สมเด็จพระพิมพาดับขันธนิพพาน

 

สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช ได้ทรงเสาวนาการว่า พระนางพิมพาภิกษุณีจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน ก็เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังมาเฝ้าคอยอยู่ที่บริเวณพระมหาวิหารเป็นเวลานาน ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระนางออกมาจากที่เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุณีสงฆ์บริวาร จึงทรงกรากเข้าไปถวายนมัสการแล้วอาราธนาว่า

"ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า! ปราสาทยอดของโยมนี้สร้างไว้ที่ริมพระเชตวันมหาวิหาร อันมีชื่อว่ากูฏาคาร ที่นั่นเป็นสถานที่สบายนัก ขออาราธนาสมเด็จพระแม่เจ้าจงไปเข้าสู่นิพพาน ณ ที่นั่นเถิด"

"ดูกรมหาบพิตรพระองค์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ! กูฏาคารนั้น มิใช่สถานที่อันควรแก่การที่ภิกษุณีสงฆ์จักเข้าสู่พระปรินิพพาน ด้วยว่ากูฏาคารนั้นเป็นพุทธสถานที่สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เคยประทับไม่ควรแก่อาตมภาพซึ่งเป็นสตรี ขอถวายพระพร" สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีทูลตอบพระบรมกษัตริย์ปเสนทิโกศลมหาราชว่าดังนี้

ลำดับนั้น บรรดามหาเศรษฐีและคฤหบดีทั้งหลาย ซึ่งมีความเคารพเลื่อมใสในพระนาง ทั้งล้วนเป็นอุปัฏฐากใหญ่ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางสุปวาสามหาอุบาสิกา แม้ว่าแพทย์หลวง หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งมีศรัทธาปรารถนาจักให้สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าไปเข้าสู่นิพพานในอารามที่ตนสร้างไว้ จึงต่างคนต่างก็เข้าไปถวายนมัสการที่พระบาทแล้วทูลอาราธนา แต่ก็ถูกสมเด็จพระนางปฏิเสธเสียสิ้น โดยอ้างว่าเป็นพุทธสถานไม่ควรแก่การที่พระภิกษุณีจักเข้าไปใช้ร่วม แม้จะเป็นการดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานก็ตามที แล้วพระนางก็ค่อยจรลีโดยบ่ายพระพักตร์ไปยังอารามของนางภิกษุณี ซึ่งเป็นสถานที่อันตั้งพระหฤทัยว่าจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่นั่น

สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัพพัญญูเจ้า จึงทรงมีพระมหากรุณาดำรัสสั่งพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราชในขณะนั้นว่า

"ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร! ขอพระองค์พร้อมกับอำมาตย์ราชบริพารจงรีบเสด็จไปก่อนเจ้าพิมพา จงไปจัดการตกแต่งประดับประดา ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพิมพาจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่อารามของนางภิกษุณีให้เป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่เจ้าพิมพาไปถึงจึงจะควรนะมหาบพิตร แล้วเราตถาคตจะติดตามไปในภายหลัง"

ได้ทรงสดับพระพุทธดำรัสสั่งดั่งนั้น สมเด็จพระบรมกษัตริย์ปเสนทิโกศลมหาราชก็ทรงน้อมพระองค์ลงถวายนมัสการที่พระยุคลบาทของสมเด็จพระชินวร แล้วก็รีบเสด็จพาอำมาตย์ราชบริพารด่วนจรไปยังอารามนางภิกษุณี โดยมีบรรดามหาเศรษฐีคฤหบดี และพราหมณ์ มหาศาลตามเสด็จไปด้วย ครั้นถึงแล้ว ต่างคนก็เร่งรัดจัดการตกแต่งเครื่องสักการบูชา เป็นต้นว่าประทีปธูป เทียนธงฉัตรและดอกไม้ให้เป็นสถานที่อันวิจิตรอลังการควรแก่เป็นสถานดับขันธปรินิพพานแห่งสมเด็จพระนาง พิมพาภิกษุณีซึ่งมีบุญอันยิ่งใหญ่ แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระแม่เจ้าเป็นอันมาก จึงมีพระบรมราชโองการ ตรัสสั่งให้ปูลาดด้วยสุจหนี่ยี่ภู่พระเขนยทอง เบื้องบนให้ดาดเพดานห้อยย้อยไปด้วยบุปผาชาติอันมีกลิ่นหอมสุมาลัย แล้วให้วงด้วยพระวิสูตรสุวรรณรัตนะ ตามด้วยอัจกลับประทีปแก้วแล้วรายราชวัตรฉัตรธง ประดับเครื่องสูงสำหรับขัตติยมหาศาล แล้วให้ตั้งพานพนมแก้วพนมทอง และพนมบุปผาชาติต่างๆ มีทั้งธูปเทียนชวาลา ไว้คอยท่ารับเสด็จจนเสร็จเรียบร้อยเป็นอันดี

ก็เป็นเวลาที่สมเด็จพระนางพิมพาเถรี ซึ่งมีพระภิกษุณีสงฆ์พันหนึ่งแวดล้อมเดินทางมาถึงพอดี สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์จึงสั่งให้มหาอุบาสก ๒ คน คือ อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี และจุลอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี กับมหาอุบาสิกา ๒ คน คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกาและนางสุปวาสามหาอุบาสิกา ให้ออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าเข้าไปภายใน ครั้นเสด็จเข้าไปถึงแล้ว สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลก็อาราธนาให้เสด็จขึ้นไปสู่พระแท่นที่บรรทม สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าได้เสาวนาการคำอาราธนาของพระราชาธิบดีแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่พระแท่นที่บรรทม เอนพระองค์ลงไสยาสน์เหนืออาสนะอันวิจิตรอลังการ์นั้น มหัศจรรย์ก็ดลบันดาลบังเกิดมีเป็นประการต่างๆไปจนกระทั่งถึงพรหมโลก

ฝูงเทพเจ้าในฉกามาพจรสวรรค์ และบรรดามหาพรหมทั้งหลาย ครั้นได้ทราบความว่าสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า จะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนั้น ต่างองค์ต่างก็จัดแจงซึ่งเครื่องสักการบูชา รีบออกจากเทพยวิมานเมืองสวรรค์ชั้นฟ้าลงมาสู่อารามภิกษุณี เมืองสาวัตถีมหานคร ใช่แต่เทวดาอินทร์พรหมเท่านั้นก็หามิได้ แม้แต่เหล่าทิพยกายผู้วิเศษทั้งหลายคือ ยักษ์ นาค สุบรรณ และคนธรรพ์ ฤาษีสิทธิ์วิทยาธรทั้งหลาย บรรดาที่มีใจเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อได้ทราบความต่างก็พากันมาจนเต็มไปทั้งห้องนภาดล

ขณะนั้น สมเด็จพระนางพิมพาเถรี จึงทูลถามพระราชาธิบดีปเสนทิโกศลขึ้นว่า

"ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร ! ขณะนี้เป็นเวลาประมาณสักเท่าใด? "

" ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า ! ขณะนี้เป็นเวลาสายัณห์ พระอาทิตย์จวนจะอัศดงคตแล้ว เจ้าข้า"

"ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร ! บัดนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาเสด็จมาถึงหรือยังเล่า"

"ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า ! สมเด็จพระมหากรุณาสัพพัญญูเจ้ายังหาเสด็จมาถึงไม่ แม้สมเด็จพระราหุลบวรดนัย ก็ยังไม่เสด็จมาเจ้าข้า"

"ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร ! ถ้าเช่นนั้น พิมพานี้จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานต่อเพลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง."

สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าตรัสฉะนี้ ก็ฝืนพระทัยพยุงกายลุกขึ้นแล้วก็แสดงพระธรรมเทศนาให้โอวาทแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายไปจนสิ้นปฐมยาม เสร็จแล้วจึงให้เรียกภิกษุณีสงฆ์มาประชุมกัน ประทานโอวาทโดยนัยอันวิจิตรพิศดารจนสิ้นมัชฌิมยาม ครั้นล่วงเข้าปัจฉิมยามจวนถึงปัจจุสมัย สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถบรมศาสดากับพระราหุลอรหันต์ก็พาพระภิกษุสงฆ์บริวารเสด็จมาถึงพอดี สมเด็จพระนางพิมพาเถรีถวายนมัสการพระชินสีห์เจ้าเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็อธิษฐานเข้าฌานสมาบัติเป็นลำดับไป ตั้งต้นแต่ปฐมฌานจนจึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมา พอถึงเพลาปัจจุสมัยใกล้อรุณรุ่ง จึงอธิษฐานเข้าและออกจากจตุถฌานสมาบัติ แล้วสมเด็จพระนางแก้วพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า ก็ดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานทันใด

สมัยนั้น มนุษย์และเทวดาแต่บรรดาที่ยังเป็นปุถุชนตัดความรักอาลัยไม่ขาดไปจากขันธสันดาน เมื่อได้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานแล้ว ต่างก็พากันโศกาดูรร่ำไห้เสียงเซ็งแซ่ควรจะสงสาร ส่วนท่านที่เป็นอรหันตอริยบุคคลมีองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ก็บังเกิดธรรมสังเวชในหฤทัยทุกถ้วนหน้า คราทีนั้นสมเด็จพระอมรินทราธิราชเจ้าจอมสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ จึงทรงมีเทวโองการให้อัญเชิญพระศพมาชำระสระสรงด้วยอุทกวารี แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นใหญ่ จึงถวายผ้าเนื้อละเอียดให้หุ้มห่อบรมศพแห่งพระเถรี เหล่าเทวดาและมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใสก็ปลดเปลื้องเครื่องประดับออกจากกาย ถวายให้เป็นเครื่องประดับพระศพกันมากมายหนักหนา มีคำที่พระโบราณาจารย์พรรณนาไว้ว่า พระบรมศพของสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าในวันนั้น ทรงไว้ซึ่งความงามโสภายิ่งกว่าเทพอัปสรสวรรค์ทุกชั้นฟ้าเสียอีก

ลำดับนั้น ท่านท้าวสุทธาวาสมหาพรหมผู้วิเศษ ซึ่งด่วนจรมาแต่สุทธาวาสพรหมโลกด้วยศรัทธาเลื่อมใส ก็อธิษฐานใจเนรมิตด้วยพรหมฤทธิ์ ให้เป็นหีบทองเข้ารองรับพระศพใส่ไว้เป็นอันดี ฝ่ายสมเด็จท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช ก็เนรมิตด้วยเทพฤทธิ์ ให้บังเกิดเป็นเมรุทองมียอดได้ ๕๐๐ ยอด มีสัณฐานงดงามรุ่งเรืองเลื่อม พรรณรายกอปรไปด้วยเครื่องประดับอันวิจิตร นอกจากพรหมและเทวดาจักเนรมิตด้วยฤทธิ์แห่งตนแล้ว บรรดามนุษย์ทั้งหลายต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาด้วยฉัตรธงเป็นอาทิ แล้วก็อัญเชิญพระบรมศพขื้นสู่พระเมรุทองประโคมด้วยดุริยดนตรีเสียงพิลึกกึกก้องโกลาหล

สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่องค์อมรินทราธิราชซึ่งประทับยืนอยู่ในขณะนั้นว่า เราตถาคตจะประทานเพลิงศพเจ้าพิมพาก่อนผู้อื่นใดในกาลบัดนี้ สมเด็จท้าวโกสีย์ผู้ใหญ่ในไตรตรึงษ์สรวงสวรรค์ ได้สดับพระพุทธฎีกาดั่งนั้น ก็มิได้ทรงรอช้าให้เสียเวลา น้อมนำเอาเพลิงอันเกิดแต่แว่นแก้วมณีเข้าทูลถวายทันที สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเอาเพลิงมาแต่หัตถ์ท้าวโกสีย์ แล้วก็ทรงประทานเพลิงต่อจากนั้น จึงพระพรหมเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็เข้าถวายเพลิงเป็นลำดับไปในภายหลัง เพลิงที่มนุษย์และเทวดาถวายก็ดี เตโชธาตุที่บังเกิดขึ้นเองก็ดี ทั้งสองสิ่งนี้ได้รวมกัน เผาผลาญบรมศพสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเจ้าให้เป็นเถ้าถ่านละเอียดจุณวิจุณ แต่มาตรว่าพระอังคารก็มิได้เหลือหลง ยังคงมีแต่พระธาตุซึ่งมีพรรณอันงามดุจดอกมณฑาเท่านั้น

ครั้นการถวายพระเพลิงบรมศพพระนางซึ่งมีคุณใหญ่ เสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช จึงทรงกราบทูลองค์พระจอมไตรโลกนาถขึ้นในขณะนั้นว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าท่านดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานครั้งนี้ ปรากฏว่ามีมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์ พากันมาสักการบูชาและถวายพระเพลิงมากมายยิ่งหนักหนา ควรจะเห็นว่ามากกว่าพระอรหันต์สาวกที่ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไปแล้วทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนี้บรมธาตุอันมีพรรณงามดุจดังดอกมณฑา แห่งสมเด็จพระนางพิมพา เถรีที่เหลือปรากฏอยู่นี้ ควรจักนำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ใด พระเจ้าข้า" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเสาวนาการพระราชปุจฉาดังนั้น จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสสั่งองค์ราชาธิบดีปเสนทิโกศล ให้ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ ณ สถานที่อันควรแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุสีดอกมณฑา แห่งองค์พระพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า เพื่อให้เหล่าเทวดาอินทร์พรหมและมนุษย์ ที่มีน้ำใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาได้กระทำคารวะสักการบูชาสืบต่อไปชั่วกาลนาน ด้วยประการฉะนี้

ในกาลเป็นที่อวสานแห่งบทอันว่านิสสรณวิมุตติ ใคร่ที่จักกล่าวสรุปความสำคัญ เพื่อให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายกำหนดจดจำได้ง่ายว่า นิสสรณวิมุตตินี้ หมายถึงความหลุดพ้นโดยการสลัดออกไป ตัวนิสสรณวิมุตติแท้ๆ ก็ได้แก่ พระนิพพาน อันเป็นยอดธรรมทางพระพุทธศาสนานั่นเอง สมจริงตามหลักฐานอันปรากฏมีในคัมภีร์สารัตถัปปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย โดยอรรถพรรณนาว่า

นิพฺพานํ สพฺพกิเลเสหิ นิสฺสชฺชตฺตา อปคตตฺตา ทูเร ฐิตตฺตา นิสฺสรณวิมุตฺตีติ สํขํ คตํ

พระนิพพานอันเป็นยอดธรรมทางพระพุทธ-ศาสนาย่อมเป็นธรรมที่ถึงการนับว่า นิสสรณวิมุตติ เพราะเหตุที่ พระนิพพานเป็นธรรมที่สลัดออกไปจาก สรรพกิเลสทั้งหลาย คือ เป็นธรรมที่ไปปราศ ได้แก่ เป็นธรรมที่ตั้งอยู่ไกลสุดไกล จากสรรพกิเลสทั้งหลาย แม้ในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย ก็ยังยืนยันความที่พระนิพพาน อันเป็นยอดธรรมทางพระพุทธศาสนา ว่าเป็นตัวของนิสสรณวิมุตติไว้ โดยอรรถพรรณนาว่า

สพฺพสงฺขตนิสฺสฏตฺตา ปน สพฺพสงฺขารวิมุตฺติ นิพฺพานํ อยํ นิสฺสรณวิมุตฺติ นาม

พระนิพพานที่หลุดพ้นจากสรรพสังขารเพราะเหตุที่สลัดออกจากธรรมเครื่องปรุงแต่งทั้งปวง ก็พระนิพพาน ที่หลุดพ้นจากสรรพสังขารอันเป็นยอดธรรมทาง พระพุทธศาสนานี้มีชื่อเรียกว่า "นิสสรณวิมุตติ" ดังนี้

วิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุถึงพระนิพพานอันเป็นนิสสรณวิมุตตินี้ ก็คือในขั้นแรก ต้องเป็นผู้สั่งสมอบรมบารมีมาหลายแสนชาติหนักหนา จนพระอรหัตคุณรุ่งเรืองแก่กล้าในขันธสันดานแล้ว ได้มีโอกาสพบศาสนาแห่งสมเด็จพระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด พระองค์หนึ่งแล้ว มีจิตศรัทธาเลื่อมใส อุตส่าห์จำเริญวิปัสสนากรรมฐานยังวิปัสสนาญาณให้บังเกิดขึ้นโดยลำดับ เมื่อได้บรรลุพระอรหัตผลญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันตอริยบุคคลขั้นสูงสุดแล้ว ก็จักมีโอกาสเคลื่อนแคล้วดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพาน อันเป็นการได้บรรลุถึงซึ่งนิสสรณวิมุตติในพระพุทธศาสนาอย่างจริงแท้แน่นอนโดยมิต้องสงสัย

พรรณนาในวิมุตติธรรมลำดับสูงสุด คือ วิมุตติธรรมลำดับที่ ๕ ซึ่งได้แก่นิสสรณวิมุตติ ความหลุดพ้นโดยการสลัดออกไป สมควรที่จักยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการฉะนี้