววาจาใดไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นนั่นเป็นวาจาที่ควรกล่าว ส่วนวาจาใดที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นไม่ควรกล่าวเลย โดยเฉพาะถ้าหากบุคคลกล่าวถ้อยคำบิดเบือนธรรมะ คือกล่าวสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม กล่าวสิ่งที่เป็นธรรมว่ามิใช่ธรรม ดังนี้ย่อมมีโทษเป็นบาปมากมายมหาศาลเพราะทำให้พระธรรมของพระตถาคตเจ้าเสียหาย ย่อมนำความเดือดร้อนวอดวายมาสู่ประชุมชนผู้กระทำตามถ้อยคำที่บิดเบือนนั้น ส่วนผู้กล่าวบิดเบือนธรรมย่อมจะประสบทุกข์ในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานสิ้นกาลนาน แม้คำหยาบคายก็ไม่ควรกล่าวเพราะจะนำทุกข์โทษมากมายมาสู่ผู้กล่าวคือทำให้เป็นผู้มีศัตรูมาก ไม่มีมิตร มีแต่คนรังเกียจไม่รักใคร่ ชอบใจ ส่วนการกล่าววาจาอ่อนหวานย่อมนำมาซึ่งมิตร และลาภสักการะมาให้ และวาจาที่เป็นเท็จไม่มีความจริงนั้นท่านสาธุชนก็ไม่ควรกล่าวเลย ควรกล่าวแต่วาจาสัตย์ คำจริงแท้ เพราะว่าคำสัตย์ย่อมชื่อว่าเป็นคำไม่ตายไม่เสื่อมจากประโยชน์ของตนและผู้อื่น นำความเจริญมาให้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อันว่าคำสัตย์นี้ย่อมเป็นคำที่สูงเลิศแสนประเสริฐ เพราะว่านักปราชญ์ทั้งหลายย่อมรักษากันสืบมาสิ้นกาลนานในกาลทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นบุคคลใดตั้งอยู่ในธรรมคือความสัตย์นี้แล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่าเป็นสัปบุรุษอันประเสริฐในโลก เพราะการรักษาความสัตย์ย่อมเป็นปัจจัยแก่สวรรค์และนิพพานในอนาคต เพราะว่าบุคคลผู้กล่าวคำสัตย์ย่อมจะไปอุบัติในเทวโลกมีมากมายนักหนา และการกล่าวคำสัตย์นั้นย่อมทำให้จิตของบุคคลผู้นั้นซื่อตรงเอื้อประโยชน์ต่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม อันเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า รสของคำสัตย์เป็นรสที่เลิศรสที่ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง มีรสที่ยิ่งกว่ารสเปรี้ยวหวานมันเค็มอันปุถุชนเสพ รสแห่งคำสัตย์ย่อมเป็นแก่นสารในโลก เพราะจะนำความสุขอันประเสริฐให้เกิดขึ้นทั้งสุขในโลกีย์และสุขในโลกุตตระ อานิสงส์การกล่าววาจาสุภาษิตนั้นย่อมมีผลมากมีผลไพศาล เพราะบุคคลผู้จะบรรลุธรรมได้ก็ต้องอาศัยได้ฟังวาจาสุภาษิต และอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนเทศนาแก่พุทธบริษัทให้สำเร็จทางสวรรค์นิพพานก็ด้วยคำสุภาษิต ทำให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายมีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ให้มีความสลดสังเวชใจในสัพพสังขาร สามารถตัดกิเลสให้ขาดจากสันดาน ก็ด้วยวาจาสุภาษิต พระธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่ชื่อว่า วาจาสุภาษิต หรือคำกล่าวของพระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิต ถึงแม้บุคคลใดก็ดีกล่าวถ้อยคำที่เข้าได้กับลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ คือถ้อยคำที่ยังให้ผู้ฟังคลายกำหนัด ปราศจากทุกข์ ไม่สั่งสมกองกิเลส เพื่อความอยากอันน้อย เพื่อมักน้อยสันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ เพื่อปรารภความเพียร เพื่อความเลี้ยงง่าย นี้ก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิต วาจาใดที่เป็นประโยชน์ในชาตินี้ เช่นบิดามารดาสอนบุตรให้ทำมาหากินในสัมมาชีพก็ชื่อว่าเป็นวาจาสุภาษิต วาจาที่บุคคลท่องบ่นสวดมนต์ภาวนากล่าวสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย สรรเสริญกุศลธรรมมีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้นก็เป็นวาจาสุภาษิต ถ้อยคำที่กล่าวโทษของสังขารปลงปัญญาให้เห็นไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน ก็เป็นวาจาสุภาษิต ดังที่ได้พรรณนามานั่นก็คือการกล่าววาจาสุภาษิตย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้กล่าวและผู้ฟัง นั่นคือยังประโยชน์ให้เกิดทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ยังประโยชน์ให้เกิดทั้งทางโลกียะและโลกุตตระ ฉะนั้นการกล่าววาจาสุภาษิตจึงเป็นมงคลอันประเสริฐดังว่ามานี้แล

มงคลที่ ๑๑ การบำรุงมารดาบิดา (มาตาปิตุอุปัฏฐานัง)

บุคคลใดชายหญิงที่ก่อกำเนิดเกิดมาในโลก ถ้าผู้ใดได้ปรนนิบัติบิดามารดาให้อยู่เย็นเป็นสุขนั้นจัดว่าเป็นมงคลอันประเสริฐวิเศษ เพราะว่าบิดามารดาย่อมมีบุญคุณโดยสังเขป ๔ ประการ

๑. บิดามารดาจัดว่าเป็นพรหมของบุตร เพราะว่าบิดามารดาย่อมประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการของพรหมต่อบุตร นั่นคือ เมตตาปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาปรารถนาให้พ้นทุกข์ มุทิตาพลอยยินดีเมื่อบุตรได้ดี อุเบกขาวางเฉยเมื่อบุตรพึ่งพิงตนเองได้แล้ว

๒. บิดามารดาจัดว่าเป็นบุพพเทวดาของบุตร เพราะว่าบิดามารดาย่อมปกปักรักษาบุตรก่อนเทวดาทั้งปวงจำเดิมแต่อยู่ในครรภ์นั้นทีเดียว

๓. บิดามารดาชื่อว่าเป็นบูรพาจารย์ของบุตร เพราะย่อมเป็นผู้ให้โอวาทสั่งสอนก่อนครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง

๔. บิดามารดาชื่อว่าเป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตร หมายถึงเป็นบุคคลที่สมควรแก่ของสักการะบูชาบรรณาการที่บุตรจะนำมามอบให้ เช่นข้าวน้ำผ้าผ่อนท่อนสไบ ฟูกหมอน เสื่อสาดอาสนะเตียงตั่ง เงินทองเครื่องใช้ไม้สอย หยูกยารักษาโรคเป็นต้น และเนื่องจากบิดามารดามีคุณอย่างสูงต่อบุตรเปรียบประดุจดังคุณของพระอรหันต์ ฉะนั้นการที่บุตรบูชาบิดามารดานั้นย่อมจะมีบุญคุณค่าประดุจการบูชาพระอรหันต์ อนึ่งบุตรใดทำร้ายทำลายเข่นฆ่าบิดามารดาก็ย่อมมีโทษเทียบเท่ากับการฆ่าพระอรหันต์ มีโทษทัณฑ์ถึงอเวจีมหานรก

ถามว่าวิธีที่บุตรจะอุปัฏฐากบำรุงบิดามารดานั้นมีกี่อย่าง ตอบว่ามี ๒ อย่างคือการบูชาอย่างต่ำ และการบูชาอย่างสูง การบูชาอย่างต่ำก็คือการที่บุตรบำรุงด้วยวัตถุปัจจัย อาหาร ข้าว น้ำ เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยนั้นจัดว่าเป็นการบูชาอย่างต่ำ ส่วนการบูชาอย่างสูงนั้นคือการบูชาด้วยธรรมนั่นคือ

๑. บิดามารดาเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย ก็ไปชักจูงชักชวนอ้อนวอนให้บิดามารดาเกิดมีความเชื่อความเลื่อมใสศรัทธาในคุณพระรัตนตรัยตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์

๒. บิดามารดาเป็นคนไม่มีศีล ก็ไปชักจูงชักชวนอ้อนวอนให้บิดามารดาสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว

๓. บิดามารดาไม่เคยได้เล่าเรียนสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาไม่รู้สิ่งใดเป็นคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ก็ไปชักจูงชักชวนอ้อนวอนให้บิดามารดาได้ฟังพระธรรมเทศนา ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษจะได้แสวงหาประโยชน์ไปชาติหน้า

๔. บิดามารดามิได้เคยบริจาคทานมีความตระหนี่ถี่เหนียวในทรัพย์หวงแหนไว้มิได้ให้ทาน ก็ไปชักจูงชักชวนอ้อนวอนให้บิดามารดาแกล้วกล้าในการบริจาคทานการกุศล

๕. บิดามารดาไม่มีปัญญาพิจารณาสังขาร จิตใจมืดมนอนธการด้วยอวิชชาโมหะหุ้มห่อไว้ ก็ไปแนะนำสั่งสอนให้บิดามารดามีปัญญาเห็นแจ้งสัจจะความจริงละทิ้งความเห็นผิดที่มีมาในเก่าก่อนออกไปได้ สามารถยกจิตขึ้นสู่พระธรรมกรรมฐานให้เกิดสติและปัญญาอย่างวิเศษอันจะนำไปสู่การตัดกิเลสในขันธสันดานได้

ฉะนั้นบุตรธิดาใดปรนนิบัติบิดามารดาด้วยการเกื้อหนุนให้เกิดอริยทรัพย์ทั้ง ๕ ขึ้นในจิตใจบิดามารดา คือศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ดังได้กล่าวพรรณนามาแต่ข้างต้น ชื่อว่าเป็นการปรนนิบัติบูชาบิดามารดาอย่างสูง เป็นมงคลอันวิเศษสูงค่ามหาศาล เพราะจะช่วยยกบิดามารดาให้พ้นจากทุกข์ในอบายภูมินำขึ้นสู่ความสุขในสุคติโลกสวรรค์ได้

สำหรับหน้าที่ที่บุตรจะต้องทำเพื่อให้บิดามารดาชื่นชมโสมนัสนั้นท่านว่ามี ๕ ประการคือ

๑. ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้วต้องเลี้ยงท่านตอบ

๒. ช่วยเหลือทำกิจของท่านมิให้ขาดตกบกพร่อง

๓. ดำรงวงศ์สกุลของท่านให้ยั่งยืนเป็นที่นับหน้าถือตาแก่ประชาชนทั้งหลาย

๔. ประพฤติตนให้สมควรแก่การเป็นผู้รับทรัพย์มรดก

๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วให้ขวนขวายทำบุญกุศลอุทิศไปให้ท่านมิขาด

ถ้าหากบุตรได้กระทำหน้าที่ทั้ง ๕ ประการนี้แล้วก็จะมีแต่ความเจริญไปในภายหน้าท่านทั้งสองที่เป็นบิดามารดาก็จะมีความสุข อนึ่งการจะทำทานอุทิศไปให้แก่หมู่ญาติบิดามารดานั้น อย่าฆ่าสัตว์อย่าลักทรัพย์เขามาทำทาน และทานที่ให้นั้นควรจะเป็นสังฆทาน เพราะว่าสังฆทานนั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก สามารถจะอุทิศไปให้ผู้วายชนม์ได้ ก่อนให้ทานก็ควรจะสมาทานศีลก่อนเพราะว่าถ้าบุคคลผู้ให้ทานมีศีลด้วย ทานนั้นย่อมมีบุญกุศลอันใหญ่ และการให้ทานควรจะมีเจตนาศรัทธาบริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้ง ๓ กาล คือก่อนให้ก็มีจิตยินดีศรัทธาไม่เสียดายข้าวของที่จะนำบำเพ็ญทาน ขณะกำลังให้ก็มีจิตยินดีศรัทธาไม่หวงแหนเสียดาย และเมื่อหลังจากให้ไปแล้วก็มีจิตโสมนัสศรัทธาแกล้วกล้าดีใจพอใจในกุศลทานไม่เสียดายในภายหลัง และการให้ทานควรให้ด้วยความเคารพในทาน อย่าให้ชนิดประดุจดังเอาไปเททิ้ง เมื่อท่านผู้ให้ทานกระทำได้ดังนี้ ทานนั้นย่อมจะมีผลไพศาล จะอุทิศไปถึงผู้วายชนม์อนุโมทนาก็จะบังเกิดผลดังใจเจตนา ให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้บังเกิดเป็นความสุขทิพยสมบัติในภพภูมิของตนนั่นแล

ดังได้กล่าวมาเมื่อบุตรได้ปฏิบัติบิดามารดาด้วยความเคารพก็ย่อมมีอานิสงส์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า แต่ถ้าหากว่าบุตรมีความประมาทไม่เลี้ยงบิดามารดาโดยเคารพก็จะมีโทษทั้งในชาตินี้และชาติหน้าเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายหญิงชายที่เกิดมาจงอย่าได้ประมาทจงปฏิบัติบิดามารดา เพราะว่าคุณของบิดามารดามีมาก จะเอาแผ่นดินแผ่นน้ำท้องฟ้าอากาศและขุนเขาพระสุเมรุราชมาชั่งก็ยังเบากว่าคุณของบิดามารดามากนัก ฉะนั้นการบำรุงมารดาบิดาจึงเป็นมงคลอันประเสริฐดังได้กล่าวพรรณนามาฉะนี้แล

มงคลที่ ๑๒ การสงเคราะห์บุตร (ปุตตะ สังคะโห)

บุคคลใดมีการสงเคราะห์บุตรหญิงชายทั้งหลายด้วยอามิสปัจจัย ๔ สั่งสอนส่งเสริมให้เรียนรู้ศิลปศาสตร์วิทยาการในทางโลก และได้รู้จักอันใดคือบาปบุญคุณโทษมีปัญญาทางธรรมได้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าเป็นมงคลอันประเสริฐ ในสิงคาลสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้บิดามารดาสงเคราะห์บุตรด้วยคุณธรรม ๕ ประการคือ

๑. จงห้ามบุตรธิดาอย่าให้ทำบาปทำชั่วผิดศีลผิดธรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด ดื่มสุราเมรัยเป็นต้น

๒. จงสั่งสอนบุตรธิดาให้กระทำการกุศล มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ฟังธรรมเทศนาเป็นต้น

๓. จงให้บุตรธิดาได้เล่าเรียนศึกษาในศิลปศาสตร์วิทยาการทั้งทางโลกและทางธรรม

๔. หาสามีภรรยาที่สมควรแก่ตระกูลให้แก่บุตรธิดาตามประเพณีคดีแห่งชาวโลก

๕. มอบทรัพย์สมบัติให้แก่บุตรธิดาตามกาลเวลาที่จะพึงให้

การสงเคราะห์บุตรธิดาให้ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการเครื่องมือประกอบอาชีพ ช่วยเหลือให้สามารถตั้งหลักตั้งฐานมีฐานะสมบูรณ์พออยู่พอกิน มีหน้ามีตาในสังคมนั้น ชื่อว่าเป็นการสงเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ความสุขในชาตินี้ เป็นการสงเคราะห์ที่ยังจัดอยู่ในชั้นต่ำ ส่วนการสงเคราะห์ชั้นสูงนั้นคือการสงเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ความสุขในชาติหน้า คือสั่งสอนบุตรธิดาให้ขวนขวายในการกุศลมีทานศีลภาวนาบูชาพระรัตนตรัยฟังธรรมเทศนา เกื้อหนุนให้ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร ปฏิบัติบูชาในพระพุทธศาสนารักษาพรหมจรรย์ ได้สืบก่อต่อเนื่องพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นสิ้นกาลนาน เป็นการเปิดทางสวรรค์และนิพพานแก่บุตรธิดา ดังที่พระศาสดาทรงมีพระกรุณาแก่พระราหุลพุทธชิโนรส ดังมีเรื่องเล่ามาว่า พระนางพิมพาซึ่งเป็นสมเด็จพระมารดาของพระราหุลได้ส่งพระราหุลไปขอทรัพย์คือขุมทองที่เกิดขึ้นโดยบุญบารมีของพระสิทธัตถราชกุมาร เนื่องจากว่าเมื่อพระสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ขุมทองนั้นก็สูญหายไปไม่มีใครเห็น พระนางพิมพาจึงส่งพระราหุลไปขอขุมทองอันบังเกิดด้วยบุญของพระบิดา เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในเวลาขึ้นครองราชย์ แต่ว่าสมเด็จพระมุนีบรมศาสดามีพระกรุณาว่าทรัพย์อันเป็นโลกีย์นี้ไม่เป็นแก่นสาร เพราะยังข้องอยู่ด้วยความเกิดแก่เจ็บตาย ทรงดำริประทานอริยทรัพย์ ๗ ประการคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา ให้แก่พระราหุล แล้วพระองค์จึงให้พระราหุลบรรพชาเป็นสามเณร ฉะนั้นบิดามารดาทั้งหลายก็ควรดำเนินตามรอยของพระศาสดาควรจะสงเคราะห์ให้ได้มีโอกาสบวชเรียนในพระพุทธศาสนาเป็นภิกษุสามเณร รักษาศีลและเล่าเรียนพระธรรมวินัยไตรปิฎก เป็นเครื่องชี้แจงเส้นทางให้สรรพสัตว์ได้รอดพ้นจากภัยไปสวรรค์นิพพาน และเมื่อบิดามารดาสงเคราะห์ให้บุตรได้บวชในพระศาสนา ตัวบิดามารดาก็ได้เป็นญาติในพระศาสนาด้วย เหมือนดังที่พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระองค์อรหันต์ได้ถวายพระพรแก่พระเจ้าอโศกมหาราชว่า ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ หญิงก็ดี ชายก็ดี ได้บวชตัวเองก็ดี บวชสามีก็ดี บวชลูกหลานก็ดี บวชข้าทาสบริวารก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ดังพรรณนามานี้ เพราะฉะนั้นบิดามารดาใดสงเคราะห์แก่บุตรให้ได้บวชเรียนประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ นับเป็นบุญราศีอันประเสริฐกว่าการสงเคราะห์ทั้งปวง มีคุณวิเศษใหญ่หลวง ให้เป็นนิสัยปัจจัยแก่ทางสวรรค์นิพพานในอนาคตกาลภายภาคหน้า ส่วนตัวบิดามารดาก็จะได้ชื่อว่าเป็นญาติพระศาสนาด้วย

ฉะนั้นการสงเคราะห์บุตรธิดาในทางโลกและทางธรรมจึงเป็นมงคลอันประเสริฐดังได้อธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๑๓ การสงเคราะห์ภรรยา (ทารัสสะ สังคะโห)

ในสิงคาลสูตรนั้นสมเด็จพระศาสดาทรงสอนให้กุลบุตรสงเคราะห์ภรรยา ๕ ประการดังนี้คือ

๑. ด้วยให้การยกย่องนับหน้าว่าเป็นภรรยา

๒. ด้วยการไม่ดูหมิ่นดูแคลนด้วยชาติตระกูลและทรัพย์

๓. ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ

๔. มอบความเป็นใหญ่ให้

๕. ด้วยการให้เครื่องแต่งตัวเครื่องประดับ

เมื่อสามีสงเคราะห์ภรรยาพร้อมด้วยองค์ ๕ แล้วภรรยาก็ควรสงเคราะห์แก่สามีด้วยองค์ ๕ คือ

๑. จัดการงานดีทั้งงานบ้านงานเรือนงานครัวมิให้บกพร่อง

๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี

๓. ไม่ประพฤติตนในทางที่เป็นการนอกใจผัว

๔. รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้อย่างดี

๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

อีกอย่างหนึ่งให้สามีสงเคราะห์ภรรยาให้ตั้งอยู่ในประโยชน์ ๒ ประการคือ ประโยชน์ในชาตินี้หนึ่งและประโยชน์ในชาติหน้าหนึ่ง ประโยชน์ในชาตินี้มี ๔ ข้อคือ

๑. มีความเพียรความหมั่นในการทำการงานแสวงหาทรัพย์ไม่เกียจคร้าน

๒. ฉลาดในการรักษาทรัพย์มิให้เป็นอันตรายมีการถูกโจรลักเป็นต้น

๓. ให้เลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่ทรัพย์อย่าให้เกินประมาณ

๔. คบมิตรสหายที่เป็นคนดีมีใจเป็นกุศลอย่าไปคบคนพาลสันดานบาป

ประโยชน์ในชาติหน้ามี ๕ ข้อคือ

๑. ให้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย

๒. ให้รู้จักรักษาศีล ๕ ประการ ๘ ประการ กรรมบถ ๑๐ ประการ

๓. ให้หมั่นฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

๔. ให้รู้จักเสียสละบริจาคทำบุญข้าวน้ำแก่สมณชีพราหมณ์เป็นต้น

๕. ให้มีปัญญาพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนของตน

อนึ่งเมื่อสามีอนุเคราะห์ภรรยาให้รู้จักบุญทานการกุศล สอนให้รู้จักสวดมนต์ภาวนาบูชาพระรัตนตรัย มีการรักษาศีลเจริญภาวนาฟังพระธรรมเทศนาก็ดี เหล่านี้จะเป็นที่สรรเสริญเคารพแก่เทพยดาทั้งหลายมีพระอัมรินทราธิราชเจ้าเป็นต้น ดังได้สดับฟังมาว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระอมรินทราธิราชได้เสด็จออกจากวิมานไปสู่สวนอุทยาน แล้วจึงยกพระหัตถ์ขึ้นนมัสการทิศทั้ง ๑๐ ทิศ ครั้งนั้นพระมาตลีเทพบุตรจึงทูลถามว่าพระองค์ทรงนมัสการทิศทั้ง ๑๐ นั้นด้วยเหตุผลอย่างไรเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระอมรินทราธิราชจึงตรัสบอกแก่พระมาตลีว่าดูกรมาตลี เรานมัสการซึ่งคน ๑๐ จำพวกคือ

๑. คนที่มีศรัทธาทำบุญตักบาตรถวายปัจจัย ๔ แก่ท่านผู้มีศีลมีธรรม

๒. คนที่รักษาความสุจริตทั้ง ๓ คือ กายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต

๓. คนที่มีความเคารพแก่มารดา

๔. คนที่มีความเคารพแก่บิดา

๕. คนที่ถึงไตรสรณคมน์คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่เคารพบูชา

๖. คนที่มีการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ อยู่เป็นนิจ

๗. คนที่ได้ทำกุศลแล้วอุทิศแผ่ผลไปให้เทวดาและเปรต

๘. คนที่มีความเคารพแก่อุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีศีลธรรม

๙. คนที่มีความอนุเคราะห์แก่บุตรภรรยาคณาญาติ ด้วยความเมตตากรุณา

๑๐. หญิงที่มีความเคารพสามีอยู่ทุกทิวาราตรีมิได้ประมาท

คนทั้ง ๑๐ จำพวกนี้มีคุณมาก ทำความสุขความเจริญให้บังเกิดแก่ตนและบังเกิดแก่คนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงได้มีความเคารพนมัสการแก่บุคคลเหล่านั้น เมื่อพระมาตลีได้ฟังท้าวโกสีย์ตรัสดังนี้ก็มีความเกษมสันต์หรรษาจึงได้ออกวาจาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทพยดาทั้งปวง พระองค์มีความเคารพในบุคคลจำพวกใด ข้าพเจ้าก็มีความเคารพในบุคคลจำพวกนั้น จำเดิมแต่วันนั้นมา เทพยดาทั้งหลายก็พากันอวยชัยให้พรแก่คนทั้ง ๑๐ จำพวกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วนหญิงผู้ประมาทคิดคดนอกใจสามีไปคบชู้สู่ชาย อีกทั้งปากกล้าด่าว่าสามีด้วยถ้อยคำอันหยาบคาย หญิงประเภทนี้ก็จะมีบาปเป็นไปในเบื้องหน้า ฉะนั้นสตรีทั้งหลายพึงมีความเคารพนับถือจงรักภักดีต่อสามีของตน หญิงนั้นก็จะมีความเจริญสุขสวัสดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้าสิ้นกาลนาน ความเจริญในชาตินี้ก็จะเป็นที่รักใคร่ของสามี นักปราชญ์ทั้งหลายชอบใจกล่าวสรรเสริญ เทพยดาทั้งหลายก็จะพากันอุดหนุนอวยชัยให้พรทุกทิวาราตรี ครั้นทำลายขันธ์อินทรีย์ไปสู่ปรโลกหน้า ก็จะบังเกิดเป็นเทพธิดาอยู่ในวิมานทองอันผ่องศรีด้วยอานิสงส์ที่เคารพแก่สามี อันจะนำมาซึ่งความเจริญดังกล่าวมาฉะนี้แล

มงคลที่ ๑๔ การงานไม่คั่งค้าง (อะนากุลา จะ กัมมันตา)

บุคคลใดไม่มีความเกียจคร้านในกิจการทั้งปวงที่เป็นประโยชน์แก่การเลี้ยงชีพจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ ย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้าสิ้นกาลนาน บุคคลใดไม่เกียจคร้าน มีความเพียรความหมั่นขยันทำการงาน ไม่คิดเบื่อหน่ายว่าเช้าสายว่าหนาวว่าร้อน จักทำการงานสิ่งใดไม่ทอดทิ้งให้เนิ่นนานเร่งรีบทำการงานไม่หยุดหย่อน นอนและนั่งทำการงานไม่รอรั้งรังเกียจผู้ใดผู้หนึ่ง ทำการงานรู้กำหนดกาลและประเภทเป็นที่สังเกตไม่ทำด้วยความหลง ทำการงานที่ตรงแก่ที่จะได้ทรัพย์ ทำด้วยหวังประโยชน์ความเจริญ จะเป็นการทำการงานไม่อากูลไปด้วยโทษ ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ส่วนบุคคลใดมากไปด้วยความง่วงเหงาหาวนอน ทั้งนอนกลางวันและกลางคืนไม่รู้ตื่น และเป็นคนเกียจคร้านในกิจการงาน จะทำการใดก็ให้ค้างไว้ทั้งเดือนทั้งปี ถ้าเป็นเช่นนี้บุคคลนั้นก็จะยากจนอนาถาหากินไม่ทันเพื่อนบ้าน เพราะความเกียจคร้านและความง่วงเหงาหาวนอนเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายที่เกิดมาอย่าได้ทำตนเป็นคนเกียจคร้าน จงคิดแสวงหาวิชาและการงานที่จะนำทรัพย์สมบัติมาในชาตินี้ ด้วยสมเด็จพระมหามุนีได้ทรงตรัสว่าความเพียรจะนำมาซึ่งความสุขแก่สัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ความเกียจคร้านและความขี้เซาหาวนอน จะนำมาซึ่งทุกข์และความฉิบหายแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ความเพียรมี ๒ อย่าง คือความเพียรเป็นไปด้วยกำลังกายที่กระทำการงาน และความเพียรเป็นไปในจิตมีความคิดความตรึกตรองมองพิจารณา ความเพียรทั้ง ๒ อย่างนี้บุคคลใดทำให้เกิดมีบริบูรณ์ก็จะมีความสุขอันผ่องแผ้ว นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการ เปรียบประดุจปลวกตัวน้อยๆ นำมาซึ่งดินด้วยจะงอยปาก นานๆ ก็มากเป็นจอมปลวกใหญ่ได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่เกิดมาจงมีความเพียรความหมั่นที่จะหาทรัพย์เลี้ยงบิดามารดาและบุตรภรรยาให้เป็นสุขในชาตินี้อย่าให้อดอยากยากจน แล้วให้มีความเพียรความหมั่นก่อสร้างกองการกุศลคือทานศีลภาวนาและฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้น ที่จะยกรื้อตนให้พ้นจากอบายคือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน และจะยกตนให้พ้นจากวัฏฏสงสารด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมีความเพียรอันแก่กล้าฆ่ากิเลสตายคลายกิเลสหลุดพบวิมุตติดับอวิชชาตัณหาอุปาทาน อันจะนำให้บรรลุทางพระนิพพานอันเป็นที่สุดท้ายก็ด้วยความเพียรไม่เกียจคร้านทอดธุระมัวนอนจมอยู่นั้นแล ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าการกระทำกิจการงานไม่อากูลไม่คั่งค้างย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐยิ่งแล

มงคลที่ ๑๕ การให้ทาน (ทานัญจะ)

การให้ทานย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ ถามว่าเหตุไรบุคคลจึงคิดให้ทาน แก้ว่าเพราะสาเหตุ ๒ ประการคือ ๑.มีปัญญาสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ๒.มีความไม่โลภ คำว่ามีปัญญาสัมมาทิฏฐิ หมายถึงมีปัญญาพิจารณาเห็นบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ในเบื้องหน้า เห็นว่าการให้ทานรักษาศีลภาวนาย่อมได้บุญกุศลนำมาซึ่งความสุข เห็นว่าการละเมิดศีลเป็นบาปนำมาซึ่งความทุกข์ ดังนี้ชื่อว่ามีปัญญาสัมมาทิฏฐิ เมื่อบุคคลอาศัยปัญญาสัมมาทิฏฐิและความไม่โลภคิดจะบริจาคทาน ทานนั้นย่อมจะมีผลมาก ถ้ามีคำถามว่าทานจะมีผลมากนั้นต้องประกอบด้วยสิ่งไรบ้าง ก็ตอบว่าสำหรับผู้บริจาคทานต้องประกอบด้วย เจตนาสัมปทา หมายถึงผู้บริจาคทานมีจิตศรัทธา เลื่อมใสในการให้ทานไม่เสียดายวัตถุข้าวของใน ๓ กาลคือ

๑. บุพพเจตนา คือก่อนให้ทานก็มีความศรัทธาเลื่อมใสเตรียมพร้อมเตรียมตัวเตรียมการที่จะให้ทานด้วยความเบิกบานหรรษา

๒. มุญจนเจตนา คือขณะให้ก็ร่าเริงปิติศรัทธาไม่เสียดายสิ่งของสยิ้วนิ่วหน้า

๓. อปราปรเจตนา ครั้นเมื่อให้ทานผ่านไปแล้วเมื่อย้อนนึกถึงการให้ทานครั้งนั้นเมื่อใดก็เกิดปิติชื่นชมโสมนัสไม่รู้สึกเสียดาย

เมื่อเจตนาพร้อมทั้ง ๓ กาลคือก่อนให้ขณะให้หลังให้ ท่านเรียกว่า เจตนาสัมปทา คือถึงพร้อมด้วยเจตนาสำหรับวัตถุที่นำมาบริจาคต้องเป็นวัตถุที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ไม่ผิดศีลผิดธรรมได้มา ชื่อว่าวัตถุสัมปทา ฉะนั้นถ้าฝ่ายทายกคือผู้ให้ ถึงพร้อมด้วยองค์ ๒ ดังกล่าวมาข้างต้นคือเจตนาสัมปทาและวัตถุสัมปทา ย่อมทำให้ทานมีผลมากมีอานิสงส์มาก ยิ่งถ้าผู้รับเป็นพระอรหันต์เพิ่งออกจากสมาบัติย่อมจะมีผลทันตาเห็นภายในเจ็ดวันหรือภายในชาตินี้ สำหรับการให้ทานถ้าแบ่งตามผู้รับแบ่งได้เป็น ๒ คือ

๑. ปาฏิปุคคลิกทาน คือการให้ทานที่เจาะจงตัวผู้รับตามความชอบใจของผู้ให้ทาน

๒. สังฆทาน คือการถวายทานแก่หมู่สงฆ์ไม่เจาะจงผู้รับ

ในทานทั้ง ๒ นั้นสังฆทานย่อมมีผลอานิสงส์ยิ่งใหญ่มากกว่าปาฏิปุคลิกทาน สำหรับปาฏิปุคลิกทานนั้นถ้าจะมีผลมาก ผู้ให้จะต้องถึงพร้อมด้วยเจตนาสัมปทา ทั้ง ๓ กาล ส่วนผู้รับก็ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ

๑. ปราศจากราคะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อละราคะ

๒. ปราศจากโทสะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อละโทสะ

๓. ปราศจากโมหะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อละโมหะ

สำหรับการถวายสังฆทานให้มีผลสมบูรณ์นั้น ให้บุคคลผู้ให้ทานตั้งจิตอุทิศทานว่าเราถวายทานบูชาแด่พระอริยเจ้า อย่าคิดว่าเราถวายทานแด่ภิกษุปุถุชน การถวายสังฆทานในปัจจุบันสมัยนี้มี ๒ แบบคือ

๑. ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ คืออาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์มารับทานตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ตั้งใจถวายเป็นสังฆทาน

๒. ไปบอกขอนิมนต์พระภิกษุ ๑ รูป ๒ รูปหรือ ๓ รูปจากคณะสงฆ์ในอาวาสใดอาวาสหนึ่งโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นพระภิกษุรูปใด ทางคณะสงฆ์ก็จะจัดพระภิกษุตามคิวที่จัดกันไว้ในอาวาสมาให้เรา

อนึ่งเมื่อเราผู้ให้ทานนั้นไปขอภิกษุมารับสังฆทานแล้วทางคณะสงฆ์จะจัดส่งพระเถระมาก็ดี จัดส่งพระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยก็ดี เราจงอย่าดีใจเสียใจว่าได้ภิกษุที่เราชอบหรือไม่ชอบ เพราะว่าถ้าเราดีใจหรือเสียใจจะไม่เป็นสังฆทาน ให้ทำจิตเป็นกลางไม่ดีใจเสียใจแล้วตั้งใจอุทิศถวายทานบูชาแด่พระอริยเจ้า การให้ทานของเราก็จะเป็นสังฆทานสมใจ ด้วยว่าสังฆทานนี้มีผลมากมีอานิสงส์มากกว่าทานที่เจาะจงให้แก่คนที่เราชอบใจ พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงอานิสงส์แห่งทานเป็นลำดับขั้นไปดังนี้คือ

บุคคลให้ทานแก่สัตว์เดียรฉานร้อยหนไม่มีผลเท่าให้แก่คนทุศีลเช่นนายพรานคนหาปลา ๑ หน บุคคลให้ทานแก่คนทุศีล ๑๐๐ คนไม่เท่ากับให้แก่คนมีศีล ๑ หน ให้แก่คนมีศีล ๑๐๐ หนไม่เท่าให้แก่พระโสดาบัน ๑ หน ให้แก่พระโสดาบัน ๑๐๐ หนไม่เท่าให้แก่พระสกิทาคามี ๑ หน ให้แก่พระสกิทาคามี ๑๐๐ หนไม่เท่าให้แก่พระอนาคามี ๑ หน ให้แก่พระอนาคามี ๑๐๐ หนไม่เท่าให้แก่พระอรหันต์ ๑ หน ให้แก่พระอรหันต์ ๑๐๐ หนไม่เท่าให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ หน ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ หน ไม่เท่าให้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ หน ให้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ หนไม่เท่าถวายสังฆทาน ๑ หน ถวายสังฆทาน ๑๐๐ หนไม่เท่าถวายวิหารทาน ๑ หน (วิหารทานคือการก่อสร้างกุฏิวิหารศาลาอุโบสถเสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยถวายแก่วัดวาอาราม) ถวายวิหารทาน ๑๐๐ หนไม่เท่ากับมีจิตศรัทธารับพระไตรสรณาคมน์คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง ๑ หน รับพระไตรสรณาคมน์ ๑๐๐ หนก็ไม่เท่าการสมาทานศีล ๕ ประการ ๑ หน การสมาทานศีล ๕ ประการ ๑๐๐ หนก็ไม่มีผลเท่าการตั้งจิตแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงชั่วเวลาเพียงรีดนมโค ๑ หน การแผ่เมตตาชั่วเวลารีดนมโค ๑ หน ไม่มีอานิสงส์เท่ากับการเจริญอนิจจสัญญาคือการระลึกถึงความไม่เที่ยงของสังขารรูปธรรมนามธรรม ชั่วเวลาเพียงไก่ปรบปีก

ทีนี้ถ้ามีคำถามว่าทำไมสังฆทานจึงมีผลมาก พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าสังฆทานย่อมเป็นสาธารณะทั่วไปแก่พระสงฆ์ทั้งปวงมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น มีพระสงฆ์ที่บวชใหม่เป็นที่สุด สังฆทานย่อมเกื้อหนุนให้พระสงฆ์ได้มีโอกาสเล่าเรียนศึกษาทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา อันจะทำความยั่งยืนแก่พระพุทธศาสนาไปจนถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ฉะนั้นการถวายสังฆทานจึงมีผลมากเพราะเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาไปในตัว

ทานอาจแบ่งเป็น ๒ อย่างคือ อามิสทานและธรรมทาน อามิสทานคือการให้วัตถุข้าวของ ส่วนธรรมทานคือการให้ธรรมะ

ทานอาจแบ่งเป็น ๓ อย่างคือทาสทาน สหายทาน และสามีทาน ทาสทานหมายถึงการให้ของที่เลวกว่าของที่เราใช้สอย สหายทานหมายถึงการให้ของที่เสมอกับของที่เราใช้สอย สามีทานหมายถึงการให้ของที่ประณีตกว่าของที่เราใช้สอย ในทานทั้ง ๓ ประการนั้นสามีทานมีอานิสงส์มากที่สุด ส่วนทาสทานมีอานิสงส์น้อยที่สุด

การให้ทานนั้นถ้าหากผู้ให้เป็นผู้มีศีลด้วย อานิสงส์แห่งทานก็จะยิ่งมีมาก ฉะนั้นก่อนการถวายทานจึงนิยมอาราธนาศีลก่อนด้วยเหตุฉะนี้ การให้ทานเป็นการละความโลภ การรักษาศีลเป็นการละความโกรธ การเจริญภาวนาเป็นการละความหลง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อจะแสดงเส้นทางไปสู่ทางนิพพานย่อมจะสั่งสอนให้เวไนยสัตว์รู้จักการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา ฉะนั้นบุคคลผู้ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา จงปรารถนาการดับโลภโกรธหลงจึงจะตรงสู่ทางนิพพานอันเป็นแดนพ้นทุกข์ ถ้ายังมัวปรารถนามนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติอยู่แล้ว ก็จะเป็นการเนิ่นช้าพาให้เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในวัฏฏสงสารสิ้นกาลนานไม่มีกำหนดที่จะหมดชาติ แต่ว่าผู้ให้ทานเป็นนิสัยก็ย่อมจะสามารถได้ซึ่งมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติได้ถ้าหากมีความปรารถนา สำหรับมนุษย์สมบัติสามารถเรียงลำดับแห่งความไพบูลย์ของผลได้ดังนี้

๑. จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์อันมีแก้วทั้ง ๗ ประการคือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว มีอาณาเขตแผ่ไป ๔ ทิศ

๒. เป็นกษัตริย์มีสมบัติบริบูรณ์ มีลาภยศปรากฏไปในอาณาเขต

๓. เป็นเศรษฐีมีทรัพย์มากบริบูรณ์นับด้วยโกฏิ

๔. เป็นกฎุมพีมีทรัพย์มากแต่ไม่เท่าเศรษฐี

๕. เป็นพลเรือนมีทรัพย์พอใช้ไม่ขาดมือ

แต่อย่างไรก็ตามท่านกล่าวไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้ให้ทานจะไปสู่ที่อดอยากขาดแคลนนั้นเป็นไม่มี พระศาสดาทรงตรัสถึงผลแห่งทานไว้กับสิงหเสนาบดีเป็นความว่า

๑. ทายกผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักแก่คนทั้งปวง

๒. ทายกผู้ให้ทานย่อมเป็นที่คบหาแก่คนทั้งหลาย

๓. ทายกผู้ให้ทานย่อมเป็นที่สรรเสริญแก่มนุษย์และเทวดา

๔. ทายกผู้ให้ทานย่อมมียศใหญ่มีบริวารมาก

๕. ทายกผู้ให้ทานย่อมไม่กลัวไม่เก้อเขินเป็นผู้แกล้วกล้าในประชุมชน

การให้ทานย่อมยังสามารถแยกเป็น ๒ ประการได้อีกคือการให้ด้วยสงเคราะห์และการให้ด้วยการบูชา การให้ด้วยการสงเคราะห์นั้นคือให้แก่คนยากจนอนาถาหาที่พึ่งไม่ได้ ให้แก่สัตว์เดียรัจฉานก็ชื่อว่าให้ด้วยสงเคราะห์ การให้ด้วยการบูชาคือให้แก่บิดามารดาปู่ย่าตายายและครูอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายที่มีคุณแก่ตนมาแต่ก่อนก็ดี ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีธรรม ภิกษุสามเณร และท่านที่ตั้งอยู่ในฌานสมาบัติมรรคผล เหล่านี้ชื่อว่าให้ด้วยการบูชา ในทานทั้ง ๒ นี้การให้ด้วยการบูชาย่อมมีอานิสงส์มากกว่าการให้ด้วยการสงเคราะห์

การให้ทานนั้นควรให้โดยเคารพในทาน อย่าให้โดยไม่เคารพประดุจเอาไปทิ้ง ควรให้ด้วยมือตนเองยกเว้นแต่สุดวิสัยจึงค่อยฝากผู้อื่นไปให้ เวลาให้ทานถ้ามีโอกาสให้ชักชวนคนอื่นให้ร่วมด้วยอย่าให้ทานคนเดียว เพราะถ้าให้ทานคนเดียวจะขาดพวกพ้องบริวารกลายเป็นคนเดียวดายไร้ญาติ ขาดมิตร ถ้าเราชักชวนให้ผู้อื่นร่วมทำทานกับเราด้วย อานิสงส์ย่อมเกื้อกูลให้เราได้มีพวกพ้องบริวาร ย่อมมีญาติ มีมิตร มีผู้รู้ใจ มีผู้คอยช่วยเหลือเกื้อกูล เวลาเห็นใครให้ทานจงอย่าไปขัดขวาง ถ้าไม่ได้ช่วยก็จงนิ่งเฉยเสีย อย่าไปพูดให้เขาเสียกำลังใจ ถ้ามีส่วนช่วยเขาได้ยิ่งดี ถ้าไม่ได้ช่วยให้กล่าวสรรเสริญชมเชยให้กำลังใจด้วยวาจา ถ้าไม่มีโอกาสกล่าววาจาให้อนุโมทนาพลอยยินดีด้วยใจ เวลาให้ทานจงอย่าให้เพื่อเอาหน้าเอาชื่อเสียง ให้ตั้งจิตศรัทธาใฝ่บุญกุศลแล้วจึงให้ทาน จงอย่าให้เพื่อจะทวงบุญคุณภายหลัง ให้แล้วให้เลยอย่างหวังให้ผู้รับทานมาตอบแทนบุญคุณเรา เมื่อเราได้ให้ทานด้วยของสิ่งใดไป ให้ตัดใจขาดจากของสิ่งนั้นไปทันทีทันใดที่เราให้ไปแล้ว อย่าตามไปดู ตามไปหวง ตามไปห่วงกังวลต่อของที่เราให้ไปแล้ว เมื่อเราให้ของสิ่งนั้นไปแล้วผู้รับทานจะนำของสิ่งนั้นไปทำอะไร จะนำไปใช้ หรือนำไปทิ้งก็อย่าไปสนใจ เพราะเราขาดจากของสิ่งนั้นมาแล้ว เราได้บุญมาแล้ว ของสิ่งนั้นไม่ใช่ของของเราที่เราจะต้องไปสนใจอีกต่อไป ถ้าเราให้แล้วตามไปดู ตามไปห่วง ตามไปหวงของที่เราให้ไปแล้ว ชื่อว่าเรายังไม่ได้ให้ ฉะนั้นตั้งแต่ขณะวินาทีที่ให้ทานต้องตัดใจจากของนั้นให้เด็ดขาด

ต่อไปจะกล่าวพรรณนาถึงธรรมทานการให้ซึ่งพระธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมทานย่อมชนะเสียซึ่งทานทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ถามว่าอย่างไรจึงชื่อว่าธรรมทาน ก็บุคคลใดเป็นผู้รู้ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาชี้แจงให้ผู้อื่นได้รับรู้เพื่อจะได้ละเว้นจากบาปบำเพ็ญกุศลได้ยกตนให้พ้นจากทางเสื่อมทั้งปวง หรือไปเชื้อเชิญผู้รู้ซึ่งธรรมมาแสดงชี้แจงซึ่งธรรมให้ผู้อื่นฟัง เพื่อจะให้ได้เกิดความสลดสังเวชในสังขาร เกิดความเลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย หรือว่าได้จัดสร้างหนังสือพระสูตรพระวินัย พระธรรม พระกรรมฐานแจกจ่ายให้แก่สัปบุรุษทั้งหลายและภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนศึกษาให้สืบพระศาสนาให้เจริญต่อไปก็เรียกว่าธรรมทาน มีอานิสงส์ใหญ่กว่าอามิสทานเช่นการให้วัตถุต่างๆ ธรรมทานจะมีอานิสงส์ให้สติปัญญาแกล้วกล้าเหมือนพระสารีบุตร ท่านกล่าวว่าในอดีตชาติอดีตกาลครั้งศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน พระสารีบุตรได้เกิดเป็นกฎุมพีมีศรัทธาเลื่อมใสได้สร้างพระไตรปิฎกไว้ในพระพุทธศาสนา ครั้นเมื่อแตกกายทำลายขันธ์ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลกสิ้นกาลนาน เมื่อมาเกิดในศาสนานี้ได้ออกบวชมีนามว่าพระสารีบุตรมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดแกล้วกล้ากว่าพระสาวกทั้งปวง ก็ด้วยอานิสงส์แห่งการสร้างคัมภีร์พระธรรมไว้ให้เป็นทานในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นอุบาสกอุบาสิกาอยากจะให้ตนเป็นผู้มีปัญญา จงสร้างหนังสือธรรมะแจกจ่ายเป็นทานเถิด จะเป็นกุศลอันประเสริฐทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อนึ่งธรรมทานที่เป็นโลกิยะคือแสดงธรรมชี้ทางมนุษย์ทางสวรรค์และทางพรหมโลกเป็นที่สุดย่อมมีผลอานิสงส์น้อย เพราะเป็นธรรมนำสัตว์ให้เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในวัฏฏสงสารไม่ให้สัตว์ถึงซึ่งพระนิพพานดับกองทุกข์ได้ ส่วนการให้ธรรมทานที่เป็นทางโลกุตตระ คือแสดงพระไตรลักษณ์ญาณปัญญาพิจารณาสังขารรูปธรรมนามธรรมให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือแสดงอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ให้เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยปัญญาอันจะนำไปสู่ทางนิพพาน ธรรมทานอย่างนี้จะมีอานิสงส์มาก ส่วนบุคคลผู้แสดงธรรมควรประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

๑. ควรแสดงธรรมไปโดยลำดับไม่ตัดลัดให้ขาดความ

๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ

๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ

๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่นหมายถึงไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

เมื่อแสดงธรรมดังนี้ย่อมเป็นธรรมทานอันประเสริฐแท้ ช่วยให้ผู้ฟังธรรมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการคือ

๑. ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๒. สิ่งใดเคยฟังแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด

๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้

๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

สำหรับบุคคลผู้ให้ทานเป็นนิจควรจะรู้จักวิธีการเจริญจาคานุสสติด้วย จาคานุสสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่ง แปลว่าการระลึกถึงการให้ทานเป็นอารมณ์ บุคคลที่จะเจริญจาคานุสสติให้ระลึกถึงการให้ทานของตนเอง จะเป็นการให้ทานในวันนี้ ในวันก่อนๆ หรือการให้ทานครั้งที่เราประทับใจมากๆ ก็ได้ แล้วท่องในใจหรือจะออกเสียงก็ได้ว่าดังนี้ "ในเมื่อประชาชนทั้งหลายถูกมลทินคือความตระหนี่ครอบงำอยู่ แต่เราเป็นผู้ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ เป็นผู้มีการเสียสละอย่างเด็ดขาด เตรียมพร้อมที่จะให้อยู่เสมอ ยินดีในการบริจาค เป็นผู้ควรในการขอ เป็นผู้ยินดีในทานและการแบ่งปันนั้น นับว่าเป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ" การเจริญจาคานุสสตินี้มีผลมากมีอานิสงส์มาก คือจะช่วยเพิ่มพูนบุญกุศลจากการให้ทานของเราให้เพิ่มทวีคูณเป็นร้อยเท่าพันเท่า ช่วยให้จิตใจผู้บริจาคทานผ่องใส น้อมไปในการบำเพ็ญทานมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เป็นคนมีอัธยาศัยไม่โลภ มีจิตเมตตาอยู่สม่ำเสมอโดยปกติ แกล้วกล้ากล้าหาญในชุมชน มากด้วยปิติและปราโมช จิตเป็นสมาธิง่ายฟุ้งซ่านยาก นอกจากนั้นจาคานุสสติจะช่วยให้ผู้เจริญบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่ายมาก เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ตราบที่ไม่ถึงพระนิพพานก็มีสุคติเป็นที่ไป

อนึ่งบุคคลผู้ให้ทาน จงอย่าให้ทานเจือด้วยตัณหาความอยากในภพ คืออย่าปรารถนาการเกิดในมนุษย์ สวรรค์ และชั้นพรหม ควรจะอธิษฐานตัดลัดออกจากการเวียนว่ายตายเกิดไปสู่พระนิพพาน ฉะนั้นทุกครั้งที่ทำทานให้อธิษฐานว่า "ผลทานอันนี้ที่ข้าพเจ้าได้น้อมถวาย ขอให้เป็นปัจจัยแก่มรรคผลนิพพาน ในอนาคตกาลอันใกล้นี้เทอญ" ดังแสดงมาด้วยกถาที่ว่า การให้ทานเป็นมงคลอันประเสริฐ ก็จบลงเพียงนี้

มงคลที่ ๑๖ การประพฤติธรรม (ธัมมะจะริยา จะ)

ชนเหล่าใดประพฤติซึ่งธรรมอันชอบประกอบด้วยสุจริตอยู่เนืองนิตย์มิได้ขาดจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ ความสุจริตนั้นมี ๑๐ คือ กายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ รวมเป็น ๑๐ เรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เป็นหนทางที่เกิดที่ไหลมาแห่งกุศล อีกอย่างหนึ่งบุคคลประพฤติซึ่งธรรมสุจริต ๑๐ ประการให้บริบูรณ์เสมอเป็นนิจแล้ว ย่อมจะปิดเสียซึ่งอกุศลบาปธรรมที่จะนำสัตว์สู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้นความสุจริตทั้งหลายจึงเป็นธรรมที่นำสัตว์ทั้งหลายไปสู่สุคติภพ กรรมบถ ๑๐ ประการนั้นคือ กายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ กายสุจริตคือ

๑. ไม่ฆ่าสัตว์

๒. ไม่ลักทรัพย์

๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม

วจีสุจริตคือ

๑. ไม่พูดปด

๒. ไม่พูดส่อเสียดให้คนแตกกัน

๓. ไม่พูดคำหยาบ

๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อหาสาระมิได้

มโนสุจริต ๓ คือ

๑. ไม่คิดโลภเจตนาเพ่งเล็งจะลักข้าวของผู้อื่นมาเป็นของตน

๒. ไม่มีจิตโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรผูกเวรในสัตว์ทั้งปวง

๓. ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น รวมเป็นกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าเมื่อบุคคลใดรักษากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้เสมอเป็นนิตย์ ครั้นสิ้นชีวิตก็จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามิดังนั้นจะปรารถนามรรคผลนิพพานฌานสมาบัติจนถึงพระอรหัตผลเป็นที่สุด ก็จงตั้งใจสมาทานรักษากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ไว้ให้จงดีเพราะจะช่วยตัดบาปกรรมทางกายวาจาใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์หลุดพ้นยกตนออกจากอวิชชาตัณหาได้ อนึ่งบุคคลจะละบาปทางกายวาจาต้องละด้วยศีล จะละบาปทางใจต้องอาศัยการเจริญสมาธิและปัญญา ฉะนั้นบุคคลที่จะรักษากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้บริสุทธิ์ในขันธสันดาน ต้องอาศัยการเจริญศีลสมาธิปัญญา อนึ่งอุปนิสัยฝ่ายดีของสัตว์ท่านว่ามี ๓ คือ

๑. อุปนิสัยที่ยินดีในการให้ทาน ย่อมทำให้ความโลภเบาบาง

๒. อุปนิสัยที่ยินดีในการรักษาศีล ย่อมทำให้ความโกรธเบาบาง

๓. อุปนิสัยที่ยินดีในการเจริญภาวนา ย่อมทำให้ความหลงเบาบาง

อุปนิสัยที่ชอบให้ทานรักษาศีลย่อมเกื้อหนุนให้บรรลุมรรคผลเบื้องต่ำ ๓ คือพระโสดาสกิทาคาอนาคา ส่วนอุปนิสัยในการเจริญภาวนาย่อมเกื้อหนุนให้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงคืออรหัตผล อนึ่งการบำเพ็ญทานศีลภาวนาที่ทำด้วยตัณหามีกำลังน้อย ทานศีลภาวนาที่ไม่ทำด้วยตัณหามีกำลังมาก อาศัยในตัณหาคือยังยินดีในภพชาติการเวียนว่ายตายเกิด ไม่อาศัยตัณหาคือมีปัญญาพิจารณาซึ่งกองทุกข์คือความเกิด ความแก่ชราเจ็บไข้โรคภัยบีฑา ความมรณะแตกดับทำลาย ความโศกเศร้าพิรี้พิไรรำพันร้องไห้ปริเทวนาการด้วยการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดแก่ตาปัญญาย่อมเห็นเป็นทุกข์โทษ ก็ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสังขารในภพทั้งหลาย ทั้งภพเบื้องต่ำคือเปรตอสุรกายสัตว์เดรัจฉานและนรก ภพเบื้องสูงคือมนุษย์สวรรค์และพรหมโลก เมื่อเห็นโทษในสังขารและภพดังนี้จิตจะยินดีซึ่งพระนิพพาน จะทำบุญให้ทานก็ไม่น้อมไปเพื่อการสร้างภพชาติเป็นทาสแห่งตัณหา จะทำกุศลอันใดก็ตั้งใจแต่ให้ไปสู่พระนิพพาน

สำหรับบุคคลผู้รักษาศีลเป็นนิจนั้นควรจะรู้จักวิธีการเจริญสีลานุสสติด้วย สีลานุสสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่งแปลว่าการระลึกถึงศีลของตนเองเป็นอารมณ์ บุคคลที่จะเจริญสีลานุสสตินั้นให้ระลึกถึงศีลที่ตัวเองรักษาเป็นนิจ นึกถึงศีลที่ตัวเองรักษาจนเป็นนิสัย แล้วท่องในใจหรือจะออกเสียงก็ได้ว่าดังนี้ "โอหนอ ศีลทั้งหลายของเรา เป็นศีลไม่ทะลุ เป็นศีลไม่ด่าง เป็นศีลไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทยไม่เป็นทาสกิเลส เป็นศีลที่ผู้รู้สรรเสริญ เป็นศีลที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยตัณหาและทิฏฐิ เป็นศีลที่ยังสมาธิให้บังเกิดได้" แล้วพึงตั้งจิตให้ชื่นชมโสมนัสยินดีภูมิใจปิติศรัทธาในศีลที่ตนเองเพียรพยายามรักษา แล้วๆ เล่าๆ ดังนี้ ชื่อว่าการเจริญสีลานุสสติ

การเจริญสีลานุสสตินี้มีผลมากมีอานิสงส์มาก คือจะช่วยเพิ่มพูนบุญกุศลจากการรักษาศีลของเราให้เพิ่มทวีคูณเป็นร้อยเท่าพันทวี ช่วยให้จิตใจของผู้รักษาศีลผ่องใสน้อมไปในการรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เป็นคนมีอัธยาศัยไม่โกรธ ขัดเกลาจิตตนเองให้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรมอยู่สม่ำเสมอ โดยปกติ แกล้วกล้ากล้าหาญในชุมชน ได้ความไพบูลย์แห่งคุณทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น จิตใจเบิกบาน ไม่กินแหนงแคลงใจด้วยความผิดและบาป มากด้วยปิติและปราโมช จิตเป็นสมาธิง่ายฟุ้งซ่านยาก นอกจากนั้นสีลานุสสติจะให้ผู้เจริญบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่ายมาก เป็นปัจจัยให้บรรลุนิพพาน ตราบที่ไม่ถึงนิพพานก็มีสุคติเป็นที่ไป ดังที่ได้อธิบายบรรยายมาก็เพื่อแสดงว่า การประพฤติธรรมย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๑๗ การสงเคราะห์ญาติ (ญาตะกานัญจะ สังคะโห)

บุคคลใดมีจิตใจโอบอ้อมอารียินดีที่จะสงเคราะห์แก่ญาติทั้งหลายทั้งฝ่ายบิดามารดา ที่มีความยากจนอนาถาหาที่พึ่งพามิได้ เอื้อเฟื้อให้ปัจจัย ๔ หรือให้ทุนไปประกอบอาชีพ หาเครื่องใช้ไม้สอยให้ เวลาเจ็บไข้หาหยูกยามาพยาบาล เมื่อเป็นความก็ช่วยแก้ไขให้พ้นคดี มีการงานสิ่งไรก็ช่วยให้สำเร็จ สงเคราะห์ดังนี้ชื่อว่าสงเคราะห์ด้วยอามิส ส่วนการสงเคราะห์ด้วยธรรมนั้นคือชักชวนหมู่ญาติให้สร้างกุศล มีการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาเป็นต้น จนถึงอุปถัมภ์ให้ได้บวชบรรพชา ให้ได้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย ดังนี้ รวมเรียกว่าการสงเคราะห์ญาติ เป็นประเพณีแห่งบัณฑิตทั้งหลายมีพระโพธิสัตว์เป็นต้นทำมาแต่ปางก่อน บุคคลผู้มีทรัพย์ไม่คิดสงเคราะห์แก่ญาติชื่อว่าทำตระกูลให้สิ้นศูนย์ไป นับตระกูลแห่งญาติไม่ได้ตามลำดับ บุคคลผู้มีทรัพย์แล้วสงเคราะห์แก่ญาตินั้นจะยังตระกูลให้เจริญรุ่งเรืองไปนาน อนึ่งบุคคลมีทรัพย์แล้วไม่ใช้สอยไม่ทำบุญให้ทานการกุศล ผู้นั้นชื่อว่าคนจน อนาถาหาทรัพย์มิได้ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรทั้งชาตินี้และชาติหน้า นับเป็นคนพาลหาปัญญามิได้ ด้วยทรัพย์นั้นไม่เป็นของใคร เป็นแต่ของกลางๆ สำหรับใช้ ตายแล้วเอาไปไม่ได้ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นของสำหรับแผ่นดินอยู่ธรรมดา ใครเกิดมาก็รักษาครอบครองต่อไป ทรัพย์สมบัตินั้นย่อมประกอบด้วยภัยต่างๆ หลายประการ เช่นราชภัยคือถูกบ้านเมืองริบเอายึดทรัพย์เพราะผิดกฎเกณฑ์ต่างๆ อัคคีภัยคือภัยอันเกิดแต่ไฟ อุทกภัยคือภัยอันเกิดแต่น้ำ วาตภัยคือภัยอันเกิดแต่ลม เมื่อภัยเหล่านี้เกิด เราก็ไม่อาจต้านทานรักษาทรัพย์ไว้ได้ตามความประสงค์ เพราะฉะนั้นทรัพย์ทั้งหลายจึงไม่ใช่ของเรา เป็นของสำหรับอาศัยใช้สอยชั่วคราวไปตามกาลและโอกาส เมื่อแตกดับสังขารก็เอาไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็มีภัย คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี้ก็ชื่อว่าภัย ซึ่งภัยนี้จะแก้ได้ด้วยการบรรลุธรรมให้ได้มรรคผลนิพพานจึงจะพ้นได้

บุคคลมีทรัพย์แล้วไม่บริโภคไม่ทำกุศล ไม่สงเคราะห์แก่ญาติของตน เรียกว่าคนอสัปบุรุษปราศจากคุณธรรมคือความเมตตากรุณาและศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ไม่คิดเผื่อแผ่แก่ผู้อนาถา ได้ทรัพย์มาก็ตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหนว่าเป็นของของตน ไม่หว่านพืชให้เกิดผลไปในอนาคตกาล หลงรับประทานแต่ของเก่า ไม่สร้างกุศลใหม่ต่อไปในโอกาสข้างหน้า ส่วนการรู้จักสงเคราะห์หมู่ญาตินั้นย่อมยังให้เกิดกุศลกองบุญอุดหนุนให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นที่ผูกพันญาติวงศาไว้ให้มั่นคงไม่ให้แตกร้าวกระจัดกระจายทำลายไป เบื้องหน้าก็จะบังเกิดในตระกูลที่พรักพร้อมด้วยญาติวงศ์พงศาทั้ง ๒ ฝ่าย ดังบรรยายมาแสดงให้เห็นว่าการสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการนี้แล

มงคลที่ ๑๘ การงานไม่มีโทษ (อะนะวัชชานิ กัมมานิ)

บุคคลทั้งหลายใดกระทำการงานที่ไม่มีโทษจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ ในคัมภีร์อรรถกถาท่านยกตัวอย่างการงานที่ไม่มีโทษนั้นเช่น การรักษาศีลอุโบสถ การกระทำการขวนขวายช่วยเหลือในกิจการกุศลของผู้อื่น การปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงาทรงดอกออกผลไว้ในอารามวัดวาก็ดี สร้างสะพานไว้เป็นที่เดินข้าม เหล่านี้ที่ท่านยกตัวอย่างมาเป็นการงานไม่มีโทษแก่ตนเองและผู้อื่น ย่อมยังให้สำเร็จประโยชน์ทั้งปวง

จะกล่าวถึงอุโบสถศีลคือการรักษาศีล ๘ ข้อในช่วงวันเวลาที่กำหนดเช่นรักษาในวันพระวันหนึ่งคืนหนึ่ง หรือตั้งใจรักษาให้ครบ ๗ วันหรือแล้วแต่จิตศรัทธา ศีลทั้ง ๘ ข้อนั้นคือ

๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์เองและใช้ให้ผู้อื่นฆ่า

๒. เว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเองและใช้ให้ผู้อื่นลัก

๓. เว้นจากการเสพกามอันเป็นการประกอบกิจของเพศคฤหัสถ์

๔. เว้นจากการพูดปดหลอกลวงผู้อื่น

๕. เว้นจากการดื่มสุราเมรัย

๖. เว้นจากการบริโภคอาหารตั้งแต่เที่ยงไปจนอรุณวันใหม่ขึ้นมา

๗. เว้นจากการดูการละเล่นอันไม่ประกอบด้วยกุศลและประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอม

๘. เว้นจากการนั่งนอนที่สูงใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี

ถามว่าการรักษาศีล ๘ นี้มีอานิสงส์อย่างไร

๑. การไม่ฆ่าสัตว์นั้นเป็นหนทางสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมีอายุยืนยาวนานไม่ตายแต่เด็กแต่หนุ่ม

๒. ไม่ลักทรัพย์เป็นทางสวรรค์ ถ้ามาเกิดในมนุษย์ทรัพย์สินจะไม่ฉิบหายด้วยภัยต่างๆ

๓. ไม่เสพกามนั้นเป็นนิสัยแห่งพระนิพพาน คือจะดับกิเลสราคะความกำหนัดในสันดาน

๔. ไม่พูดปดเป็นหนทางสวรรค์ ถ้ามาเกิดในมนุษย์จะไม่ถูกใครล่อลวง

๕. ไม่ดื่มสุรานั้นเป็นหนทางสวรรค์ ถ้ามาเกิดในมนุษย์จะมีปัญญาไม่บ้าใบ้เสียจริต

สำหรับข้อ ๖,๗,๘ คือไม่กินอาหารเวลาวิกาล ไม่ดูฟ้อนรำขับร้องและประดับร่างกาย ไม่นั่งนอนบนเตียงสูงใหญ่ ทั้ง ๓ ข้อนี้ทำให้เจริญในพรหมจรรย์ คือเป็นเครื่องกำจัดกิเลสราคะโทสะโมหะให้เบาบางจากสันดาน สร้างนิสัยให้เข้าใกล้พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้า

ถ้าถามว่าศีลทั้ง ๘ ข้อ ถ้ารักษาไม่ได้มีโทษอย่างไร

๑. โทษที่ฆ่าสัตว์นำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะอายุสั้นพลันตายตั้งแต่ยังเด็กยังหนุ่ม

๒. โทษที่ลักทรัพย์ก็เป็นหนทางอบาย ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจนอนาถามีทรัพย์ก็ฉิบหายด้วยโจรและภัยต่างๆ

๓. โทษที่เสพกามนั้นเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ คือจะไกลจากพระนิพพาน ให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารช้านานไม่มีกำหนด

๔. โทษกล่าวมุสานั้นเป็นหนทางอบาย ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะถูกล่อลวงอยู่เสมอ และถูกโจทย์ความใส่ร้ายด้วยความเท็จให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ

๕. โทษดื่มสุรานั้นเป็นหนทางอบาย นายนิรยบาลทั้งหลายกรอกด้วยน้ำทองแดง น้ำถึงปากปากพัง ถึงคอคอพัง น้ำถึงท้องท้องก็พัง ทำลายไส้พุงก็ขาดกระจัดกระจาย ตายแล้วก็เป็นขึ้นมาอีก โดนกรอกน้ำทองแดงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรม ครั้นมาบังเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลาเบาปัญญาเป็นใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์

สำหรับข้อ ๖,๗,๘ โทษที่กินอาหารในเวลาวิกาลดูฟ้อนรำขับร้องและประดับร่างกาย นั่งนอนบนเตียงสูงใหญ่ ทั้ง ๓ ข้อไม่ให้ผลไปสู่อบาย เป็นแต่ทำลายพรหมจรรย์ให้เศร้าหมองด้วยราคะความกำหนัดยินดีในรูปเสียงเป็นต้น

สำหรับอานิสงส์การรักษาอุโบสถศีลนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสกับนางวิสาขาว่าดูกรวิสาขา ศีลอุโบสถอันมีองค์ ๘ ประการ เป็นธรรมเครื่องชำระสันดานของสัตว์ให้บริสุทธิ์ เป็นหนทางพระนิพพาน พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมสมาทานรักษาจนสิ้นชีวิต อันอุโบสถศีลนี้มีผลมาก มีอานิสงส์มากให้สำเร็จประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า บุคคลใดในโลกนี้รักษาอุโบสถศีล ๘ ประการเป็นเครื่องชำระสันดานให้ผ่องใสระงับกิเลสภายในให้เบาบางเป็นหนทางนิพพาน ผลที่รักษาศีลอุโบสถได้บริสุทธิ์ได้วันหนึ่งคืนหนึ่งนั้นมีผลมากนักหนา ประดุจดังว่าสมบัติทั้งหลายมีแก้วแหวนเพชรนิลจินดามีราคาใน ๑๖ พระนครใหญ่ สมบัติทั้งหมดนั้นไซร้น้อยนักหนาเมื่อนำมาเทียบกับเสี้ยวที่ ๑๖ ที่แบ่งออกมาดังนี้ ๑๖ ครั้งของผลแห่งการรักษาอุโบสถที่บุคคลรักษาให้บริสุทธิ์ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง หมายความว่าเอาผลแห่งการรักษาศีลอุโบสถให้บริสุทธิ์วันหนึ่งคืนหนึ่ง มาแบ่งเป็น ๑๖ ส่วน แล้วเอาส่วนที่แบ่งแล้วไปแบ่งเป็นอีก ๑๖ ส่วนแบ่งดังนี้อีกจนครบ ๑๖ ครั้ง เสี้ยวเดียวที่แบ่งออกมาเท่ากับ ๑/๑๖ ยกกำลัง ๑๖ นั้น ยังมีค่ามากกว่าสมบัติจากทั้ง ๑๖ พระนครรวมกัน เพราะเหตุที่ว่าสมบัติในมนุษย์ย่อมต่ำกว่าสมบัติของเทวดา อานิสงส์การรักษาอุโบสถนั้นคือสมบัติแห่งเทวดานั่นเอง เพราะฉะนั้นบุคคลผู้รักษาอุโบสถศีลจะปรารถนามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติก็คงจะได้ตามประสงค์ทุกประการ

อนึ่งบุคคลผู้รักษาศีลอุโบสถนั้น ถ้าต้องการให้อานิสงส์แห่งอุโบสถศีลยิ่งใหญ่ไพศาลเป็นทวีคูณนั้นท่านสอนให้กระทำกิจ ๗ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือจะทำครบทั้ง ๗ ได้ก็จะยิ่งดีจะนำความเจริญมาสู่ผู้รักษาอุโบสถเป็นร้อยเท่าพันทวี คือ

๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์

๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์เป็นอารมณ์

๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาเป็นอารมณ์

๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคทานเป็นอารมณ์

๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้คนบังเกิดเป็นเทวดา คือ ศรัทธาความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ศีลการสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย สุตะการได้ยินได้ฟังธรรมะ จาคะการสละการบริจาคทาน ปัญญาการรู้ถูกตรงตามทำนองคลองธรรมหรือการรู้แจ้งในสภาวะของสังขารคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

๗. การพูดธรรมกล่าวธรรมะ สนทนาธรรมะระหว่างช่วงการรักษาอุโบสถ ไม่ยกเรื่องเพ้อเจ้อเหลวไหลตลกโปกฮามากล่าวต่อกันในช่วงการรักษาอุโบสถ ตั้งจิตอยู่กับธรรมะเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่า

บัดนี้จะได้กล่าวอธิบายแนะนำในการเจริญเทวตานุสสติพอเป็นสังเขป บุคคลผู้ต้องการเจริญเทวตานุสสติพึงไปในที่สงบแล้วตั้งเทวดาทั้งหลายไว้ในฐานะพยานเพื่อจะระลึกถึงคุณธรรมของตนเองว่ามีเช่นเดียวกับที่เทวดาทั้งหลายมี การระลึกนั้นว่าดังนี้ "เทวดาทั้งหลายย่อมมีอยู่จริงทั้งชั้นสูงชั้นต่ำ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาอย่างใดจึงไปอุบัติเป็นเทวดา ศรัทธาอย่างนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลอย่างใด สุตะอย่างใด จาคะอย่างใด ปัญญาอย่างใด แม้ของเราก็มีอยู่" เมื่อเธอระลึกอยู่อย่างนี้ กิเลสทั้งหลายมีราคะ โทสะ โมหะเป็นต้นย่อมไม่กลุ้มรุมจิตเธอเลย เมื่อบุคคลเจริญเทวตานุสสติอยู่เนืองๆ ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย จะเข้าถึงความไพบูลย์แห่งคุณธรรมทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้น จะเป็นผู้มากไปด้วยปิติและปราโมชอยู่ เมื่อยังไม่บรรลุนิพพานเธอย่อมมีสุคติเป็นที่ไป

ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายย่อมน้อยนักไม่เที่ยงแท้แน่นอน ตั้งแต่วันเกิดก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระยามัจจุราชจะมาเบียดเบียนบีฑาในวันใดก็มิรู้ได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่บังเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาจงอย่าประมาทในวันเวลา จงขวนขวายประกอบการงานที่ปราศจากโทษ มีการรักษาอุโบสถศีล ขวนขวายด้วยกายและวาจาช่วยเป็นธุระในกิจกรรมอันเป็นกุศลของคนทั้งปวง จัดแต่งหนทางที่เป็นลุ่มเป็นดอนให้สม่ำเสมอ เก็บกวาดเสี้ยนหนามหลักตอกอหญ้าขุดขนให้พ้นทำเป็นถนนให้บุคคลเดิน ทำสะพานให้บุคคลได้ข้าม ปลูกต้นไม้ให้ได้ร่มเงาเป็นที่อาศัย ขุดสระน้ำกระทำศาลาไว้ให้พักผ่อน แจกจ่ายอาหารข้าวน้ำให้ประชาชนคนทั้งหลายพร้อมทั้งสมณชีพราหมณ์ได้ดื่มกิน การกระทำสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ชื่อว่าการงานที่ปราศจากโทษ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ทางสวรรค์นิพพานในเบื้องหน้า ท่านจึงกล่าวว่าการประกอบการงานที่ปราศจากโทษย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๑๙ การงดเว้นบาป (อาระตี วิระตี ปาปา)

บุคคลผู้ใดไม่ยินดีในบาปกรรมทั้งหลายคือมาเห็นโทษในการทำบาปหยาบช้าแล้วไม่ทำบาปด้วยกายวาจาใจ กระทำสุจริตอันจะเป็นประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้าจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ บุคคลที่จะเว้นบาปนั้นอาศัยสติปัญญาพิจารณาเห็นโทษ คือโทษในชาตินี้ และโทษชาติหน้า โทษชาตินี้นั้นคือเห็นว่านักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นมนุษย์และเทวดา ทั้งที่เป็นกัลยาณปุถุชนหรือเป็นพระอริยเจ้าก็ดี ย่อมติเตียนคนทั้งหลายทั้งที่ทำบาปในที่ลับและที่แจ้ง อนึ่งเห็นว่าชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นชาติอันบริสุทธิ์ไม่ควรทำบาป หรือเห็นอายุเรามากเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ควรทำบาป หรือเห็นว่าเราเป็นผู้มีตระกูลไม่ควรทำบาป หรือเห็นว่าทำบาปแล้วจะต้องอาญาจองจำ เหล่านี้คือเห็นโทษในชาตินี้ สำหรับเห็นโทษชาติหน้าคือเห็นว่าถ้าทำบาปแล้วจะต้องไปทนทุกข์อยู่ในอบายภูมิทั้ง ๔ มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เมื่อบุคคลทั้งหลายมาเห็นโทษในชาตินี้ชาติหน้าแล้วพึงละเว้นซึ่งการทำบาปต่างๆ มิให้มีในสันดาน ก็จะนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐแก่ชีวิตไปสิ้นกาลนานแล

มงคลที่ ๒๐ การเว้นจากการดื่มน้ำเมา (มัชชะปานา จะ สัญญะโม)

บุคคลใดมีความสำรวมสังวรรักษาตนไว้ มิให้ไปดื่มกินซึ่งน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นสิ่งนำมาซึ่งความประมาทจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ

ถามว่าโทษที่กินสุรานั้นจะเป็นโทษอย่างไร แก้ว่ามีโทษมาก ย่อมให้เกิดความประมาทปราศจากการเคารพแก่บิดามารดา พี่ป้าน้าอาอุปัชฌาย์อาจารย์และสมณพราหมณ์ผู้มีศีล และไม่เคารพในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เคารพในศีลาจารวัตรข้อปฏิบัติกายวาจาใจให้บริสุทธิ์เป็นทางมนุษย์และทางสวรรค์นิพพาน ทำแต่การหยาบช้า มีการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์เป็นต้น ทำแต่อกุศลกรรมเป็นนิจไม่คิดกรุณา และโทษที่กินสุราเมรัยพาไปให้ตกอบาย นายนิริยบาลกรอกด้วยน้ำทองแดง น้ำถึงปากปากพังถึงคอคอพังถึงท้องก็ไส้พุงขาดกระจายตายแล้วกลับเป็นขึ้นมาเสวยทุกขเวทนาซ้ำไปอีกจนกว่าจะหมดกรรมเมื่อพ้นจากอบายภูมิมาเกิดในเมืองมนุษย์ก็จะทำให้เป็นคนใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์ทั้งปวง ด้วยโทษที่กินสุราเมรัยทำให้ใจเป็นบ้า อนึ่งโทษที่กินสุราพาให้เสียทรัพย์ เหมือนดังหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งมีทรัพย์อยู่ในเรือนถึง ๔๐ โกฏิ กินแต่สุราเมรัย จนทรัพย์หมดสิ้น มาวิงวอนขอทรัพย์จากอนาถบิณฑิกเศรษฐี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ให้ไปถึง ๓ ครั้ง ก็เอาไปกินสุราหมด อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงไปทูลเหตุนั้นแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโทษของการกินสุรา ๖ ประการว่า ดูกรคหบดี โทษที่กินสุรานี้มี ๖ ประการที่จะทำให้เสวยทุกข์ในชาตินี้เห็นกับตา คือ

๑. จะมีผู้ประทุษร้ายทุบตีหรือล้มลงกลิ้งไปถูกต้องหอกขวากหนาม

๒. เสื่อมจากทรัพย์ คือทรัพย์มากจะน้อยไป ทรัพย์น้อยจะหมดไป

๓. ให้เกิดทะเลาะวิวาททุบตีฆ่าฟันกันตาย

๔. ทำให้เกิดโรคต่างๆ

๕. จะมีผู้ดูถูกติเตียนนินทาด้วยว่ากิริยาหยาบมีผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ยและกล่าววาจาหยาบช้าเป็นต้น

๖. จะเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาไม่รู้เท่าทันเวลาเขาหลอกลวงเอาความมาให้

ก็ในเมื่อการดื่มสุราเมรัยมีโทษมากมายปานนี้ ฉะนั้นการเว้นจากการดื่มน้ำเมาจึงเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๒๑ ความไม่ประมาทในธรรม (อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ)

บุคคลใดมีความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย จัดเป็นมงคลอันประเสริฐถามว่าความไม่ประมาทนั้นได้แก่อะไร แก้ว่าได้แก่สติที่ระลึกถึงกุศลกรรมทั้งหลาย อธิบายว่าบุคคลมีสติระลึกอยู่ในกุศลกรรมทั้งหลายในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน เหมือนนายประตูคอยตรวจตราบุคคลที่ผ่านเข้าออก หรือเหมือนผู้ถือหางเสือให้เรือตรงไปตามทางที่ต้องการ สตินี้คอยตักเตือนจิตให้ระลึกถึงกุศล พร้อมทั้งประคองกุศลจิตทั้งหลายมิให้ล้มลง อนึ่งความไม่ประมาทจะเกิดขึ้นก็ด้วยเหตุ ๕ ประการคือ

๑. พยายามระลึกถึงการกุศลอยู่เนืองๆ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าให้ขาด

๒. พยายามระลึกถึงการประกอบกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริตอยู่เนืองๆ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าให้ขาด

๓. พยายามระลึกถึงการละเว้นกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตอยู่เนืองๆ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าให้ขาด

๔. พยายามระลึกถึงกองทุกข์ในอบายภูมิคือนรกเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และทุกข์คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารอยู่เนืองๆ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าให้ขาด

๕. พยายามระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะเป็นปัจจัยให้ละราคะ โทสะ และโมหะ อยู่เนืองๆ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ อย่าให้ขาด

เมื่อกระทำสิ่งทั้ง ๕ อยู่เนืองๆ ย่อมได้ชื่อว่ากระทำซึ่งความไม่ประมาท ซึ่งความไม่ประมาทนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอนภิกษุอยู่เสมอ แม้ขณะที่พระองค์จะเข้าสู่นิพพานยังได้ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความสิ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" อนึ่งกุศลกรรมทั้งปวงย่อมประชุมลงในความไม่ประมาทคือความมีสติทั้งสิ้น เหมือนรอยเท้าสัตว์ทั้งปวงย่อมสามารถลงในรอยเท้าช้างได้ บุคคลผู้ไม่ประมาทย่อมสามารถยังกุศลธรรมทั้งปวงให้เกิด รวมทั้งการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

สำหรับความประมาทนั้นคืออะไร ได้แก่การปล่อยเสียซึ่งสติไม่ระลึกตรึกตรองมองพิจารณาปล่อยให้จิตน้อมไปทางอกุศลเช่นทางความโลภโกรธหลงเป็นต้น ไม่ดำริไปทางกุศลมีทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น ดังนี้เรียกว่าความประมาท สิ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดความประมาทคือความเมา ๓ อย่างคือ

๑. ความเมาในวัย คือคิดว่าเรายังหนุ่มยังสาว ยังไม่ต้องละอกุศลยังไม่ต้องเจริญกุศล

๒. ความเมาในความไม่มีโรค คือคิดว่าเรายังแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ยังไม่ต้องละอกุศลยังไม่ต้องเจริญกุศล

๓. ความเมาในชีวิตคือ คิดว่าเรายังไม่ตาย ยังมีชีวิตสืบต่อไปได้นาน ยังไม่ต้องละอกุศลยังไม่ต้องเจริญกุศล

ความมัวเมาทั้ง ๓ นี้ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เกิดความประมาท เพราะว่าเป็นเหตุให้กระทำบาปทางกายวาจาใจ คิดประทุษร้ายแก่ผู้อื่น เป็นเหตุให้เสื่อมจากกุศลทาน ศีล ภาวนา ฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้น เสียชาติเกิดที่อุตส่าห์บังเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ตายแล้วก็จะไปสู่อบายภูมิ

บุคคลที่จะสร้างความไม่ประมาทให้เกิดขึ้นในจิต ควรจะฝึกฝนการเจริญมรณสติไว้ด้วย มรณสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่งหมายถึงการระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ วิธีปฏิบัติให้พิจารณาโดยแยบคายด้วยปัญญาว่าชีวิตของเราเป็นของไม่เที่ยงแต่ความตายเป็นของเที่ยงคือเที่ยงที่จะต้องตายแน่ ชีวิตของเราเป็นของไม่ยั่งยืน ในที่สุดพระยามัจจุราชนายของเราก็จะเอาไปแน่ ไม่มีสิ่งใดที่จะห้ามปรามความตายได้ บุคคลต่างๆ อาจจะเดินทางไปในทิศที่ต่างกัน แต่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือป่าช้า เมื่อเกิดมาทุกคนย่อมเอาความตายมาด้วย ความเกิดก็คือความตาย ความตายก็คือความเกิด ชีวิตก็คือความใกล้ตาย คนใกล้ตายก็คือคนมีชีวิต คนโง่เขลาคิดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีอยู่แท้ที่จริงกำลังเดินเข้าไปสู่ความดับสลาย เกิดมาชั่วขณะก็แตกดับเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดก็คือการเดินทางไปสู่ความตาย ความเที่ยงแท้แน่นอนนั้นคือของหลอก ความแตกดับทำลายนั้นคือของจริง ความตายคือของที่อยู่ในพกในห่อไปไหนก็เอาไปด้วย ความตายเหมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบเดินตามหลังเราทุกย่างก้าวพร้อมที่จะฟันลงทุกเมื่อ สัตว์โลกทั้งปวงถูกความแก่ไล่ตาม ถูกความเจ็บครอบงำ ถูกความตายทำลายล้างอยู่ตลอดกาล บุคคลมียศใหญ่ก็ตาย ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาย แม้สาเหตุแห่งความตายก็มีมากมายทั้งภายนอกเช่นงูพิษ อุบัติเหตุต่างๆ ภายในก็คือโรคทั้งหลายสามารถตั้งขึ้นในกายแล้วทำลายชีวิตเราไปได้ทุกเมื่อ ชีวิตนี้ก็อ่อนแอเพราะว่าหายใจเข้าไม่ออกก็ตาย ไม่เปลี่ยนอิริยาบถก็ตาย หนาวร้อนเกินไปก็ตาย ขาดน้ำขาดอาหารก็ตาย และเวลาตายก็ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่มีใครรู้ได้ว่าตนเองจะตายเมื่อใดเวลาใดด้วยสาเหตุใด ตายที่ไหนไม่มีใครรู้เลย แม้ว่าจะอยู่นานไปชีวิตก็ไม่เกินประมาณ ๑๐๐ ปีจะต้องตายเป็นแน่ เมื่อพิจารณาโดยแยบคายให้ได้เห็นถึงว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน ก็ให้บริกรรมภาวนาว่า "ความตายจักมี ชีวิตินทรีย์จักขาด" "ไม่ช้าตายแน่ ใกล้ตายแล้วหนอ" หรือ "ตายๆๆๆ" อันใดอันหนึ่งตามชอบใจของเรา การระลึกถึงความตายจะแยบคายเมื่อพร้อมด้วยสิ่ง ๓ ประการคือ

๑. สติระลึกถึงความตาย

๒. ญาณรู้ว่าความตายจักมีแน่ ตัวจะต้องตายเป็นแน่แท้

๓. เกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง

เมื่อพร้อมทั้ง ๓ ข้อนี้แล้วจิตก็จะเกิดสมาธิข่มนิวรณ์ได้ เมื่อเราระลึกถึงความตายดังนี้เนืองๆ ย่อมจะเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมา ตัดความยินดีในภพทั้งหลายได้ คลายความรักใคร่ในชีวิตเสียได้ จะเว้นเสียซึ่งบาปกรรม เป็นผู้มักน้อยสันโดษไม่สะสมหวงแหนตระหนี่ข้าวของ ปราศจากความตระหนี่ จะคุ้นเคยในอนิจจสัญญาคือรู้ว่าสังขารคือรูปธรรมนามธรรมร่างกายจิตใจไม่เที่ยง ทุกขสัญญาคือรู้ว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา คือรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคลเราเขา จะเป็นผู้ไม่กลัวตาย เวลาจะตายจะมีสติไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ผู้เจริญมรณสติก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท จะเป็นผู้ขยันขันแข็งในการละอกุศลกรรมและขยันขันแข็งในการเจริญกุศลกรรม มรณสติยังช่วยให้บุคคลผู้เจริญบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่าย เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผลในชาตินี้ก็จะมีสุคติเป็นที่ไปในปรภพเบื้องหน้า ฉะนั้นบุคคลผู้มีปรีชาญาณจึงควรขวนขวายในการเจริญมรณสติอยู่เนืองๆ อย่าได้ทอดธุระเลย เพราะบุคคลผู้เจริญมรณสติย่อมจะเป็นผู้ไม่ประมาท อันจะเป็นปัจจัยให้เกิดมงคลอันประเสริฐแก่ตนเอง สมดังคำพรรณนาที่ได้อธิบายมาดังนี้ว่า บุคคลผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรมย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐแล

มงคลที่ ๒๒ ความมีสัมมาคารวะ (คาระโว)

บุคคลใดรู้จักความมีสัมมาคารวะ มีความเคารพรู้จักกราบไหว้บูชาด้วยกาย วาจา ใจ จัดว่าเป็นมงคลอันประเสริฐ ถามว่าจะให้เคารพกราบไหว้ที่ไหน ตอบว่าให้เคารพกราบไหว้ในที่ ๗ สถาน

๑. พุทธคารวตา เคารพในพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ

๒. ธัมมคารวตา เคารพในพระธรรมอันประเสริฐ

๓. สังฆคารวตา เคารพในพระสงฆ์อันประเสริฐ

๔. สิกขาคารวตา เคารพในสิกขาคือ ศีลและวินัย

๕. สมาธิคารวตา เคารพในสมาธิภาวนา

๖. อัปปมาทคารวตา เคารพในความไม่ประมาท

๗. ปฏิสันฐารคารวตา เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ

นอกจาก ๗ สถานนี้ สิ่งที่ควรแก่การคารวะ ก็ยังมีอีก เช่น เคารพในบิดา มารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุงป้า น้าอา พี่หญิงพี่ชาย ท่านผู้มีอายุเป็นต้น

ความเคารพมี ๓ ประการ

๑. เคารพด้วยกาย

๒. เคารพด้วยวาจา

๓. เคารพด้วยใจ

การเคารพพระพุทธเจ้าด้วยกายนั้น เมื่อได้เห็นเจดีย์ ไม้โพธิ์ หรือพระพุทธรูป ก็รู้จักยอบย่อ ถวายนมัสการ ถ้าสถานนั้นสามารถกราบอย่างเบญจางคประดิษฐ์ ได้ ก็พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์เถิด หมายถึงกราบลงด้วยองค์ ๕ คือ เข่า ๒ มือ ๒ หน้าผาก ๑ ให้จรดพื้น เป็นการแสดงอาการคารวะอย่างสูงที่สมควรแก่พระพุทธคุณที่ยิ่งใหญ่กว่าห้วงมหรรณพ แต่ถ้าไม่สามารถกราบดังนี้ได้ ก็พึงแสดงอาการกริยานมัสการถวายความเคารพตามสมควรแก่กาละเทศะนั้นๆ เถิด

การเคารพพระพุทธเจ้าด้วยวาจานั้น ก็โดยกล่าวสรรเสริญพระคุณมี อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น

การเคารพพระพุทธเจ้าด้วยใจนั้น ก็คือการน้อมจิตคิดถึงพระคุณของท่าน มี อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น ในอิริยาบถ ทั้ง ๔

การเคารพพระธรรมด้วยกายนั้น เมื่อพบหนังสือคัมภีร์พระธรรม ก็จัดเก็บไว้ในที่สูง ไม่เอามาเหยียบย่ำ เมื่อเข้าไปในสถานที่แสดงธรรม ก็แสดงอาการเคารพไม่หยาบกระด้าง

การเคารพพระธรรมด้วยวาจานั้น คือหมั่นท่องบ่นจดจำเล่าเรียนพระธรรมโดยเคารพ ถ้าได้ยินผู้กล่าวธรรมก็ให้เงี่ยหูฟังโดยเคารพ ไม่ทำเสียงรบกวนในที่ฟังธรรม

การเคารพพระธรรมด้วยใจนั้น ให้ระลึกคุณพระธรรมมี ส๎วากขาโต เป็นต้น

การเคารพพระสงฆ์ด้วยกายนั้น เมื่อเห็นพระสงฆ์ ก็ยกมือนมัสการ เมื่อไปถึงวัดอาวาสวิหารและสีมาก็รู้จักถอดรองเท้า ลดร่ม แสดงอาการคารวะ

การเคารพพระสงฆ์ด้วยวาจานั้น คืออย่าพูดให้พระสงฆ์เดือดร้อนใจด้วยคำหยาบ คำยุยง เวลาจะกล่าวชื่อพระอรหันต์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ ก็กล่าวด้วยความเคารพ อย่าทำเหมือนกับการเรียกชื่อเพื่อน

การเคารพพระสงฆ์ด้วยใจนั้น ด้วยการระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ มี สุปฏิปันโน เป็นต้น

อนึ่งบุคคลใดวันหนึ่งล่วงไป มิได้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ท่านจัดว่าเป็นความไม่คารวะด้วย เป็นความประมาทด้วย

สิกขาคารวตานั้น ท่านให้เคารพในสิกขาบท คือให้กำหนดสำรวมสังวรระวังรักษาสิกขาบทในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์ อย่าให้เศร้าหมองขาดทำลายตามภูมิของตนที่เป็นคฤหัสถ์ หรือภิกษุ สามเณร ถ้าไม่รักษาให้บริสุทธิ์แล้วท่านจัดว่าเป็นความไม่คารวะด้วย เป็นความประมาทด้วย

สมาธิคารวตา ให้เคารพในสมาธินั้น คือให้เจริญพระกรรมฐาน คือสมถภาวนา ๔๐ กอง มีพุทธานุสสติเป็นต้น จนได้สมาธิ ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วจงพยายามรักษาไว้ อย่าให้เสื่อมไปได้

อัปปมาทคารวตา ให้เคารพในความไม่ประมาทนั้น คือให้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ พิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ปฏิสันฐารคารวตา การเคารพในปฏิสันถารนั้น แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. ธัมมปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยธรรม คือการเอื้อเฟื้อบอกกล่าวแนะนำ สั่งสอนด้วยธรรมวินัยให้ได้เกิดสติปัญญา ศรัทธาเลื่อมใส

๒. อามิสปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยอามิส คือการต้อนรับด้วยการให้ข้าวให้น้ำ ปัจจัยเครื่องอาศัยใช้สอยต่างๆ เป็นต้น

อนึ่งการเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ยังมีผู้ปฏิบัติให้บริบูรณ์อยู่เพียงใด พระพุทธศาสนาก็จะยังตั้งมั่นอยู่เพียงนั้น แต่เมื่อใดการเคารพทั้ง ๗ นี้เสื่อมแล้ว พระพุทธศาสนาก็เสื่อมไปไม่ตั้งอยู่ได้ในโลก อนึ่งบุคคลที่ขวนขวายยกย่องปฏิบัติรักษาไว้ซึ่งเคารพทั้ง ๗ ประการ ก็ชื่อว่าผู้นั้นขวนขวายยกย่องพระพุทธศาสนาด้วย สมเด็จพระศาสดาได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ บริษัททั้ง ๔ คือพระภิกษุ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังมีการรักษาอยู่ในเคารพทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ตราบใด ศาสนาของตถาคตก็ยังตั้งอยู่ตราบนั้น ไม่เสื่อมสิ้นไป ถ้าบริษัททั้ง ๔ ไม่รักษาซึ่งเคารพทั้ง ๗ ไว้ได้ ศาสนาของตถาคตก็เสื่อมไปไม่ตั้งอยู่นาน

พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่นางสุมนาเทวี ถึงอานิสงส์ของการให้ทานของพระภิกษุว่า พระภิกษุผู้ให้ทานเมื่อตายไปบังเกิดในเทวโลก ย่อมบังเกิดเป็นเทวดาที่มีเดชอำนาจและลาภมากกว่าพระภิกษุผู้ไม่ให้ทาน ครั้นเมื่อทั้ง ๒ ลงมาบังเกิดในเมืองมนุษย์ ภิกษุผู้ให้ทาน ย่อมมาบังเกิดในตระกูลที่มียศใหญ่ มีลาภมากกว่าภิกษุผู้ไม่ให้ทาน เมื่อทั้งสองออกบวช ภิกษุผู้ให้ทานจะมีทายกทายิกาถวายปัจจัยเครื่องใช้สอยมากกว่า และจะเล่าเรียนศึกษาธรรมวินัยก็จะเรียนได้รวดเร็วกว่าภิกษุผู้ไม่ให้ทานครั้นเมื่อทั้ง ๒ เจริญกรรมฐานภาวนา ภิกษุผู้ให้ทานจะตรัสรู้ธรรมและบรรลุมรรคผลได้รวดเร็วว่องไวกว่าภิกษุผู้ไม่ให้ทาน

สำหรับบุคคลผู้ประสงค์จะสร้างกุศลจิตให้เกิดพุทธคารวตาให้เจริญรุ่งเรืองตั้งมั่นนั้น ควรจะเจริญพุทธานุสสติด้วย พุทธานุสสตินั้นเป็นกรรมฐานกองหนึ่ง หมายถึงการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ วิธีปฏิบัติเมื่อเข้ามาในสถานที่อันสงัดให้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า แท้จริงนั้นพระคุณของพระพุทธเจ้าถ้าจะกล่าวพรรณนาไปเป็นอย่างๆ แล้ว พระคุณมากนัก ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ใครมีปัญญามากก็สามารถรับรู้และพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าได้มาก ใครมีปัญญาน้อยก็สามารถรับรู้และพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าได้น้อย ในพระพุทธศาสนานี้บรรดาสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีผู้ใดที่มีปัญญาเทียบเทียมพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาผู้ยิ่งด้วยปัญญาไปได้ แต่แม้กระนั้น ปัญญาของพระสารีบุตรนั้นถ้าจะนำมาพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดละออพิสดาร ก็อุปมาประดุจปากยุง ที่หยั่งลงไปในมหาสมุทรเท่านั้น ฉะนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายจึงได้จัดเรียงพระคุณของพระพุทธเจ้าออกมาพอสังเขปได้ ๙ ประการ คือ พระตถาคตเจ้านั้น

๑. อรหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส

๒. สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

๓. วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาคือความรู้ และจรณะคือความประพฤติ

๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี

๕. โลกะวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

๗. สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

๘. พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

๙. ภควา เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

เมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณโดยแยบคายดังนี้แล้วให้จิตรวมลงมา นึกถึงความประเสริฐเลิศดีทั้งมวลของพระพุทธเจ้านั้น รวมลงมาในคำว่า "พุทโธ" แล้วบริกรรมภาวนาคำว่า "พุทโธ" แล้วๆ เล่าๆ ร้อยหนพันหนหมื่นหน จิตของบุคคลผู้นี้ก็จะเป็นจิตที่ราคะ โทสะ โมหะ ไม่กลุ้มรุม จิตเธอย่อมดำเนินตรงไปแน่วแน่ปรารภพระคุณของพระพุทธเจ้า ก็บุคคลผู้เจริญพุทธานุสสติอยู่เนืองๆ ย่อมเป็นผู้มีพุทธคารวตาอันหนักแน่นมั่นคงไม่คลอนแคลน จะเป็นผู้เคารพยำเกรงในพระบรมศาสดา ได้ความไพบูลย์แห่งศรัทธา ความไพบูลย์แห่งสติ และความไพบูลย์แห่งบุญกุศล เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจได้ดี อนึ่งแม้สรีระกายของเธอผู้เจริญพุทธานุสสติ ย่อมเป็นร่างกายที่ควรกราบไหว้บูชาประดุจพระมหาเจดีย์ จิตเธอย่อมน้อมไปในภูมิแห่งผู้รู้แจ้งในธรรม อนึ่งเมื่อประสบเข้ากับสิ่งปลุกเร้าให้ล่วงละเมิดศีลธรรม หิริความละอายต่อบาปและโอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาปโดยปริมาณยิ่งย่อมจะปรากฏแก่เธอ ประดุจดังราวกับว่าเธอเห็นพระศาสดาอยู่ตรงหน้า พุทธานุสสติย่อมเกื้อหนุนกุศลธรรมและความเจริญรุ่งเรืองทางธรรมอย่างยิ่งแก่เธอ เธอย่อมง่ายดายต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตราบใดที่เธอยังไม่ถึงนิพพาน เธอผู้มากด้วยพุทธานุสสตินั้น ย่อมรื่นเริงบันเทิงอยู่ในสุคติภพ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาดี พึงทำความไม่ประมาทขวนขวายในการเจริญพุทธานุสสติ อันมีอานุภาพมาก อย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ ดังได้แสดงมาก็เพื่อจะให้สาธุชนเห็นคุณค่าของการมีสัมมาคารวะ อันจะนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐแก่ชีวิต ด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๒๓ ความถ่อมตน (นิวาโต)

บุคคลใดในโลกนี้ประพฤติตนเป็นคนถ่อมกายถ่อมวาจา คือพิจารณาเห็นโทษในมานะคือความถือตัวตน และทิฏฐิคือความเห็นที่จะนำมาซึ่งความถือตัวถือตนถือชาติตระกูลยศศักดิ์ แล้วละเสียซึ่งมานะทิฏฐิทำตนให้ถ่อมกายถ่อมวาจา เหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทอง จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ อธิบายว่าความประพฤติตนถ่อมกายถ่อมวาจาเหมือนโคอุสุภราชที่มีเขาอันหลุดเสียแล้ว หรือเหมือนพญางูจงอางที่เขี้ยวหลุดเสียแล้ว หรือเหมือนพญาครุฑอันปีกหักเสียแล้ว ไม่แสดงอาการที่จะแกล้วกล้า เย่อหยิ่งทรนง ที่เรียกว่าความถ่อมตนคือไม่แสดงอาการมีฤทธิ์ ละเสียซึ่งอาการห้าวหาญ เย่อหยิ่งด้วยมานะทิฏฐิให้ลดน้อยเบาบางไปจากสันดาน ถามว่ามานะทิฏฐินั้นเกิดด้วยอะไร แก้ว่ามานะนั้นเกิดด้วยชาติและตระกูล เกิดด้วยลาภยศและบริวาร ทิฏฐิเกิดด้วยการไม่คบค้าสมาคมกับนักปราชญ์และบัณฑิตทั้งหลาย ไม่ฟังธรรมของนักปราชญ์และบัณฑิตทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลอาศัยชาติตระกูลลาภยศและบริวารให้เกิดมานะนั้น จะอาศัยอะไรจึงจะดับเสียซึ่งมานะได้ แก้ว่าให้อาศัยซึ่งธรรม คือ ปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งในชาติตระกูลลาภยศและบริวารเหล่านี้ ให้เห็นว่าไม่เที่ยง มีแล้วก็แปรปรวนยักย้ายเป็นอย่างอื่นไปทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วพิจารณาให้เห็นเป็นทุกขังเป็นอนัตตา จนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย ก็จะคลายจากมานะลงได้ ถามว่ามานะมีอาการอย่างไร แก้ว่ามีอาการทำจิตให้ถือตัวสูงขึ้นโดยอาศัยการปรารภชาติตระกูลเป็นต้น ทำตนไม่ให้อ่อนน้อมซึ่งกายวาจาแก่ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีชาติตระกูลอันด้อยกว่า อนึ่งสำหรับทิฏฐินั้น สร้างความเห็นผิดด้วยความคิดวิปลาสจึงไม่ได้ทำสิ่งที่สมควรจะกระทำให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น คือควรจะอ่อนน้อมด้วยกายก็ไม่อ่อนน้อม ควรจะอ่อนน้อมด้วยวาจาก็ไม่อ่อนน้อม เมื่อบังเกิดพร้อมกันทั้งมานะและทิฏฐิจึงไม่อาจน้อมกายวาจาลงได้ ถามว่าการน้อมกายน้อมวาจานั้นให้น้อมอย่างไร แก้ว่าการน้อมลงซึ่งศรีษะเรียกว่าน้อมกาย น้อมวาจาคือกล่าวคำอ่อนหวาน ใช้คำเรียกพ่อเรียกแม่เรียกพี่เรียกน้าเรียกป้าเรียกลุงตามสมควรแก่มารยาทอันสมมุติว่างามของชาวโลก

อนึ่งบุคคลที่จะฝึกฝนจิตใจของตนให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจอ่อนโยนไม่แข็งกระด้างด้วยมานะทิฏฐินั้น ให้ฝึกฝนการขอขมาทุกๆวัน การขอขมาให้ว่าดังนี้

ขึ้นต้นด้วย นะโม ๓ จบ แล้วพนมมือกล่าวว่าดังนี้

สิ่งใดที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรมเจ้าทุกๆ พระธรรมขันธ์ พระอริยสาวกทุกองค์ พระโพธิสัตว์ทุกองค์ พรหมทุกองค์ เทวดาทุกองค์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ท่านผู้มีพระคุณผู้มีบุญคุณทุกท่าน และสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทุกชีวิตทุกจิตวิญญาณ มาในอดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี เจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ข้าพเจ้าขอกราบขอขมาขอลาโทษต่อพระเดชพระคุณท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงโปรดเมตตา ยกโทษ อโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่ามีเวรภัย เกิดชาติหนึ่งภพใด ขอให้ได้สร้างแต่กรรมดี สร้างบารมีของตน ให้พ้นภัยพาล ลุล่วงบ่วงมาร ในอนาคตกาลอันใกล้นี้ด้วยเทอญ

เมื่อได้ขอขมาอย่างนี้ทุกวันก็จะช่วยลดมานะทิฏฐิทำให้จิตใจอ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตน อันจะนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐแก่ชีวิตด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๒๔ ความสันโดษ (สันตุฏฐี)

บุคคลใดมีความยินดี มีความพอใจ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ คือผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตามมีตามได้ ยินดีด้วยของของตนมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องปัจจัยอาศัยเลี้ยงชีพ ที่หามาได้ด้วยความเพียรความพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภไม่ริษยาใคร นั้น จัดว่าเป็นมงคลอันประเสริฐ สันโดษนั้นแบ่งตามลักษณะได้ ๓ คือ

๑. ยถาลาภสันโดษ คือยินดีตามที่ได้ คือได้สิ่งใดด้วยความเพียรของตนก็พอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ไม่ได้มา ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น ไม่อิจฉาริษยาในลาภของคนอื่น

๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง คือพอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดายไม่เก็บไว้เสียเปล่าหรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน

๓. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร คือพอใจตามสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะกับสมณภาวะ หรือเมื่อได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตนแต่จะมีประโยชน์กับผู้อื่นก็นำไปมอบให้แก่เขาเป็นต้น

บุคคลที่จะสร้างความสันโดษให้เกิดขึ้นในใจตนพึงพิจารณาให้เห็นโทษของความโลภมากไม่รู้จักพอ ต้องคอยตอบสนองตัณหาความอยากความต้องการในใจตนอย่างไม่รู้จักจบ มีอย่างนี้แล้วอยากได้อย่างนั้น มีของดำอยากได้ของขาว มีของร้อนอยากได้ของเย็น ถ้าเรามัวแต่คอยตอบสนองตัณหาความอยากของตนแล้วก็ไม่มีวันจะจบสิ้นลงไปได้ จะต้องเสียนิสัย เสียคุณธรรม เสียวินัยมากขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาเห็นโทษในความโลภที่ไม่รู้จักพอแล้วก็พึงเพียรพยายามสร้างนิสัยสันโดษ มักน้อย ยินดีในของที่ตนเองมีอยู่ สิ่งใดที่เกินความจำเป็น เกินความต้องการ ก็รู้จักสละรู้จักจำแนกแจกทานให้ผู้อื่นไปบ้าง จิตใจก็จะอิ่มเอิบเบิกบาน ด้วยความปิติสุข ไม่เร่าร้อนด้วยความกระหายอยากดังที่บุคคลผู้มักมากเป็นกัน ฉะนั้นดังที่ได้แสดงมาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสันโดษเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๒๕ ความกตัญญู (กะตัญญุตา)

บุคคลใดระลึกถึงคุณท่านผู้มีคุณกระทำตอบแทนบุญคุณท่านผู้มีคุณจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกย่อมหายากในโลก คือ

๑. บุพการีบุคคล คือบุคคลผู้ทำคุณแก่ผู้อื่นก่อน ได้แก่ บิดา มารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นต้น

๒. กตัญญูกตเวทีบุคคล คือผู้ที่รู้คุณบิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ และรู้ซึ่งคุณผู้ที่ทำไว้แก่ตน แล้วก็ทำการตอบแทนซึ่งคุณแก่ท่านผู้มีคุณ ด้วยการให้ข้าวของข้าวน้ำ และช่วยทำกิจการงานต่างๆ แบ่งเบาภาระ คอยพยาบาลรักษาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย คนทั้ง ๒ จำพวกนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าหายากในโลก ด้วยว่าคนทั้งหลายย่อมมีกิเลสประจำสันดาน มักจะเห็นแก่ประโยชน์ของตนมากกว่าของผู้อื่น

อนึ่งบุคคลทั้งหลายที่ได้มีโอกาสบังเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาได้อาศัยร่มเงาของพระธรรมได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขนั้น ควรจะมีจิตกตัญญูรู้คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และรู้จักคุณของบุญกุศลที่นำตนมาเกิดในสุคติภพ เมื่อได้รู้คุณของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ให้มีความกตเวที ทำการตอบแทนคุณในที่ทั้งปวงเหล่านั้นอยู่เถิด จะตอบแทนบุญคุณอย่างไร แก้ว่าให้ขวนขวายกราบไหว้บูชาระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เนืองๆ อย่าได้มีความประมาททอดธุระปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปเปล่า พร้อมทั้งคิดทำกองการกุศลอยู่เนืองๆ คือ ทาน ศีล ภาวนา ฟังพระธรรมเทศนา สร้างกุศลอยู่เนืองๆ อย่าได้ประมาท เพราะเหตุว่าความกตัญญูรู้คุณนั้นย่อมพาให้บุคคลไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม ส่วนบุคคลใดไม่รู้จักคุณท่านผู้มีคุณ ย่อมประสบความวิบัติทั้งหลาย เมื่อตายไปก็จะไปบังเกิดในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เสวยทุกข์อยู่สิ้นกาลนาน ฉะนั้นเราท่านทั้งหลายที่เกิดมา ควรจะมีความกตัญญูรู้คุณท่านผู้มีคุณ มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์เป็นต้น และคนที่มีคุณอุดหนุนให้ตนได้รับความสุขในปัจจุบันนี้ ควรจะมีความกตเวทีสนองคุณท่านตามกาลและสมัยที่มีโอกาส อย่าได้ละเลยความกตัญญูกตเวที พร้อมทั้งควรจะได้ขวนขวายกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย อันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขวนขวายก่อสร้างทางกุศลเพิ่มเติมของเก่าให้เจริญยิ่งขึ้น ก็จะรุ่งเรืองเจริญสุขไปข้างหน้าจนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพานนั่นแล ดังได้แสดงมานี้เพื่อจะพรรณนาให้เห็นว่า ความกตัญญูเป็นมงคลอันประเสริฐแก่ชีวิตอย่างยิ่งแล

มงคลที่ ๒๖ การฟังธรรมตามกาล (กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง)

บุคคลใดขวนขวายไปฟังธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามกาลตามโอกาสอันควร จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ การฟังธรรมนั้นเพื่อจะให้เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และเพื่อความสลดสังเวชใจเห็นโทษในสังขาร ทั้ง ๒ ประการนี้ท่านเรียกว่าบุญกุศลเป็นเครื่องชำระจิตใจของสัตว์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์จากความเศร้าหมองในใจ และพ้นจากภัยอันเกิดแต่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน บาป ความเศร้าหมองในใจนั้น ท่านเรียกว่ามิจฉาวิตก คือ

๑. กามวิตก ความตรึกตรองวิตกหมกมุ่นในกามคุณ ๕ คือรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล นำมาซึ่งความกำหนัดกามฉันทะราคะครอบงำจิตใจให้เศร้าหมอง

๒. พยาบาทวิตก คือความตรึกตรองที่จะทำสัตว์ทั้งหลายให้ฉิบหายด้วยกาย คือการทุบตีบีฑา ด้วยวาจา และมีจิตคิดแช่งด่าด้วยความอาฆาตพยาบาท

๓. วิหิงสาวิตกนั้นได้แก่ความตรึกตรองที่จะเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้ได้ความลำบากคือให้ปราศจากลาภยศสรรเสริญสุข

การฟังธรรมนั้นย่อมจะช่วยระงับอกุศลวิตกทั้ง ๓ ประการ เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย และทานศีลภาวนา พร้อมทั้งเกิดสลดสังเวชในสังขารอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนและในอกุศลกรรมที่จะชักนำสัตว์ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ ให้เกิดความหิริ ละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ก็อาศัยจากการได้ฟังธรรม อนึ่งอานิสงส์การฟังธรรมนั้นท่านยังกล่าวไว้อีก ๕ ประการคือ

๑. ผู้ฟังย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๒. สิ่งใดที่ได้เคยฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด

๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้

๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

อนึ่งการจะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นของได้ฟังยาก ด้วยสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง แปลว่าการที่จะได้ฟังพระสัทธัมเทศนาอันบุคคลจะได้โดยยาก ถามว่ายากเพราะสาเหตุอะไร ตอบว่ายากด้วยสาเหตุ ๒ ประการคือ

๑. ยากจะมีผู้เทศนาให้ฟัง

๒. ยากที่ผู้ฟังจะเลื่อมใสในการฟัง

ยากที่จะมีผู้เทศนาให้ฟังนั้นคือว่า ต้องมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลกจึงจะแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนได้ สาวกที่ฟังธรรมหรือเล่าเรียนศึกษาจึงจะนำมาแสดงให้ฟังต่อไป ถ้าพระพุทธเจ้ามิได้มาตรัสรู้แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะแสดงสั่งสอน สัตว์ทั้งหลายก็จะมืดไปด้วยอวิชชาปิดตัวปัญญาไม่ให้เห็นทางสวรรค์นิพพาน

อีกอย่างหนึ่งถ้าผู้ที่ได้ฟังมาและเล่าเรียนศึกษาไม่แตกฉานในทางธรรมวินัยนำมาแสดงให้ผู้อื่นฟังก็ไม่เข้าใจไม่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา อีกประการหนึ่งคือยากที่ตัวผู้ฟังเอง นั่นคือผู้ฟังเป็นผู้ที่ไม่มีนิสัยวาสนา ไม่อยากฟังธรรม หรือฟังไปก็ไม่เลื่อมใสในรสพระสัทธรรม ให้ขี้เกียจขี้คร้าน จิตฟุ้งซ่าน ง่วงเหงาหาวนอน ก็ไม่สำเร็จในการฟังธรรมได้ อีกอย่างหนึ่งบางทีพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาตรัสรู้สั่งสอนสัตว์อยู่ในโลก แต่สัตว์บางพวกไปเกิดเสียในอบายภูมิคือนรกเปรตอสุรกายสัตว์เดรัจฉาน หรือบางพวกจะเกิดในเมืองมนุษย์ก็ตามที แต่เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ และคนพาลอัญญเดียรถีย์ หรือเป็นคนใบ้บ้าหูหนวก คนเหล่านี้ ก็ไม่ได้โอกาสแห่งการฟังธรรมเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายที่ได้เพศมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา จงมีอุตสาหะหมั่นฟังธรรมเพื่อให้เกิดเป็นนิสัยตามไปชาตินี้ชาติหน้า อนึ่งการฟังธรรมถ้าผู้แสดงและผู้ฟังมีนิสัยเนื่องกัน จะมีผลมากอานิสงส์มาก นั่นคือ ผู้แสดงธรรมเป็นผู้มีปัญญาแกล้วกล้าในการแสดงธรรม ส่วนผู้ฟังนั้นได้เคยฟังธรรมบทนี้มาแต่อดีตชาติหรือว่าชาตินี้มีสติปัญญาสามารถพิจารณาไปตามซึ่งธรรมบทอันลึกซึ้ง การฟังธรรมนี้จะเกิดอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ให้เกิดความเลื่อมใสและความสังเวชในใจ ในการฟังธรรมนั้นจะจำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเพียงแค่ความเลื่อมใสและความสังเวชในใจก็เป็นที่ระงับดับเพลิงกิเลสเป็นนิสัยแก่พระนิพพานได้ ถึงแม้จะฟังแล้วจำได้ก็ตามแต่ถ้าไม่นำไปประพฤติปฏิบัติก็ไม่อาจดับเพลิงกิเลสได้ เนื่องจากการจำได้นั้นเพียงอาศัยสัญญากับวิญญาณไม่ต้องอาศัยปัญญาก็จำได้ ส่วนการนำมาปฏิบัตินั้นต้องอาศัยปัญญาพิจารณาโดยแยบคายถึงว่าธรรมใดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อนึ่งการจำได้นั้นให้ผลเพียงขึ้นสวรรค์ ส่วนการนำมาปฏิบัติที่กายวาจาใจ นั้นเป็นหนทางพระนิพพาน อีกประการหนึ่งความรู้จำได้อาจสร้างให้เกิดมานะทิฏฐิ แต่การนำมาปฏิบัติที่กาย วาจาใจ จะช่วยลดมานะทิฏฐิให้เบาบางไปจากสันดานจนถึงพระนิพพานเป็นปริโยสานเอกอุดมมงคล

สำหรับบุคคลผู้สนใจฟังธรรมศึกษาพระธรรมนั้นควรจะได้มีโอกาสเจริญธัมมานุสสติกรรมฐานอยู่เนืองๆเถิด ธัมมานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานกองหนึ่ง หมายถึงการระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์ บุคคลผู้ต้องการเจริญธัมมานุสสติพึงระลึกดังนี้ว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้วคือไพเราะในเบื้องต้น ได้แก่ ศีล ไพเราะในท่ามกลางได้แก่ สมาธิ ไพเราะในที่สุดได้แก่ ปัญญา ธรรมะนั้นย่อมมีพร้อมทั้งหัวข้อและคำอธิบายที่ลึกซึ้งบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง และเป็นไปเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ จึงเรียกธรรมนั้นว่าสวากขาโต แปลว่าทรงตรัสไว้ดีแล้ว อนึ่งพระธรรมนั้นผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นแจ้งรู้ผลได้ด้วยตนเองไม่ต้องไต่ถามใคร เหตุนั้นจึงเรียกว่า สันทิฏฐิโก แปลว่าผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง พระธรรมนั้นย่อมให้ผลไม่จำกัดกาลเวลา ไม่เนื่องด้วยกาลสมัย ผู้ใดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเมื่อใดก็ย่อมให้ผลเย็นกายเย็นใจเมื่อนั้น ไม่มีกาลเวลา เหตุนั้นจึงเรียกว่า อะกาลิโก แปลว่าไม่จำกัดด้วยกาลเวลา พระธรรมนั้นเป็นของดีจริงเป็นของประเสริฐจริง ไม่ใช่เป็นของที่ผู้ครอบครองแล้วน่าอายต้องปกปิด แต่ว่าพระธรรมนั้นเป็นของประเสริฐยิ่งที่สมควรจะร้องเรียกเชิญชวนให้บุคคลทั้งหลายมาดู เหตุนั้นจึงเรียกว่า เอหิปัสสิโก แปลว่าควรเรียกผู้อื่นมาดู พระธรรมนั้นย่อมเป็นของมีค่าควรที่สัตว์ทั้งหลายจะน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ที่เกิดในใจตนประดุจคนที่ผมติดไฟอยู่ ควรรีบนำน้ำมาดับโดยไวฉะนั้นเหตุนั้นจึงเรียกว่า โอปะนะยิโก แปลว่าควรน้อมเข้ามาสู่ตัว พระธรรมนั้นเป็นของที่ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นย่อมได้รับผลเอง จะให้ผู้อื่นปฏิบัติแทนกันไม่ได้ ใครที่นำธรรมะไปปฏิบัติย่อมประสบความร่มเย็นเป็นสุขแห่งธรรมเกิดขึ้นในใจตนเอง เป็นของเฉพาะตน ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่าอันวิญญูชนจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง ดังนี้

เมื่อผู้ปฏิบัติในธัมมานุสสติระลึกถึงธรรมคุณโดยแยบคายดังนี้แล้ว ให้จิตรวมลงมานึกถึงความประเสริฐเลิศดีทั้งมวลของพระธรรมเจ้านั้น รวมลงในคำว่า "ธัมโม" แล้วบริกรรมภาวนาคำว่า "ธัมโม" แล้วๆ เล่าๆ ร้อยหนพันหนหมื่นหน จิตของเธอนั้นย่อมเป็นจิตที่ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่กลุ้มรุม จิตเธอย่อมดำเนินตรงไปแน่วแน่ปรารภพระคุณของพระธรรมเจ้า ก็บุคคลผู้เจริญธัมมานุสสติอยู่เนืองๆ นี้ ย่อมเป็นผู้เคารพยำเกรงในพระบรมศาสดา มีความตระหนัก เคารพ อ่อนน้อมในพระธรรม เธอย่อมถึงความไพบูลย์แห่งศรัทธา ความไพบูลย์แห่งสติ และความไพบูลย์แห่งบุญกุศล เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจ สามารถอดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึกเสมือนว่าได้อยู่กับพระธรรม อนึ่งแม้สรีระของเธอผู้เจริญธัมมานุสสตินั้น ย่อมควรแก่การบูชาประดุจดั่งตู้พระธรรม จิตของเธอย่อมน้อมไปเพื่อจะบรรลุธรรมอันยิ่ง เมื่อใดที่ประสบกับสิ่งอันจะพึงล่วงละเมิด ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปปริมาณอันยิ่ง ย่อมปรากฏแก่เธอผู้ระลึกถึงความประเสริฐของพระธรรมได้อยู่ ธัมมานุสสติย่อมเกื้อหนุนกุศลธรรมและความเจริญรุ่งเรืองทางธรรมอย่างยิ่งแก่เธอ เธอย่อมง่ายดายต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตราบใดที่เธอยังไม่ถึงนิพพาน เธอผู้มากด้วยธัมมานุสสติย่อมรื่นเริงบันเทิงอยู่ในสุคติภพ เพราะเหตุนั้นนั่นแล บุคคลผู้มีปัญญาดี พึงทำความไม่ประมาท ขวนขวายในการเจริญธัมมานุสสติอันมีอานุภาพมากอย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ ดังที่ข้าพเจ้าแสดงมาเพื่อจะให้สาธุชนเห็นคุณค่าอานิสงส์ความประเสริฐของการฟังธรรมตามกาล อันจะนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐแก่ชีวิต ด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๒๗ ความอดทน (ขันตี)

บุคคลใดก็ตามรู้จักอดทนอดกลั้นอดใจ ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ ความอดใจไม่โลภ โกรธ หลงในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย นั้นเรียกว่าขันติ ความอดใจไม่โกรธพยาบาท อาฆาต จองเวรแช่งด่า มนุษย์และสัตว์ ทำจิตให้เป็นกลาง ไม่รักไม่ชัง ด้วยกำลังปัญญา รู้เท่าทันสังขารว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้ก็เรียกชื่อว่าขันติ คือความอดใจ อันเป็นที่สรรเสริญแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายดังมีคำบาลีว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ขันติคือความอดทนอดกลั้นเป็นธรรมอันเป็นเครื่องเพียรเผากิเลสอย่างยิ่ง อนึ่งความอดทนซึ่งลมและแดด ความหนาวความร้อน ความหิวข้าวกระหายน้ำ และความอดทนแก่ทุกขเวทนา ที่เกิดแต่ความอาพาธความเจ็บไข้ ไม่ย่อท้อที่จะก่อสร้างทางกุศล ทาน ศีล ภาวนา ก็ชื่อว่า ขันติความอดทน ถามว่าขันตินั้นจะบังเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ตอบว่าขันติจะบังเกิดขึ้นเพราะมี

๑. ความหิริละอายต่อบาป

๒. โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาป

ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ย่อมสร้างให้เกิดความอดทนอดกลั้นไม่ลุอำนาจแก่กิเลส ขันตินั้นย่อมสร้างประโยชน์ให้คือ

๑. ทำให้ไม่เศร้าโศกโศกาอาลัย

๒. ทำให้ได้รับคำสรรเสริญจากบัณฑิต

๓. ทำให้ไม่มากด้วยเวรภัย

๔. เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

อนึ่งบุคคลจะระงับความโกรธประทุษร้ายในจิตนั้น จะต้องอาศัยขันติคือความอดใจ และเมตตาความปรารถนาดีไม่คิดร้ายจองเวรแผ่ไปในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้นบุคคลที่จะฝึกฝนจิตใจให้อดทนอดกลั้นไม่มีโทโสโมโหนั้น ควรจะสร้างเมตตาจิตให้เกิดขึ้นมาในใจตนด้วย ก็จะช่วยเกื้อหนุนให้ขันติมั่นคงแข็งแรง บุคคลที่เจริญเมตตาพึงพิจารณาให้เห็นชัดแจ้งด้วยปัญญาว่า ตัวเรานี้ย่อมรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีปริมาณไม่มีขอบเขต ก็ย่อมรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น เมื่อนำเอาตนเองเป็นพยานเพื่อเทียบเคียงกับสัตว์อื่น ย่อมจะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นมาในโลกนั้น นับว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่ควรคิดเบียดเบียนเข่นฆ่าทำลายล้างกันเลย ควรตั้งจิตให้มีความปรารถนาดีเมตตาอารีต่อกันเท่านั้น จากนั้นให้อธิษฐานจิตแผ่เมตตาออกไป ดังนี้ว่า สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นทั้งปวงเทอญ จากนั้นจงแผ่ความปรารถนาดีไม่มีเวรไม่มีภัยไปสู่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทุกทิศทุกทาง ทุกเพศทุกวัย ทุกชั้นทุกวรรณะ ไม่เลือกหญิงไม่เลือกชาย ไม่เลือกคนดีไม่เลือกคนชั่ว ไม่เลือกคนชั้นสูงชั้นต่ำ ไปจนถึงสัตว์ในอบายภูมิแล้วพึงกล่าวอธิษฐานคำแผ่เมตตา แล้วๆ เล่าๆ จนจิตชุ่มเย็นเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิต ดังนี้เองย่อมจะเป็นการเจริญเมตตากรรมฐานอันจะทำให้จิตชุ่มเย็นไม่มีความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาท ซึ่งจะเกื้อหนุนให้ขันติความอดทนอดกลั้นในใจมั่นคงแข็งแรง ดังได้พรรณนามาก็เพื่อจะแสดงให้ท่านสาธุชนทั้งหลายทราบถึงความที่ว่า ขันติความอดทนย่อมนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๒๘ ความว่านอนสอนง่าย (โสวะจัสสะตา)

บุคคลผู้ใดก็ตามย่อมประพฤติตนเป็นคนสอนง่ายไม่มีมานะทิฏฐิอุปาทานแน่นหนาในสันดาน มีจิตเบิกบานอ่อนน้อมรับคำสั่งสอนของนักปราชญ์โดยเคารพ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐวิเศษ เป็นเหตุที่จะให้เกิดปัญญาพิจารณาเห็นคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในเบื้องหน้า ความว่านอนสอนง่ายเป็นที่สรรรเสริญของมนุษย์และเทพยดาทั้งปวง ความว่านอนสอนง่ายนี้มีคุณอันใหญ่หลวงอาจจะให้สำเร็จมรรคผลนิพพานข้ามโอฆสงสาร คือภพชาติความเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักสิ้นสุด ความว่านอนสอนง่ายนี้เป็นเหตุช่วยให้สามารถละเสียซึ่งอวิชชาตัณหา มานะทิฏฐิ อุปาทาน จะได้รู้เห็นซึ่งธรรมของพระบรมศาสดา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความว่านอนสอนง่ายย่อมจะมีเจตนาอันอ่อนน้อมไม่แข็งกระด้างด้วยมานะทิฏฐิ ย่อมมีขันติไม่โกรธพยาบาท มีกายวาจาใจใสสะอาด ปราศจากทุจริตคิดแต่ทางบุญกุศล ที่จะยกตนพ้นจากทุกข์แสวงหาความสุขเป็นเบื้องหน้า อนึ่งคนว่านอนสอนง่ายไม่กระด้างย่อมอ่อนทั้งกายวาจาใจ ปวารณาตนไว้ให้ผู้อื่นว่ากล่าวสั่งสอนชี้โทษบอกความผิดความบกพร่องของตัว ไม่ดื้อด้านดังศิษย์รับโอวาทอาจารย์ด้วยความเคารพ ดังที่สมเด็จพระมหามุนีได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายอยู่เถิด จะมีคุณอันประเสริฐยกตนให้พ้นจากอวิชชาตัณหา ให้ถึงความสิ้นกิเลสอาสวะ อันว่าภิกษุใดเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายไม่ดื้อดึงถือมานะทิฏฐิแล้วและรับโอวาทของนักปราชญ์ผู้มีปัญญา อุตส่าห์เล่าเรียนศึกษาธรรมวินัยปฏิบัติกายวาจาใจตามกำลังศรัทธา จะยังพระศาสนารุ่งเรืองไปนาน ความว่าง่ายสอนง่ายจะทำให้รุ่งเรือง ผู้ว่ายากสอนยากจะทำให้ศาสนาเศร้าหมอง เพราะมีผู้ว่ากล่าวแล้วไม่กระทำตาม จึงยังศาสนาให้เสื่อมไปด้วยเป็นคนว่ายากสอนยาก ถามว่าคนอย่างไรจึงเรียกว่า ว่ายากสอนยาก ตอบว่า คนมีมานะทิฏฐิแรงกล้า ใครจะสอนก็ไม่มีจิตอ่อนรับโอวาท จะเป็นคนโง่หรือคนฉลาดก็ดี ถ้ามีมานะทิฏฐิมากแล้วก็เรียกว่าคนว่ายากสอนยาก

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เล่าเรียนศึกษารู้ธรรมวินัย แต่ไม่ปฏิบัติตามความรู้ ก็เรียกว่าคนว่ายากสอนยาก เพราะไม่ทำตามโอวาทของพระพุทธเจ้า อนึ่งผู้ที่ฟังธรรมรู้แล้วไม่ปฏิบัติตามธรรม หรือแสดงอาการดีแต่ต่อหน้าพอลับตาก็ทิ้งเสีย หรือรับปฏิบัติเพื่อลาภสักการะ ครั้นสิ้นลาภสักการะแล้วก็ไม่ปฏิบัติต่อไปในกาลข้างหน้า คนเหล่านี้เรียกว่า คนว่ายากสอนยาก คนเหล่านี้ย่อมไม่มีที่พึ่งอาศัย ย่อมไม่เป็นที่รักใคร่ของนักปราชญ์ จะไปอยู่กับใครเขาก็เบื่อหน่าย และคนสอนยากมักเป็นคนโง่และขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ทำการงานให้สำเร็จประโยชน์ตนและผู้อื่นได้ และคนว่ายากสอนยากมักจะเป็นคนพาลสันดานหยาบช้า หาความละอายบาปและกลัวบาปมิได้ จะต้องไปเสวยความทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะสาเหตุที่ตนเองเป็นผู้มีมานะทิฏฐิแรงกล้า ประกอบด้วยอวิชชาความโง่หลงมืดมนอนธการเป็นคนพาลก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นพาล เป็นคนโง่หลงก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนโง่หลง คิดแต่ทำความชั่วไม่กลัวอบาย ทำแต่การบาปหยาบคายด้วยกายวาจาใจ ใครจะสั่งสอนก็ไม่ได้เพราะไม่รู้ตัว ความที่ว่าเป็นคนสอนยากว่ายากนั้นเพราะไม่รู้ตัวที่ทำชั่วสำคัญว่าทำดี ที่เขาทำดีสำคัญว่าชั่ว ไปติเตียนนินทามีประการต่างๆ ก็เพราะความโง่ ที่ตัวไม่มีปัญญา เพราะว่าความว่ายากสอนยากนั้นเป็นนิสัยของคนพาล

เมื่อท่านสาธุชนคนดีทราบถึงโทษอันมากมายของความว่ายากสอนยากแล้วดังนี้ พึงสมาทานทำตนให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่ายอยู่เสมอเถิด วิธีการที่เราจะทำตนให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่ายนั้น ก็จงอย่าดูข้อดีหรือความดีของตนเอง อย่าเพ่งโทษผู้อื่น แต่จงเพ่งโทษตนเอง ดูความบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ และถ้ามีผู้ใดมาช่วยบอกกล่าวชี้โทษของเราให้เราได้รับรู้ จงทำใจขอบคุณเขาผู้นั้น ประดุจขอบคุณต่อผู้มาชี้ขุมทรัพย์ให้ อนึ่งบุคคลผู้จะซักผ้าให้ได้ขาวสะอาดนั้นไม่จำเป็นจะต้องดูส่วนของเนื้อผ้าที่ขาวสะอาด แต่จะแสวงหาดูส่วนที่แปดเปื้อนเป็นด่างดวงเพื่อจะได้ขยี้เสียให้ขาวขึ้นมา ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลที่จะขัดจิตใจตนให้ใสสะอาดจงอย่าคอยนั่งมองความดีความบริสุทธิ์ของตนเอง จงขวนขวายหาจุดบกพร่องผิดพลาดของตนเอง เพื่อจะได้ทำการแก้ไขและถ้ามีท่านผู้ใดมาช่วยชี้จุดบกพร่องผิดพลาดของตนเองได้ จงเคารพในโอวาทของท่านและเคารพเทิดทูนท่านผู้นั้นไว้ในที่สูง เสมอครูบาอาจารย์ผู้ชี้ขุมทรัพย์ ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็จะกลายเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายไม่แข็งกระด้างต่อคำสอน ก็จะบังเกิดเป็นมงคลล้นพ้นแก่ตัวด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ (สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง)

การได้เห็นซึ่งสมณะทั้งหลายเหล่าใดก็ตามที่เป็นผู้มีสันดานอันระงับจากกิเลส จะเป็นเห็นด้วยตา หรือเห็น ด้วยใจ คือสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกส่วนลึก ดังนี้ท่านจัดว่าเป็นมงคลอันวิเศษ อันเป็นเหตุจะนำมาซึ่งศรัทธา อันเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ การเห็นด้วยตานั้นอาศัยรูปลักษณ์ของท่านมากระทบจักษุของเรา ส่วนการเห็นด้วยใจนั้นอาศัยเกิดได้จากปัญญารู้ซึ้งซาบซึ้งพระคุณของท่าน การเห็นด้วยตานั้นนำมาซึ่งกามาวจรกุศล การเห็นด้วยใจคือเห็นด้วยปัญญานั้นนำมาซึ่งโลกุตตรกุศลเป็นทางพ้นโลก การเห็นด้วยตาหรือด้วยใจในวัตถุที่ควรจะเลื่อมใสคือ เพศบรรพชา มีภิกษุสามเณรเป็นอาทิ จัดเป็นมงคลความเจริญตาเจริญใจอีกอย่างหนึ่ง หรือการได้เห็นผู้ปฏิบัติกายวาจาใจ ให้บริสุทธิ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา น่าเลื่อมใส จะเป็นหญิงหรือชาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็จัดเป็นมงคลอันนำมาซึ่งความเจริญใจได้

อนึ่งการเข้าไปอุปัฏฐากปฏิบัติแก่ท่านผู้มีศีลมีคุณอันงามคือ สมณพราหมณ์ที่มีกิเลสอันระงับจากสันดานก็ดี และระลึกถึงท่านผู้วิเศษที่สิ้นกิเลสมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี หรือได้ฟังตำนานข่าวสารของท่านผู้สิ้นกิเลสจากสันดานก็ดี การที่ได้เห็นได้ฟังและได้ระลึกถึงท่านผู้สิ้นกิเลสนี้ จัดเป็นมงคลความเจริญตาเจริญใจให้ได้ความศรัทธาเลื่อมใสในศีลคุณ จัดเป็นกุศลหนทางสู่สุคติมีสวรรค์นิพพานเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเห็นท่านผู้สิ้นกิเลสเป็นเหตุให้มีนิสัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าอย่างแน่นอน ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเทศนาไว้ในโพชฌงค์สังยุตต์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวสรรเสริญว่า บุคคลใดได้เห็นได้ฟังได้เข้าใกล้ได้ไปมาหาสู่เจรจากับพระอริยเจ้า ได้ระลึกถึงคุณของพระอริยเจ้า ได้อุปสมบทบวชตามพระอริยเจ้า คือได้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติกาย วาจา ใจ ได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของท่านแล้ว ก็จะมีปัญญาพิจารณาซึ่งธรรม

เมื่อพิจารณาเห็นธรรมอยู่เนืองๆ แล้ว โพชฌงค์ทั้ง ๗ องค์ ย่อมบังเกิดขึ้นในใจ คือ

๑. สติ มีการระลึกอยู่เนืองๆซึ่งธรรม

๒. ธัมมวิจยะ มีการวิจัยขบคิดซึ่งธรรม

๓. วิริยะ มีความเพียรในการเจริญกุศลละอกุศล

๔. ปีติ มีความอิ่มกายอิ่มใจจากธรรม

๕. ปัสสัทธิ เกิดความสงบระงับเย็นกายเย็นใจ

๖. สมาธิ จิตใจตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม

๗. อุเบกขา การวางเฉยในสภาพสังขารต่างๆ เพราะว่าได้รู้แจ้งเห็นธรรม

ซึ่งเมื่อโพชฌงค์ทั้ง ๗ เดินตัวครบพร้อมอยู่ ย่อมเกื้อหนุนให้ผู้นั้นได้เข้าถึงมรรคผลนิพพานในที่สุด ฉะนั้นการได้เห็นพระอริยเจ้าและมีความเลื่อมใสศรัทธาไปมาหาสู่และฟังธรรมคำสั่งสอนของท่าน จึงจัดเป็นความมงคลเจริญใจอย่างยิ่ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากบุคคลใดก็ดี มีจิตเป็นพาล ได้เห็นวัตถุหรือบุคคลอันควรเลื่อมใสแต่ไม่เลื่อมใส กลับโกรธมีจิตประทุษร้ายลบหลู่ดูหมิ่นดูแคลนแก่ท่านผู้มีศีลธรรมอันงามให้ได้ความเดือดร้อน ก็จะบังเกิดเป็นอัปมงคล ย่อมให้ผลเป็นทุกข์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เดือดร้อนต้องประสบภัยพิบัติเสวยทุกขเวทนาไปสิ้นกาลนาน อนึ่งการเห็นสมณะด้วยใจนั้นก็คือการได้เห็นซึ่งธรรมอันจะนำมาซึ่งการตัดกิเลส คือ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมทั้งการเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ ประการ นำให้ได้ถึงมรรคผลนิพพานดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ ให้ได้บรมสุขพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย สรรพธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะต้องรู้ด้วยใจ ฉะนั้นเมื่อบุคคลใดได้เห็นรูปสมณะผู้ระงับบาปด้วยดวงตาแล้วมีจิตเลื่อมใสกราบไหว้บูชา หรือเห็นด้วยใจในธรรมทั้งหลายของพระอริยเจ้าเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จัดเป็นมงคลความเจริญทั้งสิ้น

อนึ่งความมีศรัทธาออกบวชบรรพชาตามพระอริยเจ้าทั้งหลาย เหมือนกับเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ออกบวชตามพระพุทธเจ้า ครั้นได้ฟังเทศนาธรรมจักรก็ได้บรรลุซึ่งมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาดังนี้ จัดเป็นมงคลความเจริญ หรือแม้แต่เพียงว่าบุคคลใดประพฤติตามอุบาสกอุบาสิกา ที่รักษาศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบถ ๑๐ นั้นก็ดี หรือเป็นผู้มีศรัทธาประพฤติตามพระโยคาวจรผู้ขวนขวายเจริญในทางกรรมฐานก็ดี เหล่านี้จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดบุญสัมปทา ย่อมจะนำมาซึ่งความสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้า และเป็นปัจจัยแก่สวรรค์นิพพานในอนาคตกาล

บัดนี้จะแนะนำกรรมฐานกองหนึ่งที่ชื่อว่าสังฆานุสสติ หมายถึงการระลึกถึงพระสงฆ์เป็นอารมณ์ อันว่าพระสงฆ์นี้หมายถึงพระอริยบุคคล ๔ จำพวก คือ

๑. พระโสดาบัน คือ ท่านผู้เข้าสู่มรรคผลขั้นแรก สามารถละกิเลสชั้นหยาบระดับทิฏฐิ เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะสามารถทำให้แจ้งนิพพาน

๒. พระสกิทาคามี คือ ท่านผู้เข้าสู่มรรคผลขั้นที่ ๒ คือผู้ที่สามารถละกิเลสระดับทิฏฐิได้แล้วยังสามารถทำให้ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง จะกลับมาเกิดอีกชาติเดียวก็จะสามารถทำให้แจ้งนิพพาน

๓. พระอนาคามี คือท่านผู้เข้าสู่มรรคผลขั้นที่ ๓ คือสามารถละราคะ และโทสะได้ จะไม่กลับมาเกิดในเมืองมนุษย์แล้ว จะไปเกิดในชั้นพรหมสุทธาวาสแล้วทำให้แจ้งนิพพานที่นั่น

๔. พระอรหันต์ คือท่านผู้บรรลุมรรคผลที่ ๔ คือขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาซึ่งสามารถตัดกิเลสได้หมดสิ้น

ผู้ที่จะเจริญสังฆานุสสติ พึงระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีมากมาย แต่นักปราชญ์ได้ย่นย่อมาได้ ๙ หัวข้อคือ

๑. สุปฏิปันโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี เพราะว่าปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ และย่อมปฏิบัติอยู่ในอปัณณกปฏิปทา คือการปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ ได้แก่ ๑.อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ไปรับอารมณ์ที่ไม่สมควรแก่สมณะ ๒.โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารไม่มากไม่น้อย เพื่อเอื้อแก่การประพฤติธรรม ๓.ชาคริยานุโยค มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ไม่ย่อหย่อนทอดธุระ ทั้งหมดนี้จึงเรียกได้ว่าพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี

๒. อุชุปฏิปันโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง เพราะปฏิบัติตรงตามทางสายกลางคือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ไม่เข้าไปส่วนสุด ๒ ข้างคือ กามสุขัลลิกานุโยค การบำรุงบำเรอตนในกามสุข และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบาก และพระสงฆ์ย่อมปฏิบัติเพื่อละโทษคือความคด ความโกง ความงอ ความไม่ซื่อตรง ทางกาย วาจา และใจ ทั้งหมดนี้จึงเรียกได้ว่าพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง

๓. ญายปฏิปันโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องตรงทางแล้ว เพราะว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่จะนำออกจากกองทุกข์

๔. สามีจิปฏิปันโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว เพราะท่านปฏิบัติกาย วาจา ใจ ของท่านให้บริสุทธิ์ด้วยไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อสมควรแก่โลกุตตรธรรม อันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์

๕. อาหุเนยโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การสักการะที่เขานำมาบูชา คือ ท่านย่อมเป็นผู้ควรเครื่องสักการะบูชา อันเทวดาและมนุษย์พึงนำมาบูชา เพราะท่านอาจทำเทวดาและมนุษย์ผู้บูชานั้นให้มีผลอันใหญ่ยิ่งตามประสงค์ได้เพราะเหตุที่ท่านมีจิตบริสุทธิ์จากกิเลสแล้ว

๖. ปาหุเนยโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การสักการะ ที่เขาจัดไว้ต้อนรับยิ่งกว่าบรรดาญาติมิตรสหายและอาคันตุกะทั้งหลาย เพราะชนทั้งหลายเหล่านั้นยังมีคุณไม่เท่าพระสงฆ์ เนื่องจากท่านเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลส

๗. ทักขิเณยโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การรับทักษิณาทาน อันบุคคลผู้มีศรัทธา เชื่อว่ามีโลกนี้โลกหน้า เลื่อมใสแล้วให้เพื่อหวังบุญกุศลสำหรับตนเองบ้าง สำหรับเพื่ออุทิศให้แก่ญาติมิตรสหาย ผู้ล่วงลับไปแล้วบ้าง พระสงฆ์ย่อมทำทักษิณาทานนั้นให้มีผลมากมีอานิสงส์มาก เพราะความที่ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลส

๘. อัญชลีกรณีโย พระสงฆ์ย่อมเป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลีของบุคคลทั้งหลาย

๙. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์ย่อมเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า อันบุญทั้งหลายที่บุคคลกระทำแก่ผู้มีกิเลสย่อมมีผลน้อยมีอานิสงส์น้อย เนื่องจากพระสงฆ์ท่านมีจิตบริสุทธิ์ ฉะนั้นบุคคลใดถวายทานแก่ท่านย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก นับว่าท่านเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐแก่ชาวโลกทั้งหลายผู้หวังผลบุญกุศลยิ่งกว่านาบุญชนิดอื่น

เมื่อบุคคลระลึกถึงพระสังฆคุณโดยแยบคายดังนี้แล้วให้จิตรวมลงมา นึกถึงความประเสริฐเลิศดีทั้งมวลของพระสงฆ์นั้นรวมลงมาในคำว่า "สังโฆ" แล้วบริกรรมภาวนาคำว่า "สังโฆ" แล้วๆ เล่าๆ ร้อยหนพันหนหมื่นหน จิตของเธอผู้นี้ก็จะเป็นจิตที่ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่กลุ้มรุม จิตเธอย่อมดำเนินตรงแน่วแน่ปรารภพระคุณของพระสงฆ์ ก็บุคคลผู้ประกอบอยู่เนืองๆ ซึ่งสังฆานุสสตินี้ย่อมเป็นผู้มีจิตคารวะอันยิ่งต่อพระสงฆ์ จะเป็นผู้มีความยำเกรงอย่างยิ่งในพระสงฆ์ จะได้ถึงความไพบูลย์แห่งศรัทธา ความไพบูลย์แห่งสติ ความไพบูลย์แห่งบุญกุศล เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจได้ดี สามารถอดกลั้นต่อทุกข์และมีความรู้สึกเสมือนว่าได้อยู่กับพระสงฆ์ อนึ่งแม้สรีระกายของเธอผู้เจริญสังฆานุสสติ ย่อมเป็นร่างที่ควรแก่การบูชา ประดุจโรงอุโบสถอันมีพระสงฆ์ประชุมกันอยู่ฉะนั้น จิตของเธอย่อมน้อมไปในอันจะบรรลุซึ่งมรรคผลนิพพาน อนึ่งเมื่อประสบเข้ากับสิ่งปลุกเร้าให้ล่วงละเมิดศีลธรรม หิริความละอายต่อบาป และโอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาปโดยปริมาณยิ่ง ย่อมจะปรากฏแก่เธอประดุจราวกับว่าเห็นพระสงฆ์อยู่ต่อหน้า สังฆานุสสติย่อมเกื้อหนุนกุศลธรรม และความเจริญรุ่งเรืองทางธรรมอย่างยิ่งแก่เธอ เธอย่อมง่ายต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตราบใดที่ยังไม่ถึงนิพพาน เธอผู้มากไปด้วยสังฆานุสสตินั้น ย่อมรื่นเริงบันเทิงอยู่ในสุคติภพ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาดี พึงทำความไม่ประมาท ขวนขวายในการเจริญสังฆานุสสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ ดังได้แสดงมาก็เพื่อจะให้สาธุชนเห็นคุณประโยชน์ของการได้เห็นสมณะอันจะนำมาซึ่งมงคลแก่ชีวิตอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล (กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา)

บริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เมื่อมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ที่พระศาสดาทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ เมื่อเล่าเรียนศึกษาได้แล้ว ก็พากันนำมาพูดจาเล่าสู่กันฟังในท่ามกลางหมู่บริษัทที่ประชุมด้วยธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลในเวลากลางวันและกลางคืนเป็นต้น เรียกว่าการสนทนาธรรมตามกาล ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ อนึ่งเมื่อบุคคลกล่าวซึ่งกุศลธรรมวินัย เช่นกล่าวถึงทาน การให้ข้าวและน้ำเป็นต้นก็ดี หรือกล่าวซึ่งการสำรวมในศีลอันเป็นเครื่องสำรวมระวังกายวาจาให้เรียบร้อย หรือกล่าวซึ่งการภาวนารักษาใจให้เป็นกุศล หรือกล่าวถึงสมาธิปัญญาอันเป็นมรรคาทางนิพพานก็ดี กล่าวถึงพระสูตรพระวินัยพระอภิธรรมโดยหัวข้อและโดยความหมายขยายความก็ดี หรือเป็นการปุจฉา คือการตั้งหัวข้อคำถามในทางธรรมะขึ้นมา และอีกฝ่ายเป็นผู้วิสัชนา คือการตอบคำถามแก้ปัญหากันก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเรียกว่า ธรรมสากัจฉา การสนทนาธรรม

ในหัวข้อการสนทนาธรรมตามกาลนี้ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงกรรมฐานสัก ๒ กอง คือ ๑.อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๒.จตุธาตุววัฏฐาน มาชี้แจงพอสังเขปเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านได้สดับพอได้เรืองปัญญาตามควร

อาหาเรปฏิกูลสัญญา เป็นกรรมฐานกองหนึ่ง แปลว่าการกำหนดหมายว่า อาหารเป็นปฏิกูล ทีนี้เนื่องจากร่างกายของคนเรานั้นประกอบขึ้นมาจากอาหาร เมื่อเราพิจารณาจนเกิดปัญญาเห็นว่าอาหารนั้นเป็นปฏิกูล ย่อมจะเกิดปัญญาเห็นแจ้งว่าร่างกายนี้เป็นปฏิกูลไปด้วย วิธีการพิจารณาอาหารให้เป็นปฏิกูลแบบง่ายๆ คือ เราพิจารณาให้เห็นว่าอาหารที่เรานำมากินนี้ ย่อมเป็นของที่จะบูดเน่าและเสียไปเป็นธรรมดา อาหารที่เราดูว่าสละสลวย กลิ่นหอมชวนกินนั้น เมื่อทิ้งไว้สัก ๒-๓ วัน จะบูดเน่าหนอนขึ้น แมลงวันตอม เป็นที่น่าสะอิดสะเอียน ก็ในเมื่อเรากินอาหารเข้าไปทำให้ร่างกายเราเติบโต นั่นก็หมายความว่าร่างกายเรานี้ถูกสร้างขึ้นมาจากของบูดเสียเน่าเหม็นทั้งสิ้น ธรรมดาว่าตุ๊กตาที่ปั้นมาจากทองคำย่อมต้องแสดงคุณสมบัติของทองคำคือสวยเหลืองอร่ามมองดูงดงาม ส่วนตุ๊กตาที่ปั้นมาจากอุจจาระนั้นเล่าก็ย่อมจะแสดงคุณสมบัติของอุจจาระ คือมองดูก็ชวนน่าเกลียดกลิ่นก็เหม็นสะอิดสะเอียน และก็ในเมื่อร่างกายของมนุษย์ทั้งหลายถูกปั้นมาจากของบูดเสียเน่าเหม็น ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ร่างกายนี้จะเป็นของบูดเสียเน่าเหม็นไปด้วย สิ่งที่ไหลออกจากร่างกายนี้จึงมีแต่ของสกปรกเหม็นเน่าเหม็นเปรี้ยวเหม็นบูดเหม็นหืน ร่างกายนี้จึงเป็นรังของโรค เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนและเชื้อโรคต่างๆนาๆ โรคร้อยแปดพันเก้าจึงได้ตั้งขึ้นบนร่างกายนี้ ร่างกายนี้จึงต้องได้รับการชะล้างขัดสีอยู่เสมอเพราะว่าเป็นปฏิกูลไปทั่วทั้งกาย ร่างกายนี้พร้อมจะบูดพร้อมจะเน่าอยู่ตลอดเวลา บุคคลทั้งหลายจึงต้องทายา ใส่ยา กินยา ฟอกสบู่ถูขี้ฟันล้างหน้าล้างตัวอยู่เสมอเพื่อบรรเทาอาการเน่าเสียบูดเหม็นที่เกิดอยู่ตลอด แต่ท้ายที่สุดก็หนีความเน่าไม่พ้น เพราะเมื่อถึงเวลาตายอาการเน่าเหม็นจะแสดงอาการปรากฏอย่างชัดแจ้ง

ฉะนั้นสรุปแล้วคือว่าร่างกายคนนั้นไม่มีของดีแม้แต่นิดเดียว บุคคลผู้มีปัญญาเห็นแจ้งชัดดังนี้ ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในร่างกายย่อมถอนความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ว่าเป็นตัวกูของกู เป็นของน่ายินดีพอใจออกเสียได้ เมื่อท่านสาธุชนพิจารณาดังนี้อยู่บ่อยๆ กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมจะเบาบางลง ความทะยานอยากในกามทั้งหลายย่อมลดน้อยถอยลง ความหลงใหลว่าโลกนี้สดสวยโสภาน่าเป็นสุขจะคลายไป ปัญญาเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาย่อมเกิดขึ้น เธอจะเข้าใกล้ทางนิพพาน กรรมฐานกองนี้จะช่วยให้เธอบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่ายมาก และตราบใดที่เธอยังไม่ถึงนิพพานเธอย่อมบันเทิงอยู่ในสุคติภพ

ต่อไปจะได้อธิบายถึง จตุธาตุววัฏฐาน ซึ่งเป็นกรรมฐานกองหนึ่งมีวิธีปฏิบัติโดยการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยความเป็นธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในมหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโค เมื่อฆ่าโค แล้วชำแหละขายอยู่ที่ทางสี่แพร่งนั้น ฉันใดก็ดี ภิกษุพึงแยกแยะกายนี้ออกเป็น ธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ฉันนั้น อธิบายความว่า เมื่อคนฆ่าโค เลี้ยงโค จูงโค นำโคมาสู่โรงฆ่าสัตว์ กำลังฆ่า เห็นมันถูกฆ่า โคนอนตายอยู่ ความรู้สึกว่าเป็นโคก็ยังไม่หายไป ต่อเมื่อชำแหละแบ่งเนื้อออกเป็นส่วนๆ นำไปขายที่ทางสี่แพร่ง แล้วความรู้สึกว่าโคย่อมหายไป กลายเป็นความรู้สึกว่าเนื้อ เขาไม่คิดว่า "เรากำลังขายโค ชนเหล่านี้ย่อมมาซื้อโค" แต่แท้ที่จริงเขาย่อมคิดอย่างนี้ว่า "เรากำลังขายเนื้อ ชนเหล่านี้ย่อมมาซื้อเนื้อ" ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อท่านสาธุชนทั้งหลายยังไม่ได้ใช้ปัญญาอันแยบคายมาพินิจพิจารณาสรีระกายนี้ ย่อมมีความรู้สึกเป็นคน สัตว์ หญิง ชาย อยู่ แต่ต่อมาเมื่อเธอมาแยกแยะย่อยกายนี้ด้วยปัญญา ว่ากายนี้ย่อมประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ สิ่งใดที่มีอาการแข้นแข็ง สิ่งนั้นเป็นธาตุดิน สิ่งใดเป็นของที่ไหลเอิบอาบ สิ่งนั้นเป็นธาตุน้ำ สิ่งใดอบอุ่น สิ่งนั้นเป็นธาตุไฟ สิ่งใดพัดไปมา สิ่งนั้นเป็นธาตุลม ต่อเมื่อเธอพิจารณาแยกย่อยกายนี้เป็นธาตุ ๔ ด้วยปัญญาญาณอันคมกล้าแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นคน สัตว์ หญิง ชาย ก็หายไป เพียงรู้สึกว่าธาตุทั้ง ๔ ย่อมประกอบกันเข้ามา หามีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ในที่ใดไม่ เมื่อท่านสาธุชนพิจารณาแยกแยะด้วยปัญญาจนปลงใจว่ากายนี้สักแต่เพียงว่า เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประกอบกันตั้งอยู่ ไม่มีคน สัตว์ หญิง ชาย บุคคล ตัวตน เรา เขา ในที่ใด แล้วพึงบริกรรมว่า "ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม" ร้อยหน พันหน หมื่นหน แล้วๆ เล่าๆ อยู่ดังนี้ จิตของเธอย่อมจะเข้าสู่องค์ธรรมอันประณีตที่เพิกความกำหนดหมายยึดมั่นอุปาทาน อันจะนำจิตลงไปสู่ทางต่ำด้วยกิเลสราคะ กิเลสโทสะ และกิเลสโมหะ ย่อมจะเบาบางลงเพราะเธอมาเห็นสัจธรรมความจริงที่พ้นจากการสมมุติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย เมื่อเธอประกอบเนืองๆ ซึ่งจตุธาตุววัฏฐาน จิตของเธอก็จะหยั่งลงถึงสุญญตา คือความว่างเปล่าจากตัวตน จะถอนสัตตสัญญา คือความกำหนดหมายว่าเป็นสัตว์ บุคคลเสียได้ เพราะถอนสัตตสัญญาได้ จิตเธอย่อมจะไม่ตื่นตระหนกเพราะการกำหนดเป็นสัตว์ร้าย คนร้าย ต่างๆ เธอย่อมเป็นผู้ข่มความกลัวภัยต่างๆ ได้ ข่มความยินดีและความยินร้ายได้ จิตเธอย่อมไม่ฟูขึ้นเพราะอารมณ์ที่น่าชอบใจ และไม่แฟบลงเพราะอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ เธอจะเป็นผู้มีปัญญามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาในการเห็นอนัตตลักษณะ คือลักษณะของความไม่มีตัวตนของสังขารทั้งปวง การเจริญจตุธาตุววัฏฐานย่อมทำให้เธอง่ายดายต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตราบใดที่เธอยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน เธอย่อมรื่นเริงบันเทิงอยู่ในสุคติภพ มีเทวโลกและพรหมโลกเป็นอาทิ ฉะนั้นสาธุชนผู้มีปัญญาพึงขวนขวายการเจริญจตุธาตุววัฏฐานอันเป็นธรรมที่มีอานุภาพมาก เป็นจิตกีฬาของพระโยคีผู้อาจหาญแกล้วกล้าประดุจราชสีห์นิยมเล่นกันดังนี้แล

ข้าพเจ้าได้ยกกรรมฐานอันมีคุณอนันต์ ๒ ประการ คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัฏฐาน มาอธิบายเพื่อประดับประดาธรรมกถาที่ว่า การสนทนาธรรมตามกาล ย่อมนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐ ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำความรื่นเริงบันเทิงให้บังเกิดแก่ท่านสาธุชนผู้ยินดีในธรรมทั้งหลายด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๓๑ การบำเพ็ญตบะ (ตะโป)

บุคคลใดมีความเพียรสำรวมระวังรักษาอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในการสัมผัสสัมพันธ์กับอารมณ์ทั้งหลาย เพื่อกำจัดเสียซึ่งกิเลสต่างๆ และอกุศลบาปธรรม คือราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อุปาทาน ให้ลดน้อยถอยลงไปจากขันธสันดาน จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ คำว่าบำเพ็ญตบะนั้นแปลว่า การทำความเพียรเพื่อให้กิเลสเร่าร้อน อันจะช่วยให้จิตใจของผู้ทำความเพียรเข้าถึงความสงบร่มเย็นด้วยธรรม ฉะนั้นเกี่ยวกับการบำเพ็ญตบะนั้นท่านจึงยกตัวอย่างไว้มากมายหลายประการ เช่นว่า

๑. การสังวรสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้เข้าไปยินดียินร้ายกับอารมณ์ที่มากระทบ

๒. การประพฤติพรหมจรรย์ ละเว้นจากการเสพกาม

๓. การทำให้เห็นแจ้งตามหลักอริยสัจ ๔

๔. การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันเป็นเครื่องระงับดับกิเลสทั้งหลาย

๕. การมีขันติอดทนอดกลั้นไม่โกรธไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรผูกโกรธ

๖. การรักษาศีล ๕ ประการเป็นการห้ามกายวาจามิให้ทำไปตามอำนาจกิเลส

๗. การรักษาศีลอุโบสถตามวาระโอกาส

๘. การเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

๙. การรักษาธุดงควัตรของพระภิกษุสามเณร

๑๐. ความสังวรระวังทั้ง ๕ คือ สติสังวร สังวรด้วยสติ อินทรียสังวร สังวรด้วยอินทรีย์ สีลสังวร สังวรด้วยศีล วิริยสังวร สังวรด้วยความเพียร ญาณสังวร สังวรด้วยญาณ

ที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ข้อนั้น แต่ละข้อก็จัดว่าเป็นการบำเพ็ญตบะทั้งสิ้น

บัดนี้จะได้แนะนำการบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่งนั่นคือการเจริญกายคตาสติ กายคตาสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่งที่แยกแยะร่างกายเป็นอวัยวะ ๓๒ ประการและน้อมจิตไปให้เห็นว่าอาการเหล่านั้นเป็นปฏิกูลของโสโครกไม่น่าใคร่ไม่น่าปรารถนา ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้นี่แลแต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มโดยรอบเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ เยี่ยว ดังนี้ แท้จริงบุคคลผู้ใดก็ตาม เมื่อมาค้นดูในกเลวรากกายนี้อันมีสันฐานโดยประมาณคือ ยาววา หนาคืบ กว้างศอก ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา ตั้งแต่หนังเข้าไปโดยรอบนี้ แม้โดยอาการทุกอย่าง จะได้พบภาพของสะอาดอะไรๆ ยกตัวอย่างเช่น ไข่มุกก็ดี แก้วมณีก็ดี แก้วไพฑูรย์ก็ดี หามิได้มี หรือว่าจะหาของสิ่งที่มีกลิ่นหอม ยกตัวอย่างเช่น กฤษณาก็ดี การบูรก็ดี กระแจะจันทน์เป็นต้นก็ดี แม้แต่อณูหนึ่งก็หามีไม่ ที่แท้ย่อมพบแต่ของไม่สะอาดกลิ่นเหม็นโสโครกนานับประการ อันมี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นอาทิล้วนแล้วแต่มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียด ไม่เป็นขวัญตาเลยเท่านั้น เมื่อผู้ปฏิบัตินั้นมนสิการแล้วๆ เล่าๆ โดยนัยที่ว่าแยกแยะร่างกายออกเป็นอาการ ๓๒ ประการ และน้อมจิตไปในทางที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้ เป็นปฏิกูลโสโครกหาความสวยงามหาคนสัตว์หญิงชายไม่ได้ จนจิตมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นองค์ประกอบรวบรวมมาจากสิ่งปฏิกูล ควรเบื่อหน่ายคลายกำหนัดต่อกายนี้ เมื่อจิตรู้สึกดังนี้ จึงเรียกว่าเข้าถึงกายคตาสติกรรมฐาน อันจะนำมาซึ่งอานิสงส์ คือ

๑. ย่อมจะเป็นผู้ข่มความยินดียินร้ายได้

๒. สามารถข่มความกลัวภัยต่างๆ ได้

๓. อดทนต่อความหนาวร้อนหิวกระหายได้

๔. สามารถอดกลั้นต่อทุกขเวทนาขนาดจะคร่าชีวิตได้

๕. ย่อมจะได้บรรลุสมาธิอันยิ่งขึ้น

๖. ย่อมจะได้บรรลุปัญญาญาณที่สูงขึ้น

๗. ย่อมเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งธรรมอันจะนำมาซึ่งมรรคผลนิพพาน

๘. ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญตบะทำความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน

ดังได้บรรยายมาก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญตบะย่อมนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐ ด้วยประการฉะนี้แล

มงคลที่ ๓๒ การประพฤติพรหมจรรย์ (พรัหมะจะริยัญจะ)

คำว่าพรหมจรรย์แปลตามศัพท์หมายถึง ความประพฤติอันประเสริฐ

ในพระไตรปิฎกท่านแยกแยะพรหมจรรย์ เป็น ๑๐ อย่าง ได้แก่

๑. การให้ข้าวน้ำ และปัจจัยใช้สอยแก่การดำรงชีวิตแก่มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน จะเป็นผู้ให้ตามกาล หรือให้เป็นนิตย์ก็ตามที

๒. การช่วยขวนขวายจัดทำช่วยเหลือกิจการอันเป็นกุศลของผู้อื่นให้เจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงด้วยความชุ่มชื่นโสมนัสไม่เบื่อหน่ายท้อถอย

๓. การรักษาศีล ๕ เพื่องดเว้นจากการล่วงบาปกรรม ๕ ประการ

๔. การแผ่พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปในสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

๕. การไม่เสพกามอันเป็นความกำหนัดยินดีในแนวทางของสามีภรรยา

๖. ความสันโดษมักน้อยในวัตถุข้าวของเครื่องใช้ ไม่ทะเยอทะยานมักมากในวัตถุกาม กิเลสกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีในผัวเดียวเมียเดียว

๗. การที่มีความเพียรกล้าแข็งไม่ย้อท้อต่อการกุศลต่างๆ แม้มีความยากลำบากด้วยความหนาวความร้อนเป็นต้น

๘. การสมาทานรักษาศีลอุโบสถ ตามวาระโอกาสต่างๆ

๙. ปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

๑๐. ข้อปฏิบัติในทางศาสนาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

พรหมจรรย์ทั้ง ๑๐ นี้ บุคคลใดยินดีรักษาแม้แต่อันใดอันหนึ่งย่อมเป็นที่พึ่งแก่บุคคลนั้น เป็นปัจจัยแก่ทางสวรรค์นิพพาน และการประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ว่าเป็นกุศลอันวิเศษใหญ่หลวงเป็นเครื่องระงับกิเลสทั้งปวง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงจากขันธสันดาน เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ เป็นปรมัตถสุขอันอุดม เป็นที่ยินดีชื่นชมของพระอริยเจ้า เป็นที่สละกองทุกข์ทั้งหลายพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บตาย เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้นในภพน้อยภพใหญ่ จนได้ถึงซึ่งพระนิพพาน อันเป็นบรมสุข

บัดนี้จะได้แนะนำการประพฤติพรหมจรรย์อย่างหนึ่งคือการเจริญอานาปานสติ อานาปานสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่ง กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นอารมณ์ ตั้งสติกำหนดรู้เวลาหายใจเข้าและออก เวลาหายใจเข้าลมหายใจกระทบที่จมูก หน้าอก และท้องตามลำดับ เวลาหายใจออกลมหายใจกระทบท้อง หน้าอกและจมูก ตามลำดับ กำหนดไปอย่างนี้ ๑๐๐ หน ๑,๐๐๐ หน จนกว่าจิตจะสงบ แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากไม่สงบ ท่านสอนให้ฝึกนับลมหายใจครั้งละ ๑๐ คู่ คือหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ หายใจเข้านับ ๒ หายใจออกนับ ๒ หายใจเข้านับ ๓ หายใจออกนับ ๓ หายใจเข้านับ ๔ หายใจออกนับ ๔ หายใจเข้านับ ๕ หายใจออกนับ ๕ หายใจเข้านับ ๖ หายใจออกนับ ๖ หายใจเข้านับ ๗ หายใจออกนับ ๗ หายใจเข้านับ ๘ หายใจออกนับ ๘ หายใจเข้านับ ๙ หายใจออกนับ ๙ หายใจเข้านับ ๑๐ หายใจออกนับ ๑๐ ตั้งใจไว้ว่าภายใน ๑๐ คู่จะไม่วอกแวกไปคิดเรื่องอื่นสิ่งอื่น ถ้าหากยังนับไม่ครบ ๑๐ คู่แล้วจิตส่งออกไปคิดเรื่องภายนอกให้ลงโทษตนเองโดยนับ ๑ ใหม่ ถ้าหากเรานับจนถึง ๑๐ คู่โดยจิตไม่วอกแวก ก็ชื่อว่าจิตเราเป็นสมาธิอยู่ ๑๐ คู่ลมหายใจแล้ว ถ้าจะทำสมาธิต่อก็เริ่มนับเลข ๑ ใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำว่าอย่านับเลขเกิน ๑๐ เพราะจิตใจจะไปหมกมุ่นกับตัวเลขเกินไป ฉะนั้นพอเรานับครบ ๑๐ ให้เริ่มต้นมานับ ๑ ใหม่ เราตั้งสติกำหนดจิตให้มั่นคงไม่วอกแวกชุดละ ๑๐ คู่ลมหายใจอย่างนี้ จะทำให้เราสามารถทรงสมาธิได้นานขึ้นเรื่อยๆ ไปเอง

อานิสงส์การเจริญอานาปานสตินั้นย่อมจะช่วยให้จิตเป็นสมาธิดีขึ้น ตัดความวิตกกังวลฟุ้งซ่าน สามารถช่วยให้ทำกรรมฐานกองอื่นสำเร็จง่าย โดยการทำกรรมฐานกองนั้นพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นกรรมฐานที่ให้ความสุขอันละเมียดละไม ฉะนั้นพระอรหันต์และพระพุทธเจ้าจึงทรงอานาปานสติอยู่เสมอ นอกจากนี้อานาปานสติยังจะเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาได้อย่างดี

ดังที่ข้าพเจ้าบรรยายขยายความมา เพื่อจะแสดงให้ท่านสาธุชนทั้งหลายรื่นเริงในธรรมที่ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๓๓ การเห็นอริยสัจ (อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง)

ความจริงอันประเสริฐที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นั้นเรียกว่า อริยสัจ บุคคลใดมีปัญญาพิจารณาเห็นในอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ

ทุกข์นั้นคืออะไร ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศกเศร้า ความพิรี้พิไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ มีความปราถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นอุปาทาน นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ขันธ์ทั้ง ๕ ก็คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ก็คือร่างกายอันเป็นรูปธรรมนั่นเอง เวทนาขันธ์ก็คือความเสวยอารมณ์ รู้สึกสุข ทุกข์ หรือ เฉยๆ สัญญาขันธ์คือความจำได้หมายรู้ สังขารขันธ์คือความปรุงแต่งของจิตไปทางดี ชั่ว บุญ บาป วิญญาณขันธ์คือความรับรู้ตามทวารทั้ง ๖ คือ รับรู้ทางตา รับรู้ทางหู รับรู้ทางจมูก รับรู้ทางลิ้น รับรู้ทางกาย รับรู้ทางใจ ที่ว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ก็เพราะว่ามีลักษณะประจำ ๓ คือ

๑. ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทนถาวร

๒. เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ไม่รอด เพราะถูกบีบคั้นบีบเค้น ด้วยเภทภัยต่างๆ นาๆ ไม่มีที่หลบเร้นจากเภทภัยทั้งหลายมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น

๓. เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะว่าฝืนความปรารถนาว่าไม่ฟังสั่งการไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ถึงเวลามันจะเกิดก็เกิด ถึงเวลามันจะแก่ก็แก่ ถึงเวลามันจะเจ็บก็เจ็บ ถึงเวลามันจะตายก็ตาย ไม่มีใครห้ามปรามได้

สมุทัย คือสาเหตุให้เกิดทุกข์ นั่นคือตัณหา ๓ ประการ

๑.กามตัณหา คือความต้องการทะยานอยากในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล

๒. ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็นอยากให้ภาวะที่ชอบใจได้ประสบนั้นคงทนถาวร ไม่จากไปไหน

๓. วิภวตัณหา คือความอยากไม่มีไม่เป็น อยากให้ภาวะที่ไม่เป็นที่ชอบใจนั้นไม่มาหา หรือเมื่อมาก็ให้จากไปโดยเร็ว จำง่ายๆ ว่า กามตัณหาแปลว่าอยากให้มา ภวตัณหาแปลว่าอยากให้อยู่ วิภวตัณหาแปลว่าอยากให้ไป

นิโรธ คือความดับทุกข์ การดับทุกข์จะต้องดับที่เหตุ จะไปดับที่อื่นไม่ได้เพราะจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน นั่นคือการดับที่ตัณหา

มรรค คือวิธีการปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับความทุกข์ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นตามหลักของอริยสัจทั้ง ๔ ไม่เห็นผิดแผกแตกต่างไปจากหลักอริยสัจทั้ง ๔

๒. สัมมาสังกัปโปความดำริชอบ คือดำริในการออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท ดำริในการไม่เบียดเบียน

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียดให้คนแตกความสามัคคีกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อหาสาระไม่ได้

๔. สัมมากัมมันโต การงานชอบ คือการงานที่ไม่ฆ่าสัตว์ การงานที่ไม่ลักทรัพย์ การงานที่ไม่ประพฤติผิดในกาม

๕. สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ คือการละการเลี้ยงชีวิตที่ผิด เช่นการหลอกลวงไม่ซื่อสัตย์คิดคดด้วยประการต่างๆ สำเร็จการเลี้ยงชีวิตด้วยวิธีการชอบธรรมคือไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต

๖. สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ คือ เพียรละบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้ดับไป เพียรยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไป

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมอยู่เนืองๆ

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือการหมั่นในการเจริญสมาธิจนจิตเข้าถึงฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ และ ฌาน ๔ มรรคทั้ง ๘ องค์นี้ ย่อลงมาก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

ดังได้บรรยายขยายความมาก็เพื่อจะให้ท่านสาธุชนรื่นเริงในธรรมกถาดังหัวข้อที่ว่าการเห็นอริยสัจเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๓๔ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน (นิพพานะสัจฉิกิริยา)

บุคคลใดมากระทำซึ่งพระนิพพานความดับทุกข์ให้รู้แจ้งเห็นประจักษ์ขึ้นในสันดาน จัดเป็นมงคลความเจริญอันวิเศษ เพราะว่าจะดับได้เสียซึ่งกองทุกข์ พระนิพพานนั้นท่านจัดว่าเลิศประเสริฐกว่าความสุขทั้งปวง เป็นความสุขวิเศษใหญ่หลวง ยิ่งกว่าความสุขในมนุษย์ ในสวรรค์ ในพรหมโลก เป็นที่ระงับโศกแก่หมู่สัตว์ทั้งหลาย เป็นที่สิ้นไปแห่งไตรวัฏทั้ง ๓ คือ

๑. กิเลสวัฏ แปลว่าการวนคือกิเลส

๒. กรรมวัฏ แปลว่าการวนคือกรรม

๓. วิบากวัฏ แปลว่าการวนคือวิบาก

อธิบายว่าการวนทั้ง ๓ นี้ย่อมมีในจิตของสัตว์โลกทั้งหลาย คือเมื่อมีกิเลสย่อมเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบาก คือผลของกรรมหลังจากนั้นก็เกิด กิเลส กรรม วิบาก วนกันไปอย่างนี้ ไม่สิ้นสุดยุติ ตราบจนได้บรรลุนิพพานนั่นแลจึงจะยุติ นิพพานนั้นท่านกล่าวว่าเป็นอสังขตธรรม แปลว่า ธรรมอันไม่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ถูกปรุงแต่งจากรูปธรรม นามธรรม ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยบุญและบาป เพราะว่านิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้แล้ว และพ้นไปจากปัจจัยทั้ง ๑๒ ประการ ในปฏิจจสมุปบาท ตั้งแต่อวิชชา ไปจนถึงชาติ ชรา มรณะ

นิพพานนั้นท่านกล่าวว่า มีอรรถ ๕ ประการคือ

๑. ไม่มีความเกิด

๒. ไม่มีความแก่

๓. ไม่มีความเจ็บ

๔. ไม่มีความตาย

๕. ไม่มีทุกข์ทั้งหลายคอยเสียดแทง

นิพพานนั้นย่อมดับเสียซึ่งสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการคือ

๑. สักกายทิฏฐิ คือทิฏฐิความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา

๒. วิจิกิจฉา คือความสงสัยในพระรัตนตรัย

๓. สีลัพพตปรามาส คือการไม่รักษาศีลพรตเพื่อพ้นทุกข์ แต่รักษาเพื่อสาเหตุอื่น เช่น เพื่อลาภ เพื่ออวดคน เป็นต้น หรือก็ไม่ยอมรักษาเลย

๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ ทั้ง ๕ คือ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล

๕. ปฏิฆะ ความขุ่นเคืองคับข้องในใจ

๖. รูปราคะ ความยินดีพอใจในรูปธรรมทั้งหลาย

๗. อรูปราคะ ความยินดีพอใจในนามธรรมทั้งหลาย

๘. มานะ ความถือตัวถือตน ว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญในใจ

๑๐. อวิชชา ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ประการ

การจะเข้าถึงนิพพานนั้นไปทางไหน ท่านว่าไปทางวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ประการ คือ

๑. อุทยัพพยญาณ คือญาณตามไปเห็นความเกิดและความดับของสังขารรูปธรรมนามธรรม

๒. ภังคญาณ คือญาณที่เพ่งดูเฉพาะความดับเพื่อจะได้เห็นความดับเด่นขึ้นมา พิจารณาให้เห็นว่า นามรูปที่เกิดขึ้นมาในอดีตก็ย่อมดับไปในอดีต นามรูปที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันก็ย่อมดับไปในปัจจุบัน นามรูปที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตก็ย่อมจะดับไปในอนาคตนั่นเอง

๓. ภยตูปัฏฐานญาณ คือปัญญาญาณพิจารณาเห็นนามรูปที่เกิดแก่เจ็บตาย เป็นภัยที่น่ากลัวนักหนา เหมือนคนใจขลาดไม่กล้าเผชิญกับเสือ เหมือนนักโทษที่ถูกนายเพชฌฆาตเงื้อดาบอยู่รอจะฟัน เธอย่อมเห็นภพทั้งปวงเป็นภัยใหญ่เหมือนหลุมถ่านเพลิงที่โชติช่วงไปด้วยเปลวไฟ ถ้าใครตกไปก็จะต้องตายอย่างทรมาน เห็นการเวียนว่ายตายเกิดว่าเป็นภัยใหญ่ดังนายสำเภาที่แล่นเรือไปถูกคลื่นใหญ่เรือแตกพากันเวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรไม่เห็นฝั่งต้องตกเป็นเหยื่อของปลาทั้งหลาย

๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ คือญาณปัญญาพิจารณาเห็นโทษในรูปนามกายใจว่า มีโรคโรคาพยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ให้เสวยทุกขเวทนามีประการต่างๆ และจะต้องมีความตายทอดทิ้งร่างกายไว้เหนือพื้นพสุธา ปัญญาพิจารณาเห็นโทษนามรูปเหมือนไฟไหม้เรือนเผาให้ร้อนรน แตกทำลายฉิบหายไปสิ้น อนึ่งนามรูปนี้ตามอาทิตตปริยายสูตรท่านกล่าวว่า ถูกเผาด้วยไฟ ๑๑ กอง คือ ๑.ราคะ ๒.โทสะ ๓.โมหะ ๔.ความเกิด ๕.ความแก่ ๖.ความตาย ๗.ความโศกเศร้า ๘.ความพิรี้พิไรรำพัน ๙.ความทุกข์กาย ๑๐.ความทุกข์ใจ ๑๑.ความคับแค้นใจ เมื่อปัญญาญาณพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของรูปนามกายใจอยู่เนืองๆ ก็จะเห็นโทษความน่ากลัวของสังขาร สังขารทั้งปวงจึงปรากฏราวกับว่าเป็นหัวฝี เป็นโรค เป็นลูกศร เป็นตัวทุกข์ร้อน เป็นตัวเจ็บป่วย เป็นกองทุกข์โทษอันใหญ่ไร้คุณที่น่าพอใจ ปราศจากวิสัยที่น่ายินดี ประดุจดังว่าเป็น ป่ามีสัตว์ร้าย ถ้ำมีเสือ สระน้ำมีจระเข้ เป็นดังข้าศึกเงื้อดาบ โภชนะมีพิษ ทางมีโจร เรือนไฟไหม้ เป็นประดุจสนามรบที่ปรากฏแก่คนกลัวตาย เธอเห็นแต่ทุกข์แต่โทษไร้คุณที่น่าพอใจ ปราศจากวิสัยที่น่ายินดีอยู่โดยรอบ ฉะนี้แล

๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ คือญาณปัญญาที่พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่ายในสังขาร มีความเบื่อหน่าย เอือมระอา ไม่ยินดีอย่างยิ่งในสังขารทั้งหลายอันแตกดับอยู่ทั่วไปในภพทั้งปวง เปรียบประดุจพญาหงส์ย่อมไม่ยินดีในบ่อน้ำครำข้างบ้านคนจัณฑาล เปรียบประดุจพญาราชสีห์ที่ถูกจับมาขังกรงก็เบื่อหน่ายไม่ยินดี พญาช้างฉัททันต์ย่อมไม่ยินดีมาอยู่ท่ามกลางเมือง เมื่อปัญญาญาณพิจารณาเห็นทุกข์โทษของสังขาร ย่อมจะไม่ยินดี มีแต่ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั่นแล

๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ คือญาณปัญญาพิจารณาเพื่อใคร่จะพ้นจากสังขารไปเสีย ก็เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายอยู่ ระอาอยู่ ไม่ยินดีอย่างยิ่งอยู่ด้วยนิพพิทาญาณที่กล่าวผ่านมานั้น จิตของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมไม่ติดไม่ข้อง ไม่ผูกพันอยู่ในสังขารทั้งหลาย อันแตกทำลายอยู่โดยทั่วไป ในภพทั้งหลาย จิตย่อมเกิดความคิดใคร่จะเปลื้องใคร่จะออกไปจากสังขารทั้งปวง เปรียบเหมือนปลาอยู่ในข่าย กบอยู่ในปากงู ไก่ป่าถูกขังไว้ในกรง เนื้อติดบ่วง งูอยู่ในมือหมองู ช้างตกหล่ม นาคอยู่ในปากครุฑ อย่างนี้เป็นต้น ย่อมจะเป็นผู้ใคร่จะปลดไป ใคร่จะออกไปจากที่ๆ ติดอยู่นั้นฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมก็ใคร่จะพ้นออกจากสังขารไปฉะนั้น

๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ คือญาณปัญญาพิจารณาหาหนทางทบทวนที่จะออกจากสังขาร โดยการยกจิตขึ้นพิจารณา ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสังขารให้มากขึ้นมากขึ้น เพื่อจะแสวงหาอุบายในการออกจากสังขาร มีการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง โดยไม่เป็นสิ่งมีอยู่ตลอดไป โดยเป็นสิ่งมีชั่วคราว โดยเป็นสิ่งถูกกำหนดลงไว้ด้วยความเกิดและความเสื่อม โดยเป็นสิ่งต้องพังทลาย โดยเป็นสิ่งมีชั่วขณะ โดยเป็นสิ่งไหวไปมา โดยเป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย โดยเป็นสิ่งไม่คงทน โดยเป็นสิ่งมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา โดยเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร โดยเป็นสิ่งต้องเสื่อม โดยเป็นสิ่งถูกปรุงแต่งขึ้นมา โดยเป็นสิ่งมีความตายเป็นธรรมดา และเธอย่อมเห็นสังขารได้ว่ามันเป็นทุกข์ โดยเหตุทั้งหลายเช่นว่า โดยถูกบีบคั้นอยู่เนืองนิตย์ โดยเป็นสิ่งทนยากคือทนอยู่ไม่ได้ โดยเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ โดยเป็นโรค โดยเป็นแผลฝี โดยเป็นลูกศรปักอก โดยเป็นของชั่วร้าย โดยเป็นอาพาธ โดยเป็นจัญไร โดยเป็นอุบาทว์ โดยเป็นภัย โดยเป็นอุปสรรค โดยไม่มีที่ต้านทาน โดยไม่มีที่กำบัง โดยไม่มีที่พึ่ง โดยเป็นโทษ โดยเป็นมูลของความลำบาก โดยเป็นผู้ฆ่า โดยเป็นสิ่งเป็นไปกับอาสวะ โดยเป็นเหยื่อมาร โดยเป็นสิ่งมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้า พิรี้พิไรรำพัน คับแค้นใจเป็นธรรมดา โดยเป็นสิ่งมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา และเธอย่อมเห็นได้ว่าสังขารเป็นของไม่งามอันเป็นลักษณะบริวารของความทุกข์ โดยเหตุทั้งหลาย เช่นว่า โดยเป็นสิ่งไม่งาม โดยเป็นสิ่งมีกลิ่นเหม็น โดยเป็นสิ่งน่ารังเกียจ โดยเป็นสิ่งปฏิกูล โดยเป็นสิ่งมิใช่กำจัดความปฏิกูลได้ด้วยการตบแต่งประดับ โดยเป็นสิ่งน่าเกลียด โดยเป็นสิ่งน่าขยะแขยง และเธอย่อมเห็นได้ว่าสังขารเป็นอนัตตา โดยเหตุทั้งหลายเช่นว่า โดยเป็นฝ่ายอื่นไม่เป็นฝ่ายเรา โดยเป็นของว่าง โดยเป็นของเปล่า โดยเป็นของสูญ โดยเป็นของไม่มีใครเป็นเจ้าของ โดยเป็นของไม่มีใครเป็นใหญ่ โดยเป็นของไม่อยู่ในอำนาจใคร ผู้ปฏิบัติธรรมยกขึ้นพิจารณา โดยอเนกปริยายอย่างนี้ก็เพื่อจะยังอุบายวิธีแห่งการปลดเปลื้องความยึดมั่นอุปาทานให้สำเร็จนั่นเอง

๘. สังขารุเปกขาญาณ คือญาณปัญญาพิจารณานามรูปเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำจิตให้เป็นอุเบกขา วางเฉยเป็นกลางไม่รักไม่ชัง เห็นสังขารสักว่าเป็นสภาวธรรมเกิดดับไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นแต่รูปนามอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ของตน เป็นของศูนย์เปล่าๆ ไม่มีแก่นสาร เมื่อได้ปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขาร จิตก็เป็นอุเบกขาญาณอยู่กลางๆ ไม่รักไม่ชัง เหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีภรรยาเป็นที่รัก มีความถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงกันมาช้านาน ครั้นภรรยามีจิตคิดเป็นพาล ทำนอกใจสามี ไปยินดีคบชายอื่นมาเป็นชู้ ฝ่ายบุรุษผู้เป็นสามีรู้ก็เสียใจสิ้นความรักใคร่เสน่หา บุรุษนั้นก็หย่าภรรยาให้ขาดจากกัน ตั้งแต่วันนั้นมาจิตของบุรุษนั้นก็เป็นอุเบกขาไม่รักไม่ชัง ถึงจะเห็นหญิงนั้นไปนั่งนอนกับชายใด บุรุษนั้นก็ไม่โกรธหรือดีใจเสียใจ เพราะคิดว่าไม่ใช่ภรรยาของเรา ฉะนี้

๙. สัจจานุโลมิกญาณ คือการพิจารณาในญาณทั้ง ๘ ประการข้างต้น ถอยไปถอยมาเพื่อรอเวลาที่อินทรีย์แก่กล้าควรแก่การรู้อริยสัจ และบรรลุมรรคผลนิพพาน ตราบใดที่ยังไม่แจ้งในนิพพานก็ให้ญาณปัญญาพิจารณาสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปตามญาณทั้ง ๘ ข้างต้นย้อนไปย้อนมาจนกว่าจะเห็นแจ้งนิพพาน

นิพพานนั้นท่านแยกเป็น ๒ คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ได้แก่จิตของพระอรหันต์ ที่ตัดกิเลส ได้เด็ดขาดแล้ว แต่ยังทรงชีวิตมีขันธ์ ๕ มีร่างกายที่จะต้องเลี้ยงดู กินข้าว อาบน้ำ อุจจาระ ปัสสาวะให้มันอยู่ แต่ท่านหมดอุปาทาน ความยึดมั่นในมันแล้ว ที่ทำก็ทำตามหน้าที่ที่จะต้องทรงขันธ์ของท่าน

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ก็เมื่อพระอรหันต์ท่านสิ้นชีพ เป็นอันหมดภาระที่จะต้องบริหารร่างกาย ส่วนจิตของท่านก็บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ อีกต่อไป เป็นการหมดภาระโดยสิ้นเชิง

ต่อไปจะแนะนำการเจริญอุปสมานุสสติ อุปสมานุสสติเป็นกรรมฐานกองหนึ่งที่ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านผู้ประสงค์จะเจริญอุปสมานุสสติพึงระลึกถึงคุณของพระนิพพานเป็นอาทิ เช่นว่า พระนิพพานนี้ย่อมย่ำยีความเมาต่างๆ เช่นความเมาว่าตัวเองยังไม่แก่ เมาว่าตัวเองยังไม่เจ็บ เมาว่าตัวเองยังไม่ตาย พระนิพพานย่อมตัดเสียซึ่งตัณหาความอยากอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ได้ ย่อมไถ่ถอนจิตขึ้นจากความอาลัยพัวพันรักใคร่อยู่ในกามคุณทั้ง ๕ เสียด้วย สามารถตัดเสียซึ่งวงจรของกิเลสกรรมวิบากที่ไม่จบสิ้น เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายหมุนเวียนว่ายเกิดตาย อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ นิพพานย่อมเป็นธรรมที่สิ้นความอยากความกลัวความสะดุ้ง ปราศจากกิเลสเครื่องย้อมใจ เป็นที่ดับแห่งราคะ โทสะ โมหะ โดยไม่เหลือเศษ พระนิพพานย่อมสิ้นเพลิงกิเลสและกองทุกข์ เป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะว่าพ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าพิรี้พิไรรำพันคับแค้นใจ พระนิพพานย่อมปราศจากทุกข์ทั้งสิ้นทั้งปวงอย่างแท้จริง

เมื่อระลึกถึงคุณของพระนิพพานโดยแยบคายโดยประการต่างๆ ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้แล้ว ให้จิตรวมลงมานึกถึงคุณอันประเสริฐทั้งหลายของพระนิพพานรวมลงมาในคำว่า "นิพพาน สุขัง" แล้วบริกรรมภาวนาคำว่า "นิพพาน สุขัง" แล้วๆ เล่าๆ ร้อยหนพันหนหมื่นหน จิตของเธอก็จะเป็นจิตที่ ราคะ โทสะ โมหะไม่กลุ้มรุม จิตของเธอย่อมจะดำเนินตรงแน่วแน่ ต่อความสงบระงับกิเลสอันเป็นทางแห่งนิพพาน ย่อมได้ความไพบูลย์แห่งศรัทธา ความไพบูลย์แห่งสติ ความไพบูลย์แห่งปัญญา บุคคลผู้เจริญอุปสมานุสสตินี้ย่อมหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นผู้มีความสงบร่มเย็นแห่งกายใจ ถึงพร้อมด้วยความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป น่าเคารพเลื่อมใส มีอัธยาศัยอันละเอียดประณีตเป็นที่เคารพยกย่องแห่งบุคคลผู้เป็นสาธุชนทั้งหลาย การเจริญอุปสมานุสสติย่อมทำให้เธอบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างง่ายดาย ตราบใดที่เธอยังไม่บรรลุนิพพานเธอย่อมเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสุคติภพทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล บันฑิตผู้มีปัญญาเห็นแจ้งพึงเป็นผู้ไม่ประมาท มาระลึกถึงคุณแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมที่สงบระงับของพระอริยสาวกทั้งหลาย อันมีอานิสงส์มาก อานิสงส์เป็นเอนก อานิสงส์อันไพศาล ด้วยประการฉะนี้แล

ดังที่ข้าพเจ้าได้บรรยายขยายความมาก็เพื่อจะยังความรื่นเริงบันเทิงในธรรมแก่ท่านสาธุชน และเพื่อจะแสดงธรรมกถาโดยพิสดาร ชี้แจงแจกแจงในกถามุขที่ว่า การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม (ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ)

บุคคลใดมีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ประการ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ โลกธรรม ๘ ประการนั้นได้แก่ ๑.มีลาภ ๒.เสื่อมลาภ ๓.มียศ ๔.เสื่อมยศ ๕.สรรเสริญ ๖.นินทา ๗.สุข ๘.ทุกข์ นั่นก็คือว่าชีวิตของคนทั้งหลายทั้งปวงที่มีชีวิตอยู่ในสังคมโลก ย่อมจะต้องได้ประสบกับเรื่องราวที่ดีบ้างไม่ดีบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ว่าเจอด้านดีหรือด้านชั่วให้ทำจิตเป็นกลาง เมื่อเวลาชีวิตประสบกับเรื่องดีก็จงเตือนตนให้จงหนักมิให้เหลิง เพราะว่าสิ่งนั้นเราอาจสูญเสียไปเมื่อใดก็ได้ ครั้นเมื่อชีวิตประสบกับเรื่องไม่ดีก็จงอย่าท้อแท้ท้อถอย ให้อาศัยเป็นโอกาสดีที่จะได้ฝึกฝนความอดทนอดกลั้น ฝึกฝนความแข็งแกร่งแข็งแรง อุปมาประดุจเวลาพายเรือตามน้ำนั้นได้ทางแต่ไม่ได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อ แต่เวลาพายเรือทวนน้ำนั้นไม่ได้ทางแต่ได้กล้ามเนื้อ คนเราขอให้ได้กล้ามเนื้อก่อนเถิดทางจะมาเองแหละในภายหลัง นั่นคือ คนเราจงฝึกฝนตัวเองให้มีความซื่อสัตย์ อดทน ขยันหมั่นเพียร มีปัญญา รู้จักกตัญญูรู้คุณคน รู้จักประมาณตน ถ้าหากมีคุณธรรมเหล่านี้แล้วชีวิตจะไม่ตกอับแน่นอน และก็ช่วงเวลาที่เจอทุกข์เจอสิ่งไม่ดีเข้ามาสู่ชีวิตนั่นแหละ เป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่จะฝึกฝนคุณธรรมเหล่านี้ให้บังเกิดขึ้นในใจตน เปรียบเหมือนกับการพายเรือ โอกาสที่จะฝึกกล้ามเนื้อที่ดีที่สุดก็คือเวลาพายเรือทวนน้ำ แม้ว่าเวลาพายเราจะไม่ได้ระยะทาง แต่เราได้ฝึกฝนตัวเองขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นคนเราจงอย่าท้อแท้ท้อถอยเวลาประสบทุกข์ และจงอย่าหลงระเริงเวลาได้ดีมีสุข จงเจียมตัวเจียมใจอยู่ตลอดเวลา ว่าสิ่งดีๆที่เข้ามาหาเรานั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันจะลาจรจากเราไปเมื่อใดก็ไม่รู้ ถ้าเราปล่อยใจให้เพลิดเพลินหลงระเริงในมัน ท้ายที่สุดจะต้องประสบกับความทุกข์ตรมระทมใจเหมือนตกจากที่สูง หรือเหมือนกับเพลินในการพายเรือตามน้ำจนเรือห่างไปไกลบ้าน จะพายย้อนกลับก็พายไม่ไหว คนเราจะเสียคนก็ตอนมีลาภ มียศ มีคนสรรเสริญ และมีสุขนั่นแหละ ฉะนั้นเวลาชีวิตประสบเจอเรื่องดีต้องระวังใจข่มใจให้มาก อย่าเพลิดเพลินหลงระเริงลืมตัวลืมตน เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนให้ทำตัวเป็นกลางเวลาเจอโลกธรรม ไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ซึ่งถ้าใครประพฤติตามพระองค์สอนก็จะประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต สมดังคำที่ว่าบุคคลใดมีจิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ประการ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐดังนี้

มงคลที่ ๓๖ จิตไม่เศร้าโศก (อะโสกัง)

บุคคลมีใจไม่เศร้าโศกโศกาอาลัยร้องไห้ปริเทวนาการ ด้วยความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่ชอบใจ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ อันความเศร้าโศกนั้นเกิดมาแต่ความรัก ด้วยพระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาว่า ความเศร้าโศกโศกาเกิดมาแต่ความรัก ถ้าความรักไม่มีแล้วความเศร้าก็ไม่มีด้วย ความรักนี้เป็นปัจจัยให้เกิดความโศก เพราะวิโยคพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้ใดมีความพลัดพรากจากญาติและมิตรสหาย และสัตว์เลี้ยง อีกทั้งสมบัติพัสถาน คือเงินทองข้าวของ ลาภยศบ้านเรือนเรือกสวนไร่นา ย่อมจะบังเกิดความเศร้าโศกอันเกิดมาแต่ความรัก ด้วยเหตุที่ไม่รู้เท่าทันสังขาร จึงมีความรักสังขารที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บังเกิดมีมาแล้วก็แปรปรวนไป ไม่ตั้งมั่นอยู่ทนไปได้ดังใจปรารถนา นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงพิจารณาให้รู้เท่าทันสังขาร จึงจะไม่เศร้าโศกโศกาปริเทวนาการเมื่อยามต้องพลัดพรากจากของรัก เพราะรู้แจ้งว่าขึ้นชื่อว่าสังขารนั้นทั้งปวง เกิดเพื่อดับ พบเพื่อจาก มีเพื่อหมด เป็นกฎธรรมชาติตายตัว ผู้ใดปล่อยจิตใจให้โมหะความหลงเข้าครอบงำหลงรักหวงห่วงอาลัยจะต้องเศร้าโศกร้องไห้ไม่สิ้นสุดยุติ ฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงเห็นการพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวงเป็นธรรมดาของโลก แล้วพึงละจากความโศกโศกาอาวรณ์ให้ขาดสิ้น ก็จะบังเกิดเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่น ท่านจึงกล่าวว่าจิตไม่เศร้าโศกย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี (วิระชัง)

จิตของผู้ใดปราศจากธุลีย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ คำว่าธุลีก็คือ สิ่งเศร้าหมองของจิต ราคะความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล ท่านจัดว่าเป็นธุลีของจิต โทสะความโกรธคิดประทุษร้าย อาฆาตพยาบาท ท่านจัดว่าเป็นธุลีของจิต โมหะความหลงไม่รู้ความเป็นไปตามจริงของสังขาร ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์หาตัวหาตนมิได้ ท่านจัดว่าเป็นธุลีของจิต รวมความว่า ราคะ โทสะ โมหะ ท่านจัดว่าเป็นธุลีของจิตเพราะเหตุว่าทำจิตให้เศร้าหมอง นั่นคือสัตว์เหล่าใดที่จิตใจหมกมุ่นมัวเมาอยู่ด้วยราคะอันกล้า โทสะอันกล้า โมหะอันกล้า ย่อมประสบความทุกข์ใจใหญ่หลวงในปัจจุบันชาตินี้ ครั้นตายจากชาตินี้ ราคะ โทสะ โมหะย่อมนำไปเสวยทุกข์อย่างแรงกล้าในอบายภูมิทั้ง ๔ มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ครั้นพ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ นี้แล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมนำไปเวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ มิรู้จักการสิ้นสุดแห่งทุกข์ เมื่อบุคคลผู้มีปัญญามาเห็นโทษของกิเลสทั้ง ๓ กองเหล่านี้แล้ว จึงหมั่นขวนขวายการเจริญกุศล บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ วิปัสสนา เพื่อสร้างบารมีให้แก่กล้า จนกระทั่งสามารถบรรเทาเบาบางกิเลสทั้ง ๓ กองนี้ และสามารถตัดได้เด็ดขาดในที่สุด ก็จะพ้นจากกิเลสมลทินธุลีเครื่องเศร้าหมองของจิต บรรลุธรรมนำจิตวิญญาณให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร เข้าสู่พระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าจิตปราศจากธุลีเป็นมงคลอันประเสริฐดังนี้

มงคลที่ ๓๘ จิตเกษม (เขมัง)

จิตของผู้ใดบริสุทธิ์ผ่องใสห่างไกลจากอกุศลความชั่วมาสิงสู่ในใจ นั่นเรียกว่าจิตเกษม ย่อมเป็นมงคลอันประเสริฐ อันความชั่วและอกุศลทั้งหลายย่อมเป็นของเศร้าหมองแห่งจิต เมื่อสามารถขจัดความเศร้าหมองออกไปจากจิตย่อมกระจ่างสว่างไสวผ่องแผ้วด้วยกุศลทั้งหลายเข้ามาแทนที่ความชั่ว ฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลายจงอย่าประมาท จงขวนขวายสั่งสมอบรมบารมีแต่ละเล็กละน้อยเสียแต่บัดนี้ นานไปบารมีจะแก่กล้ากว้างใหญ่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้บำเพ็ญ บารมีนั้นแปลว่า ทำให้เต็มไม่บกพร่อง มี ๑๐ ข้อ คือ

๑. ทาน แปลว่าการให้ ท่านสาธุชนจงมีจิตใจจดจ่อคิดจะให้ทานอยู่เป็นนิจ หวังจะสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เป็นปกติ คิดไว้เสมอด้วยความภาคภูมิใจว่า ถ้าการให้เพื่อการสงเคราะห์มีแก่เราเมื่อใด เมื่อนั้นความสุขใจอย่างยิ่งจะมีแก่เราอย่างหาที่เปรียบมิได้ ในขณะใดที่มีคนต้องการความสงเคราะห์ แต่เรางดเว้นการให้เสีย เราจะละอายแก่ใจอย่างยิ่งที่ต้องพ่ายแพ้ความตระหนี่ และความตระหนี่นี้จะไม่ให้ประโยชน์อะไรแก่เราเลย นอกจากว่าจะทำให้เราไม่พ้นจากนรกเท่านั้น ฉะนั้นหน้าที่การให้เพื่อกำจัดความตระหนี่จะต้องถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของเรา ขาดมิได้ เราจะให้ทานอยู่เสมอ จะพร้อมในการให้ทานตลอดเวลา ถ้าหากเราขาดจากการให้ทาน ก็ชื่อว่าเราหาความเจริญมิได้เสียแล้ว ฉะนั้นเราจะตั้งใจว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงพระนิพพาน เราจะผูกพันกับการให้ทานไปตลอด อนึ่งตุ่มใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ ที่ถูกบุคคลจับมาเทคว่ำทำให้ปากตุ่มคว่ำลงบนพื้น ก้นตุ่มปรากฏอยู่เบื้องบน น้ำในตุ่มย่อมไหลลงอย่างไม่มียั้งฉันใด จิต เจตนาคิดบริจาคทานของเราก็จะเป็นเช่นดังตุ่มน้ำนั้น

๒. ศีล แปลว่าปกติ เราจะพยายามขวนขวายรักษาศีลให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ทำให้ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย จะไม่ล่วงละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้ผู้อื่นทำ และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล เราจะสมาทานยินดีในการรักษาศีลไปตลอดชีวิต ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด อนึ่งตัวจามรีเป็นสัตว์ที่รักขนยิ่งนัก แม้ขณะหนีภัยถ้าหากขนไปติดไปข้องกับกิ่งไม้พุ่มไม้ใด จะไม่ยอมดึงกระชากให้ขนขาดย่อมจะหยุดเพื่อปลดขนให้หลุดจึงจะวิ่งไปต่อ แม้ชีวิตก็มิอาลัยฉันใด จิตเจตนารักษาศีลของเราก็จะเป็นดังเช่นตัวจามรีรักขนฉันนั้น

๓. เนกขัมมะ แปลว่าการถือบวช การละเว้นกาม การประพฤติขัดเกลา ละเว้นจากการบำรุงบำเรอตนเกินประมาณ ฝึกกินน้อยใช้น้อย กินเท่าที่จะทรงชีวิตไปได้ ใช้เพียงเพื่อจะสืบต่อขันธ์ไปได้ ตัดใจออกจากการเพลิดเพลินหลงใหลยินดีในกามารมณ์ทั้ง ๕ ประการ คือ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่มนวล ละเว้นการบำเรอตนอย่างชีวิตคนคู่ ตลอดจนถึงสละออกมาประพฤติพรหมจรรย์ทรงเพศแห่งนักบวชชั่วคราวตามวาระโอกาสบ้าง หรือสมาทานการทรงเพศนักบวชไปจนตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับระดับความศรัทธากำลังใจและความสามารถที่จะทำได้ อนึ่งบุคคลผู้ถูกลงโทษจองจำอยู่ในเรือนจำย่อมปรารถนาแต่จะออกไปให้พ้นจากที่คุมขังตลอดเวลาฉันใด จิตเจตนาคิดจะออกบำเพ็ญเนกขัมมะของเราก็จะเป็นเช่นดังบุรุษผู้ถูกจองจำนั้น

๔. ปัญญา แปลว่าความรู้ที่เกิดจากการไต่ถามรับฟัง หรือพินิจพิจารณาให้เห็นความจริงของสังขารอันเป็นทุกข์เป็นโทษ มีการเกิด แก่ เจ็บไข้ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ให้เห็นความเป็นจริงของสังขาร ไม่ให้ความหลงผิดมาปกปิดความจริงไม่ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของสังขารไปได้ และเมื่อมีโอกาสพบนักปราชญ์ ผู้มีปรีชาญาณรอบรู้ในเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แตกฉานในพระพุทธศาสนาเราก็จะเข้าไปแสดงความนับถือต่อท่านและน้อมรับโอวาทที่ท่านสอนสั่งมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนด้วยความเคารพนบนอบ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเพศศักดิ์ตระกูล ฐานะสูงต่ำเช่นไร เราก็นอบน้อมรับโอวาทจากท่านด้วยความเคารพเสมอกัน ไม่กระด้างกระเดื่อง อนึ่งพระภิกษุผู้สมาทานการบิณฑบาตเป็นวัตร ย่อมจะเที่ยวโคจรบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ไม่เลือกหน้าว่าไพร่ผู้ดียาจกเศรษฐี ผู้ใดออกนำเอาอาหารมาใส่ลงในบาตร ท่านก็จะน้อมกายถ่อมองค์ลงรับก้อนข้าวด้วยความเคารพในบิณฑบาตเสมอกัน ไม่เลือกว่าท่านผู้ให้ทานนั้นเป็นคนจน คนรวย ตระกูลสูง ตระกูลต่ำ ย่อมถ่อมกายลงรับก้อนข้าวไปตามลำดับไม่แบ่งชั้นวรรณะฉันใด จิตเจตนาในการแสวงหาวิชาความรู้ของเราก็จะเข้าไปอ่อนน้อมถ่อมตนรับโอวาทจากนักปราชญ์ทั้งหลายด้วยความเคารพเสมอกัน ดังเช่นพระภิกษุผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น

๕. วิริยะ แปลว่าความเพียร เราจะต้องตั้งความวิริยะอุตสาหะขึ้นมาประคองควบคุมใจมิให้ท้อถอยย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนาม จะพยายามดำเนินเสริมสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งเพื่อประกอบกิจที่ตั้งใจให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ อนึ่งธรรมดาว่าปลวกนั้นแม้จะตัวเล็กขนดินได้ทีละน้อย แต่ก็ขยันขันแข็งก่อสร้างรังทีละเล็กทีละน้อยด้วยความเพียรพยายามไม่ล้มเลิก จนกระทั่งกลายเป็นจอมปลวกที่ใหญ่โตขึ้นมาได้ฉันใด จิตเจตนาในการทำความเพียรไม่ท้อแท้ท้อถอยทอดธุระของเราก็จะเป็นดังเช่นปลวกตัวน้อยนั้น

๖. ขันติ แปลว่าความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ที่มากระทบยั่วยวนให้เกิดความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกลัว และอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบากต่างๆ เช่นความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย วาจาถ้อยคำที่เสียดแทงใจให้เดือดเนื้อร้อนใจ อนึ่งพื้นแผ่นดินย่อมรับของหนักบ้างเบาบ้างไว้อย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อต่อสิ่งต่างๆ อันเป็นภาระน้ำหนักที่มากดทับฉันใด จิตเจตนาในการอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบากของเราก็จะเป็นเช่นนั้น

๗. สัจจะ แปลว่าความจริงใจ ความตั้งใจจริง ปากอย่างไรใจอย่างนั้น พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ไม่หลอกลวงตลบตะแลงตนเองหรือผู้อื่น จริงจังจริงใจไม่คดในข้องอในกระดูก มีหลักเกณฑ์ในชีวิตที่แท้จริง ไม่โกหกใคร อนึ่งอันดาวเหนือนั้นเคยขึ้นประจำอยู่ทิศไหนก็จะประจำอยู่ทิศนั้นนั่นแลไม่โลเล จนนักเดินเรือหรือนักเดินป่าสามารถอาศัยพึ่งพิงเพื่อบอกทิศชี้ทางได้ฉันใด จิตเจตนาในการรักษาสัจจะของเราก็จะเป็นเช่นนั้น

๘. อธิษฐาน แปลว่าความตั้งใจมั่น คือเมื่อตั้งใจในสิ่งถูกต้องดีงามไว้แล้วเพียงใดก็จะไม่ยอมโลเลเปลี่ยนความตั้งใจของตนในสิ่งดีงามนั้นเป็นอันขาด แต่ถ้าหากบังเอิญไปตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้วภายหลังรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งดี ท่านกล่าวว่าสามารถถอนอธิษฐานที่เลวนั้นได้ ไม่เป็นการเสียอธิษฐานบารมี แต่ถ้าหากสิ่งที่เราอธิษฐานนั้นเป็นเรื่องดีเราจะต้องไม่ท้อแท้ท้อถอยให้คลาดเคลื่อนออกไปจากความตั้งใจเดิมเป็นอันขาด อนึ่งภูเขาหินแท่งทึบ แม้จะมีพายุใหญ่ มหาวาตภัยพัดมาแต่ทิศใดก็ตาม ก็ย่อมจะไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวภูเขาหินแท่งทึบนั้นไปได้แม้แต่น้อยฉันใด จิตเจตนาในการรักษาความตั้งใจที่ดีงามของเราก็จะเป็นเช่นนั้น

๙. เมตตา แปลว่าความรักความปรารถนาดีที่ปราศจากความใคร่ด้วยอำนาจกิเลสเป็นความรักด้วยความปรารถนาดี ปรารถนาให้เป็นสุข ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรมจองล้างจองผลาญใคร มีจิตคิดอภัยปราณีหวังสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลายให้มีความสุขตามอัตภาพ อนึ่งตามธรรมดาอุทกวารีที่ใสสะอาดในแม่น้ำสายใหญ่ย่อมแผ่ความร่มเย็นฉ่ำชุ่มชื่นให้แก่สัตว์ทั้งหลายทุกประเภท จะเป็นสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ สัตว์น้ำ สัตว์บก จนกระทั่งมนุษย์คนจนเศรษฐีขี้ข้าราชายาจก อุทกวารีนี้ย่อมให้ความร่มเย็นดับกระหายแก่ผู้ที่มาใช้มาอาบมาดื่มมากินทุกทั่วหน้า ไม่เลือกที่รักผลักที่ชังฉันใด จิตเจตนาของเราในการแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีประมาณไม่มีขอบเขตก็จะเป็นเช่นนั้น

๑๐. อุเบกขา แปลว่าความวางเฉย หมายถึงเฉยต่ออารมณ์อันน่าเร้าใจของทางโลก ไม่ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ มากระตุ้นให้จิตหวั่นไหวไปในทางดีหรือไม่ดี ขณะที่กระทบอาการขึ้นลงของอารมณ์โลกทั้งด้านบวกด้านลบ อนึ่งพื้นปฐพีนี้ ใครจะเอาของเสียเทลงไป เช่นมูตรคูถสิ่งสกปรกทั้งหลาย หรือจะเอาของหอม เช่นดอกไม้ธูปเทียนเทลงไปก็ตาม ปฐพีนี้ก็มิได้แสดงอาการดีใจเสียใจโกรธอาฆาตรักใคร่ต่อผู้ใดเลยฉันใด จิตเจตนาที่จะรักษาความอุเบกขาในใจเราก็จะเป็นเช่นนั้น

ดังได้แสดงมาข้างต้นนั่นคือบารมี ๑๐ ประการอันเป็นสิ่งประเสริฐบุคคลผู้ใดขวนขวายนำไปปฏิบัติก็จะกลายเป็นคนประเสริฐพิเศษไม่ใช่คนทั่วไป จะกลายเป็นผู้มีบารมี บารมีนั้นเราต้องสร้างเองไม่ใช่รอคอยให้ใครมาเสกเป่าให้ เมื่อเราสร้างสมอบรมไป จิตเราก็จะดีงามเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นจิตอันเกษม อันจะนำมาซึ่งมงคลอันประเสริฐด้วยประการฉะนี้

สรุปมงคล ๓๘

อันมงคลทั้ง ๓๘ ประการที่สมเด็จพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาแก่เทพยดาที่ลงมาทูลถาม เป็นเนื้อความข้อปฏิบัติแก่หมู่สัตว์ทั้งมนุษย์และเทพยดา เป็นมรรคาทางสวรรค์และทางพระนิพพาน ซึ่งจะข้ามโอฆะแก่งกันดารให้พ้นทุกข์ ถึงบรมสุขคือไม่เกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ด้วยผลอานิสงส์ที่ได้รับข้อปฏิบัติมงคล ๓๘ ประการให้ตั้งมั่นอยู่ในขันธสันดานของตนเองทุกทิวาราตรี ด้วยเดชผลมงคลนี้ย่อมให้บังเกิดความเจริญสุขสวัสดิ์นิราศภัยทั้งชาตินี้และชาติหน้า เพราะฉะนั้นขอท่านทั้งหลายที่เกิดมาประสบพบพระพุทธศาสนา คือข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการ จงมีอุตสาหะรักษาศีลเจริญภาวนาให้บริบูรณ์ในสันดานของตนเถิด จะได้เป็นบ่อเกิดบุญกุศลสัมปทาในอนาคตกาลเบื้องหน้าสิ้นกาลนานด้วยข้อมงคล ๓๘ ประการ เป็นพุทธภาษิตให้สำเร็จกิจทั้งพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ให้เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ผู้มาปฏิบัติทางกายวาจาจิต ให้ได้ความสุจริตทั้งในโลกนี้โลกหน้าทั่วทั้งมนุษย์และเทพยดามารพรหม เป็นมงคลอันอุดมสูงสุดในพุทธศาสนา พร้อมด้วยศีลสมาธิปัญญา ข้อปฏิบัติทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์บุรุษสตรี ควรจะมีความยินดีรักษาข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการ ให้เป็นนิสัยปัจจัยแก่ทางมนุษย์ทางสวรรค์ทางพระนิพพาน ซึ่งแม้จะยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ก็จะได้เสวยสมบัติในมนุษย์และเทพยดา ประเสริฐกว่าที่จะไปบังเกิดในอบาย ถึงจะเกิดแก่เจ็บตายก็ยังวิเศษ เหตุที่ได้ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา ได้สดับฟังพระธรรมเทศนา และบูชาพระรัตนตรัยให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสและความสังเวช ปรารถนาต่อเนื้อนาเขตบุญกุศล ซึ่งจะยกตนให้พ้นจากอบายทั้ง ๔ ผลอานิสงส์ที่ได้ปฏิบัติข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้เป็นบุญนิธิขุมทองคือกองบุญที่จะอุดหนุนให้ได้ความสุขทั้ง ๓ ประการ คือ

๑. สุขที่จะให้บังเกิดเป็นมนุษย์มีร่างกายบริสุทธิ์และทรัพย์กับบริวาร มีอายุยืนยาวนานตามอายุขัย

๒. ให้ได้สุขในสวรรค์สุราลัยในฉกามาทั้ง ๖ ชั้นฟ้า เทวสถานพร้อมด้วยทิพยวิมานและนางฟ้าเป็นยศบริวารฟ้อนรำบำเรออยู่ให้เป็นสุข

๓. ให้ได้สุขในพระนิพพาน ดับสังขารที่ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดภพทั้ง ๓ ก่อกองรูปนามขันธ์ธาตุอายตนะอินทรีย์ให้เกิดทุกขเวทนาย่ำยีสิ้นกาลนาน เมื่อใดถึงพระนิพพานจึงจะมีความสำราญนิราศภัยไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บไข้ ตาย ทำลายสังขาร ไม่ต้องร้องไห้เศร้าโศกโศกาปริเทวนาการร่ำไรอยู่ในโลก ได้เข้าถึงพระนิพพานเมื่อใดก็จะเป็นที่สิ้นทุกข์โศกโรคโรคา มีแต่บรมสุขหาความทุกข์ไม่มี ข้ามจตุโอฆโลกโลกีย์ความเวียนว่าย พระนิพพานเป็นอัจจันตนิโรธดับหมดสิ้นไป ไม่มีเชื้อจะเหลืออยู่โดยบัญญัติจึงมีพุทธฎีกาว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งอย่างเลิศ ไม่มีบ่อเกิดแห่งกองทุกข์เป็นบรมสุขนิราศภัยในสงสาร

เราท่านทั้งหลายอยากจะพ้นทุกข์พบสุขไปในนิพพานต้องปฏิบัติในมงคล ๓๘ ประการ ให้บริบูรณ์ในสันดาน จะได้เจริญรุ่งเรืองด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาน ธนสารสมบัติ ทุกทิวาราตรีกาล จนกว่าจะถึงพระนิพพานเป็นปริโยสานเบื้องหน้านั้นเทอญ

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ เรียบเรียงมาจาก

คัมภีร์มงคลทีปนี พระสิริมังคลาจารย์แห่งลานนาไทย รจนาขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ.๒๐๖๗ สำนวนแปลของพระครูศิริปัญญามุนี (อ่อน) จัดพิมพ์โดย วัดเกตุมดีศรีวราราม ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ โทร.02-222-3798, คัมภีร์วิสุทธิมรรค รจนาโดยพระพุทธโฆสะ อรรถกถาจารย์ชาวอินเดีย เมื่อพ.ศ.๙๕๖ แปลโดย นาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต จัดพิมพ์โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย บางลำภู กทม., หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดย พระมหาวีระ ถาวโร (ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน) วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พระนครศรีอยุธยา, พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม, หนังสือสมถกัมมัฏฐาน หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เรียบเรียงโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จัดพิมพ์โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย